• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หัวใจของเรา (ตอนที่ ๑)

เรื่องนี้เขียนจากประสบการณ์เพื่อเป็นอุทาหรณ์สำหรับบุคคลทั่วไป ไม่ว่าจะสูงวัยแล้วหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้เพราะโรคหัวใจนั้นไม่เลือกเพศเลือกวัย แต่จะกล่าวถึงเฉพาะโรค "หลอดเลือดหัวใจตีบตัน" ซึ่งเกิดกับตัวเองจนต้องเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลศิริราช

ผลจากการผ่าตัดดังกล่าว นอกจากได้หัวใจที่ดีกลับคืนมาแล้ว ยังมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นอีกว่าประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ และการอุทิศตนของแพทย์ไทยในวันนี้มิได้น้อยหน้ากว่าใครทั้งสิ้น
ทุกวันนี้ไม่ว่าจะไปที่ไหนถ้ามีผู้สูงวัยร่วมเดินทางไปด้วย มักจะได้ยินคำว่า "ฉันเป็นโรคหัวใจ" หรือบอกเล่ากันว่าคนนั้นคนนี้ไปทำอะไรเกี่ยวกับหัวใจมาแล้ว ทำให้ดูคล้ายๆกับว่าผู้ที่ไม่มีอาการเกี่ยวข้องกับหัวใจคือคนที่ไม่ทันสมัย

สำหรับตัวผมเองนั้นก็นับว่าเป็นผู้ที่พัฒนาแล้วเพราะ "ผมก็เป็นโรคหัวใจครับ"Ž
คำว่าโรคหัวใจคุณหมอได้จำแนกออกไปเป็นหลายชนิด แต่ผมจะกล่าวถึงโรคหลอดเลือดหัวใจ ตีบ-ตัน (coronary heart disease) ซึ่งเกิดขึ้นกับตัวเองเท่านั้น มีอันตรายสูงเพราะทำให้หัวใจขาดเลือดและอาจจะตายได้อย่างเฉียบพลันหรือเกิดอาการอื่นๆ ที่ไม่พึงประสงค์

ตั้งแต่วัยเด็กผมมีร่างกายแข็งแรง ไม่เคยมีโรคร้ายแรงใดๆ มาเบียดเบียน ขณะรับราชการจะต้องใช้ชีวิต ที่สมบุกสมบันอยู่ในพื้นที่อันทุรกันดารเรื่อยมาก็ตาม เว้นแต่เมื่อใกล้เกษียณอายุก็เริ่มเป็นเบาหวานจากพันธุกรรม (โรคประจำตระกูล) แต่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเอาไว้ได้อย่างดีและไม่เคยปรากฏอาการแทรกซ้อน แต่อย่างใด

สุขภาพทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ดีมาโดยตลอดและตรวจร่างกายเป็นประจำ นอกจากนี้ออกกำลังกายค่อนข้างสม่ำเสมอที่บ้านและที่ชมรมแห่งหนึ่งสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ด้วยอุปกรณ์ออกกำลังหลายชนิด เช่น วิ่งบนสายพานและอื่นๆ รวมถึงไปลีลาศเพื่อสุขภาพด้วย

ตลอดเวลาที่ผ่านมามีความรู้สึกว่ายังแข็งแรงและสามารถออกกำลังหรือเดินทางขึ้นเขาลงห้วยได้โดยไม่ค่อยเหน็ดเหนื่อยหรือออกอาการอะไร

ช่วงเวลาที่ผ่านมาติดตามภรรยาไปประชุมต่างประเทศปีละหลายๆครั้ง มีภาระต้องหอบหิ้วกระเป๋าเดินทางอันแสนหนัก 2 ใบเดินไปเป็นระยะทางไกลๆ หรือแบกขึ้นลงบันไดสูงๆ เป็นประจำ จนออกจะย่ามใจไม่ค่อยนึกถึงวัย

ที่กล่าวมานี้ต้องการจะให้เป็นอุทาหรณ์ว่าความแข็งแรงทางร่างกายนั้นมิใช่จะเป็นเกราะป้องกันโรคภัยได้ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่สังขารร่วงโรยไปตามวัย ดังนั้นการดูแลตัวเองและไปให้แพทย์ตรวจอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งที่พึงกระทำ

ด้วยความไม่ประมาท ไปพบแพทย์อยู่เสมอ และตรวจหัวใจด้วยการเดินบนสายพาน*เป็นครั้งคราว แต่ก็ยังเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ-ตันเข้าจนได้ ดังจะได้กล่าวต่อไป

