• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ลดความอ้วน

ลดความอ้วน



ปัจจุบันมีผู้สนใจเรื่องลดความอ้วนกันมาก เพราะต่างก็ตระหนักถึงผลร้ายของความอ้วนที่มีผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจ ไม่ว่าหญิงหรือชาย คนหนุ่มสาวหรือคนแก่ และพวกวัยรุ่นทั้งหลายพากันไปเป็นลูกค้าของสถานบริการลดความอ้วนเพิ่มจำนวนขึ้นผิดหูผิดตาทีเดียว
ถ้าจะพูดว่าธุรกิจสถานบริการลดความอ้วนเฟื่องฟูที่สุดในยุคนี้เห็นจะไม่ผิดนัก ในประเทศไทยเองก็มีทั้งสถานบริการลดความอ้วนที่ดำเนินงานโดยคนไทย และสถานบริการลดความอ้วนของต่างประเทศเข้ามาเปิดสาขาอยู่มากมาย มีการโฆษณากันอย่างกว้างขวางในประสิทธิภาพของแต่ละแห่ง เป็นต้นว่า
ลดไขมันส่วนเกิน ง่ายแค่ปลายนิ้วสัมผัส
ฟังแล้วชวนฉงน ทั้งน่าสนใจมาก เพราะง่ายดี...แต่จะให้ประสิทธิผลจริงหรือเปล่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง



ทำไมคนในยุคนี้จึงอ้วนกันนัก
เมื่อพูดถึงคนอ้วนก็อดจะนึกถึงชาวอเมริกันไม่ได้ เพราะชาวอเมริกันนั้นถือว่า เป็นพวกที่อ้วนได้มากและอ้วนได้เร็วกว่าใครๆ สถิติในปัจจุบันยกให้ชาวอเมริกันเป็นชาติที่อ้วนที่สุดในโลก (เฉลี่ยจากพลเมืองทั้งหมด) นักสถิติยังพบว่า หลังจากอายุ 20 ปีขึ้นไปแล้ว ชาวอเมริกันจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยคนละ ½-1 ½ ปอนด์ทุกๆปี และน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมานี้ก็เป็นไขมันทั้งสิ้น
สาเหตุของความอ้วนมาจากความสะดวกสบายที่มีมากขึ้น จะทำอะไรก็ล้วนมีเครื่องผ่อนแรงให้แทน จะไปไหนก็นั่งแต่รถยนต์ ภายในรถยนต์เองก็เต็มไปด้วยเครื่องผ่อนแรง อยากให้กระจกขึ้นลงก็เพียงกดปุ่ม ไม่ต้องออกแรงหมุนให้เมื่อย เครื่องซักผ้าเอย เครื่องดูดฝุ่นเอย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นต้นเหตุให้ชาวอเมริกันอ้วนกันได้ง่ายๆ

นายแพทย์ยอร์จ แบล็กเบอร์น ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องอ้วนได้ทำการศึกษาถึงสาเหตุที่ทำให้คนเราอ้วนขึ้น พบว่ามีปัจจัยที่สำคัญอยู่ 7 ประการดังนี้
กรรมพันธุ์มีอิทธิพลอยู่ ร้อยละ 10
การเลี้ยงดูในวัยเด็ก ร้อยละ 10
จำนวนของเซลล์ไขมันในร่างกาย ร้อยละ 10
พฤติกรรมการกิน ร้อยละ 20
บุคลิกและวิถีการดำเนินชีวิต ร้อยละ 20
อายุ ร้อยละ 15
การออกกำลังกาย ร้อยละ 15

นอกจากนี้ความเหงาก็เป็นเหตุให้อ้วนได้ หลายคนชอบกินแก้เหงาเพราะแก้ได้ทั้งเหงาใจและเหงาปาก พอเหงาขึ้นมาไม่รู้จะทำอะไร หมุนไปหมุนมาก็เปิดตู้เย็น เดินไปเดินมาก็เลยเลี้ยวเข้าครัว หรือบางคนก็ชอบแก้เหงาด้วยการทำขนมหรือทำกับข้าว เหตุนี้หลายคนจึงอ้วนเพราะความเหงา
จะเห็นว่าสาเหตุที่ทำให้อ้วนนั้นมีอยู่มากมาย บางอย่างก็เห็นได้ชัดเจน บางอย่างก็เป็นผลทางอ้อม ความจริงยังมีเหตุที่ทำให้ร่างกายอ้วนใหญ่ได้อีกอย่างหนึ่ง แต่มีไม่มากนักและแก้ไขยาก เป็นเรื่องของแพทย์โดยเฉพาะ นั่นคือ ความอ้วนที่เกิดจากโรค เช่น มีความผิดปกติในสมอง หรือความผิดปกติของการหลั่งฮอร์โมน เป็นต้น


