• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ฮิสตามีน คืออะไร?

ฮิสตามีน คืออะไร?



เมื่อเอ่ยคำว่า “ยาแอนตี้ฮิสตามีน” คุณผู้อ่านเกือบทุกท่านคงรู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะแอนตี้ฮิสตามีนเป็นยาใช้แก้อาการแพ้ต่างๆ รักษาอาการหอบ ลดน้ำมูก บรรเทาอาการคัดจมูก เมารถ เมาเรือ ตลอดจนใช้กระตุ้นให้เจริญอาหาร
แต่ถ้าเอ่ยคำว่า “ฮิสตามีน” เพียงอย่างเดียว อาจมีหลานท่านที่ยังไม่คุ้นเคยหรือรู้จักคำนี้ดีนัก เป็นต้นว่าฮิสตามีนคืออะไร มีบทบาทเกี่ยวข้องกับโรคภูมิแพ้อย่างไร

ฮิสตามีน เป็นสารที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ พบมากตามเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย เกิดจากปฏิกิริยาการดึงเอาหมู่กรดออกจากโมเลกุลของกรดอะมิโนชนิดหนึ่งคือ ฮิสทีดีน (histidine) ปฏิกิริยานี้เกิดมากในแม็สเซลล์ (mast cell) แม็สเซลล์เป็นเซลล์ขนาดใหญ่ มีอยู่ตามเนื้อเยื่อเกี่ยวพันต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่ขนานกับหลอดเลือด นอกจากเราจะพบฮิสตามีนอยู่ภายในแม็สเซลล์ของเนื้อเยื่อแล้ว ยังพบฮิสตามีนได้ในระบบเลือดอีกด้วย โดยอยู่ภายในเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง เรียกว่า “เบโซฟิลส์” (basophils)


⇒ การออกฤทธิ์ของฮิสตามีน
ฮิสตามีนมีผลการออกฤทธิ์ต่ออวัยวะต่างๆ ที่สำคัญได้แก่ ระบบหัวใจและหลอดเลือด กล้ามเนื้อเรียบ ต่อมมีท่อ และปลายประสาทรับสัมผัส การที่ฮิสตามีนจะออกฤทธิ์ต่อเนื้อเยื่อได้ เนื้อเยื่อนั้นต้องมีตัวจับรับ (receptor) กับฮิสตามีนก่อน ปัจจุบันพบว่าตัวจับรับฮิสตามีนมีอยู่ 2 ชนิด คือ ตัวจับรับเอช-1 และ ตัวจับรับเอช-2

ตัวจับรับเอช-1 ได้แก่ ตัวจับรับที่พบมากตามอวัยวะต่อไปนี้คือ กล้ามเนื้อเรียบ หลอดลม หลอดเลือด ผลของฮิสตามีนต่ออวัยวะที่มีตัวจับรับเอช-1 มีดังนี้

- ทำให้กล้ามเนื้อเรียบของอวัยวะเหล่านี้หดตัว เช่น กล้ามเนื้อเรียบของกระเพาะอาหาร ลำไส้ มดลูก หลอดลม ถ้าการกระตุ้นเกิดที่หลอดลม จะทำให้หลอดลมตีบตัน หายใจลำบาก อาการนี้พบมากในคนที่เป็นโรคหืด

- ทำให้หลอดเลือดเกิดการขยายตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลอดเลือดฝอย นอกจากนี้ยังเพิ่มความสามารถในการซึมผ่านของสารละลายเข้าสู่หลอดเลือดฝอยอีกด้วย จึงทำให้บริเวณที่เส้นเลือดฝอยไปเลี้ยงเกิดอาการบวม เป็นผื่นแดง คัน บางครั้งอาจปวดแสบ ปวดร้อน

- ทำให้ความดันเลือดลดลงต่ำ

ตัวจับรับเอช-2 ได้แก่ ตัวจับรับฮิสตามีนที่พบในต่อมมีท่อของกระเพาะอาหาร หัวใจ ผลการกระตุ้นตัวจับรับนี้ ทำให้เกิดการหลั่งน้ำย่อยและกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น รวมทั้งกระตุ้นจังหวะการเต้นของหัวใจอีกด้วย




ฮิสตามีนหลั่งออกมาได้อย่างไร
เนื่องจากฮิสตามีนเป็นสารเคมีตัวหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาการแพ้ต่างๆ (สารตัวอื่นที่เกี่ยวข้องกับการแพ้ ได้แก่ เซอโรโตนิน พรอสตาแกลนดิน แบรดีไคนิน) ดังนั้นเมื่อไรก็ตามที่แม็สเซลล์ หรือเบโซฟิลส์หลั่งฮิสตามีนออกมา อาการแพ้ก็เกิดขึ้น ส่วนสาเหตุที่ทำให้เซลล์ทั้งสองชนิดหลั่งฮิสตามีนออกมา จะเกี่ยวข้องกับสิ่งต่อไปนี้คือ