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2548 ผมติดตามภรรยาไปประชุมแพทย์โรคภูมิแพ้ที่เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี วันสุดท้ายว่างเว้นจากการประชุมได้ไปเที่ยวปราสาทนอยชวานซไตน์ (Neuschwanstein) ตั้งอยู่บนเขาสูงจึงต้องเดินขึ้นลงเนินเป็นระยะทางไกล แล้วก็ขึ้นบันไดปราสาทอีกหลายร้อยขั้น ทำให้ผมรู้สึกเหนื่อยมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนและใช้เวลานานกว่าจะหาย ทั้งๆที่ปกติผมจะหายเหนื่อยเร็วทำให้รู้สึกว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นเพราะการเดินเช่นนี้ก็เคยทำมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนก็ไม่เคยมีอาการดังกล่าว แต่นอกจากความเหนื่อยแล้วก็ไม่มีอาการอื่นใด

อีกไม่กี่วันต่อมาไปตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่โรงพยาบาลศิริราช โดยแพทย์หญิงวรางคณา บุญญพิศิฏฐ์ ครั้งนี้ผมเดิน-วิ่งๆ ได้เพียง 6 นาทีเศษก็เหน็ดเหนื่อยมากจนต้องขอหยุด และกราฟแสดงผลออกมาว่าผมเป็นโรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งหมายความว่ามีการตีบ-ตันของหลอดเลือดหัวใจ แต่จะเป็นมากน้อยเพียงใด และตำแหน่งไหนจะต้องตรวจด้วยวิธีอื่น

ฉีดสีและเอกซเรย์
วิธีหนึ่งที่บอกได้ชัดเจนที่สุดคือการฉีดสารทึบรังสีเอกซ์เข้าไปแล้วถ่ายภาพหลอดเลือดแดงของหัวใจด้วยรังสีเอกซ์ (มักเรียกกันว่าฉีดสี) แพทย์ผู้ทำการตรวจเป็นอายุรแพทย์โรคหัวใจไม่ใช่ศัลยแพทย์ เมื่อตรวจแล้วเห็นว่าจะต้องผ่าตัดจึงจะส่งต่อให้ศัลยแพทย์

วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2548 ผมเข้ารับการฉีดสีที่ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลศิริราช หัวหน้าคณะแพทย์คือ นายแพทย์ชุณหเกษม โชตินัยวัตรกุล ซึ่งอธิบายให้ผมฟังว่าจะใช้สายสวนเล็กๆ สอดเข้าไปตรงขาหนีบข้างขวาและค่อยๆดันเข้าไปในหลอดเลือดจนถึงหัวใจ แล้วฉีดสารทึบรังสีเข้าหลอดเลือดหัวใจโดยตรงพร้อมทั้งบันทึกภาพตลอดเวลา

ตอนแรกผมคิดว่าอาจจะมีการเจ็บหรือเสียวบ้าง แต่พอทำเข้าจริงๆ ปรากฏว่าไม่เป็นเช่นนั้นเลย กล่าวคือ รู้สึกนิดๆ ตอนฉีดยาชาตรงโคนขาหนีบข้างขวาเท่านั้นแล้วก็ไม่รู้สึกเจ็บอีกเลย เพราะทราบภายหลังว่าในหลอดเลือดไม่มีประสาทรับรู้และสายสวนก็เล็กมากขนาดเส้นด้ายเท่านั้น

ขณะที่แพทย์กำลังดำเนินการผมรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา สายตาก็จับจ้องอยู่ที่จอคอมพิวเตอร์ ประเดี๋ยวเดียวก็เห็นเส้นด้ายเล็กๆ หรือสายสวนเคลื่อนช้าๆ เข้าไปในหลอดเลือดหัวใจ และพ่นอะไรสีดำๆ เหมือนหมึกออกมาเป็นระยะๆ นั่นก็คือสารทึบรังสีเอกซ์ ซึ่งทำให้เห็นสิ่งที่เข้าไปเกาะอยู่ในหลอดเลือดหัวใจได้ถนัด

เวลาผ่านไปประมาณ 20 นาทีเศษการตรวจก็สิ้นสุดลง คุณหมอชุณหเกษมได้แจ้งว่าหลอดเลือดหลักในหัวใจของผม 3 เส้นมีการตีบเกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ และบางเส้นก็ตีบหลายตำแหน่ง นอกจากนี้ พบการตีบในหลอดเลือดแขนงอีก 1 เส้น รวมเป็น 4 เส้น

คุณหมอสรุปวิธีรักษาที่ดีที่สุดคือการผ่าตัด ทำทางเบี่ยง (bypass) ไม่สามารถจะทำบอลลูนได้เพราะจะต้องเป็นเพียงเล็กๆน้อยๆ เท่านั้นจึงจะทำได้ (ได้ตกลงกันก่อนที่จะทำการฉีดสีแล้วว่า ถ้าหากทำบอลลูน ได้แพทย์ก็จะทำให้เลยซึ่งเป็นเรื่องไม่ใหญ่โต เพียงแต่นอนดูอาการที่โรงพยาบาลเพียง 1 คืนก็กลับบ้านได้ แต่ถ้าหากว่าผมยังไม่ตัดสินใจแพทย์ก็จะประวิงเวลาออกไป โดยการให้ยาแล้วในที่สุดก็จะต้องเข้ารับการผ่าตัดอยู่ดี จึงตัดสินใจในขณะนั้นโดยไม่ต้องปรึกษาหารือใครว่ายินดีรับการผ่าตัด

คืนวันนั้นผมต้องนอนอยู่ในห้องไอซียู 1 คืน และได้พบกับนายแพทย์สมชาย ศรียศชาติ ศัลยแพทย์หัวใจ ซึ่งจะเป็นหัวหน้าทีมผ่าตัดผม แล้วก็ตกลงกันว่าผมจะรับการผ่าตัดในวันที่ 6 กันยายน คืออีกประมาณ 6-7 สัปดาห์ เพราะอาการของผมนั้นยังพอจะรอได้ระยะหนึ่ง และคิวผ่าตัดของคุณหมอสมชายก็ยาวไปถึงต้นปี พ.ศ.2549

ช่วงเวลาก่อนผ่าตัด ผมก็ดำเนินชีวิตรวมทั้งออกกำลังไปตามปกติโดยไม่หักโหม และพยายามรักษาสุขภาพเพื่อให้ร่างกายพร้อมที่จะรับการผ่าตัดครั้งสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ผมยังไม่เคยปรากฏอาการเหมือนกับคนส่วนใหญ่ที่เป็นโรคนี้
คนที่เป็นโรคนี้อาการส่วนใหญ่คือ ปวด แน่น จุกเสียดหน้าอกเหมือนมีอะไรมาทับ ปวดร้าวที่ไหล่ คอและหลัง (แต่บอกได้เพียงบริเวณกว้างๆ ไม่สามารถบอกจุดที่แน่นอนได้) รู้สึกคล้ายอาหารไม่ย่อย เหนื่อยง่าย อ่อนเพลียง่าย ใจสั่น วิงเวียนศีรษะเป็นประจำ หายใจลำบาก ทำให้ต้องหายใจสั้นๆ ชาตามมือและเท้า แขนขาไม่มีแรง ฯลฯ ซึ่งคุณหมอบอกว่าประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ-ตัน จะไม่มีอาการใดๆ ทั้งนั้นหรือเป็นแบบแฝงเร้น (รวมทั้งผมด้วย)

จากการตรวจพบว่าส่วนดีของหัวใจของผมก็ยังมีอยู่คือลิ้น-หัวใจทั้งหมดยังอยู่ในสภาพดี และแรงบีบของ กล้ามเนื้อหัวใจยังดีอยู่มาก คือประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ซึ่งคุณหมอเขียนไว้ว่า above average เพราะคนอายุ 70 เศษแล้วน่าจะอยู่ที่ 30-35 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ความจริงแล้วผมเคยมีอาการเกิดขึ้นมาบ้าง นั่นคือประมาณ 5 ปีที่ผ่านมาหัวใจของผมเต้นผิดจังหวะเป็นครั้งคราว คือแรงบ้างค่อยบ้าง เร็วบ้างช้าบ้าง แต่เมื่อไปทดสอบสมรรถภาพของร่างกาย โดยการเดิน-วิ่งบนสายพาน ผลก็ยังออกมาว่าปกติ

แพทย์ที่ทำการตรวจบอกว่าตัวที่ควบคุมการเต้นของหัวใจผิดปกติแต่ไม่ร้ายแรงอะไรนัก และสั่งยาให้กิน ไม่นานนักอาการที่ว่าก็หายไปจนผมลืมนึกถึงมันในที่สุด

กลางเดือนธันวาคม พ.ศ.2547 ผมเดินทางไปจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่เพื่อปฏิบัติงานอย่างหนึ่ง และในวันที่ 15 ธันวาคม ผมขึ้นไปบนดอยลาง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่บนชายแดนไทย-พม่าอันเป็นพื้นที่มีปัญหาระหว่าง 2 ประเทศ ขณะที่เดินลงมาตามพื้นค่อนข้างลาดชันผมสะดุดก้อนหินเล็กๆ และรู้สึกว่ามีอาการวูบ เกิดขึ้นพร้อมกันทำให้ล้มกลิ้งไปตามลาดเขาจนตกไปในคูแห่งหนึ่งอย่างรุนแรง ผลปรากฏว่าร่างกายซีกขวาเจ็บซ้ำไปหมด และมีบาดแผลหลายแห่งที่ขา

อาการวูบที่เกิดขึ้นคืออะไร
นอกจากนี้ คุณพ่อผมเป็นทั้งเบาหวานและหัวใจ นับว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงของผมด้วย

ฉบับหน้า ว่าด้วยการผ่าตัดและการปฏิบัติตัว ระยะพักฟื้นที่บ้าน

ข้อมูลสื่อ

349-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 349
พฤษภาคม 2551
พล.อ.ท.ระวีวงศ์ บุนนาค