สารก่อภูมิแพ้ (allergen) ได้แก่สารต่างๆทั้งที่มีอยู่เองตามธรรมชาติ หรือสารที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น โดยทั่วไปคนที่เป็นโรคภูมิแพ้มักแพ้สารต่อไปนี้ คือ ละอองเกสรดอกไม้ ขนสัตว์ พิษแมลง อาหาร (เช่นไข่ นม ปลา อาหารทะเล) สารเคมี โลหะ รวมทั้งตัวไรในฝุ่น ซึ่งเป็นแมลงตัวเล็กๆ มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น พบได้ง่ายตามผ้าม่าน ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม พรมเช็ดเท้า ในปัจจุบันสถิติของคนที่แพ้ตัวไรฝุ่นเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

อิมมูโนกลอบูลิน (Immunoglobulin) เรียกสั้นๆว่า “ไอจี” เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อต่อต้านสิ่งแปลกปลอม อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สารต่อต้านสิ่งแปลกปลอมหรือแอนติบอดี (antibody) ในคนปกติ อิมมูโนกลอบูลินจะเป็นชนิด“จี” เป็นส่วนใหญ่ สำหรับคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ มักสร้างชนิด “อี” ออกมาต่อต้านสิ่งแปลกปลอม เราเรียกอิมมูโนกลอบูลินชนิดนี้ว่า “ไอจีอี” (IgE)
เมื่อทราบถึงคำจำกัดความของสารก่อภูมิแพ้และไอจีอีแล้ว ต่อไปจะอธิบายถึงกระบวนการของการหลั่งฮิสตามีน

เมื่อร่างกายของคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ได้รับสิ่งแปลกปลอมเข้าไปเป็นครั้งแรก สิ่งแปลกปลอมนี้จะกระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง กลายสภาพเป็นพลาสมาเซลล์ (plasma cell) สร้างไอจีอี ที่มีความจำเพาะต่อสิ่งแปลกปลอมหรือสารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้นออกมา ไอจีอีที่เกิดขึ้นจะเข้าเกาะกับผิวของแม็สเซลล์หรือเบโซฟิลส์ในช่วงนี้จะไม่มีอาการแพ้ปรากฏขึ้น

ต่อมาเมื่อคนๆนั้นได้รับสารก่อภูมิแพ้ชนิดเดียวกันอีก คราวนี้แทนที่สารก่อภูมิแพ้นี้จะกระตุ้นให้พลาสมาเซลล์สร้างไอจีอี กลับปรากฏว่าสารก่อภูมิแพ้นี้เข้าจับกับไอจีอีที่มีความจำเพาะทันที เกิดเป็นปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันขึ้นเรียกว่า “ปฏิกิริยาไวเกินแบบเกิดทันที” (Immediate hypersensitivity reaction) ผลคือแม็สเซลล์หลั่งฮิสตามีนออกมา เกิดอาการแพ้แบบต่างๆดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น


⇒ การรักษาโรคภูมิแพ้ด้วยวิธีดีเซนซิไทเซชั่น (Desensitization)
วิธีนี้เป็นการลดความไวเกินของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เป็นต้นว่า คนที่แพ้ละอองเกสรดอกไม้ แพทย์จะฉีดละอองเกสรชนิดนั้นเข้าไปในร่างกายทีละน้อยๆ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง การฉีดสารก่อภูมิแพ้ทีละน้อยๆเข้าไป มีผลทำให้ร่างกายสร้างไอจีอีออกมาทำลายสารแปลกปลอมนั้นก่อนที่สารก่อภูมิแพ้นั้นจะชักนำให้พลาสมาเซลล์สร้างไอจีอีออกมาจับบนผิวของแม็สเซลล์ ด้วยวิธีนี้ปริมาณไอจีอีในร่างกายของคนๆนั้นก็จะลดน้อยลง จนทำให้อาการแพ้ที่อาจเกิดขึ้นลดความรุนแรงและความถี่ในการเกิดลงไปได้

สำหรับการทดสอบว่าคนๆนั้นแพ้สารอะไร แพทย์จะใช้วิธีทดสอบทางผิวหนังที่เรียกว่า พริกเทส (prick test) ตามรูปที่ได้แสดงไว้
 

 

 

ข้อมูลสื่อ

89-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 89
กันยายน 2529
บทความพิเศษ
มงคล ตันติสุวิทย์กุล