อันตรายจากความอ้วน
การที่ผู้คนจำนวนมากมายพยายามลดความอ้วนกันอยู่ทุกวันนี้ มีเหตุผลอยู่หลายประการ เช่น เพื่อให้มีรูปร่างเป็นที่ต้องตาต้องใจผู้พบเห็น ทำให้แต่งตัวได้ง่ายและดูสวยงาม สะดวกในการหาซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปใช้ ตลอดจนช่วยให้มีการเคลื่อนไหวที่คล่องแคล่ว แต่เหตุผลที่สำคัญที่สุดก็คือ เรื่องของสุขภาพอนามัยวงการแพทย์ในปัจจุบันนี้มีความเห็นพ้องต้องกันว่า การมีร่างกายที่อ้วนเกินไปนั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างแน่นอนที่สุด แม้ไขมันจะเป็นสิ่งจำเป็นและมีประโยชน์ต่อร่างกาย อยู่ไม่น้อย แต่การที่มีปริมาณของไขมันมากเกินไปย่อมมีผลเสียแน่นอน

ผู้เขียนได้ลองรวบรวมข้อเสียและอันตรายจากภาวะที่อ้วนเกินไปจากหนังสือหลายๆเล่ม รวมทั้งที่ได้พบในฐานะที่เป็นแพทย์และตัวเองก็เคยเป็นคนอ้วนอยู่ระยะหนึ่ง พอสรุปได้ว่า การที่อ้วนเกินไปนั้นมีข้อเสียอยู่หลายประการ คือ
1.
จากสถิติพบว่าผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐานถึงร้อยละ 20 จะมีโอกาสหัวใจวายมากขึ้นถึง 3เท่า

2. คนอ้วนจะมีโรคความดันโลหิตสูงได้มากกว่า

3. คนอ้วนมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานได้มากกว่า

4. คนอ้วนเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี มากกว่าคนผอม

5. มีการศึกษาพบว่าผู้ที่อ้วนมาก คือ มีน้ำหนักตัวเกินเฉลี่ยถึงร้อยละ 40 ถ้าเป็นผู้หญิงจะมีโอกาสเกิดมะเร็งของมดลูก รังไข่ และเต้านม ได้มากขึ้น ถ้าเป็นผู้ชายก็จะเป็นมะเร็งของลำไส้ใหญ่ และต่อมลูกหมากได้มากกว่าคนที่มีน้ำหนักตัวปกติ

6. คนอ้วนจะเป็นโรคที่เกี่ยวกับข้อได้มากกว่า โดยเฉพาะข้อสะโพก ข้อเข่า ข้อเท้า และที่ตัวเท้าเอง เพราะข้อเหล่านี้จะต้องรับน้ำหนักมากกว่าปกติไม่ว่าจะยืนหรือเดินก็ตาม

7. คนอ้วนจะเกิดเส้นเลือดขอดได้มากกว่า

8. หญิงที่อ้วนมากจะตั้งครรภ์ได้ยากกว่า และจะมีปัญหาเกี่ยวกับการคลอดมากกว่าด้วย

9. ผู้ที่อ้วนมากจะมีปัญหาทางเพศสัมพันธ์ได้ไม่ว่าชายหรือหญิง หากไม่ทราบวิธีแก้ไข ความสุขทางเพศจะน้อยลงมาก

10. คนอ้วนจะประสบอุบัติเหตุได้บ่อยกว่าผู้ที่มีรูปร่างปกติ เพราะคนอ้วนมักจะอุ้ยอ้ายและคล่องแคล่วน้อยกว่า โอกาสพลาดพลั้งจึงมากกว่า และเมื่อเกิดอุบัติเหตุก็มักจะรุนแรงกว่า และรักษายากกว่าด้วย

11. เมื่อมีความจำเป็นต้องตรวจร่างกาย แพทย์จะตรวจร่างกายของคนผอมได้ง่ายกว่าคนอ้วนมาก เพราะไขมันจะมาบดบังทำให้ฟัง หรือคลำหาสิ่งผิดปกติได้ยาก แม้แต่ภาพเอกซเรย์ของคนอ้วนก็ยังไม่ชัดเท่าของคนผอม ยิ่งถ้าต้องทำการผ่าตัดด้วยแล้ว (โดยเฉพาะเกี่ยวกับช่องท้อง) จะทำยากกว่ามากมาย

12. เมื่อคนอ้วนต้องเป็นผู้ป่วย การพยาบาลดูแลรักษาจะมีความยุ่งยากมากกว่า ยิ่งถ้าเป็นโรคที่เคลื่อนไหวเองไม่ได้ เช่น อัมพาต จะเพิ่มปัญหาให้กับผู้ดูแลอีกมากมายทีเดียว แม้เมื่อถึงแก่กรรมแล้ว ศพของคนอ้วนก็ยังจัดการได้ยากกว่าคนผอม

13. บ่อยครั้งที่คนอ้วนเป็นที่รังเกียจของสังคม เช่น การขึ้นลงหรือนั่งในรถประจำทาง แม้ในรถโดยสารหรือบนเครื่องบินก็ไม่มีใครอยากจะนั่งใกล้คนที่อ้วนๆ

14. งานอาชีพบางอย่างอาจไม่เปิดโอกาสให้คนอ้วน เช่น เป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน งานประชาสัมพันธ์ คนนำเที่ยว(ไกด์) หรือการเป็นนักแสดงคนอ้วนก็มักถูกกำหนดให้เป็นคนรับใช้มากกว่าที่จะเป็นนางเอกหรือพระเอก (ยกเว้นจะไปแสดงหนังแขก)

15. ข้อสุดท้ายนี้เป็นปัญหาที่ใหม่มากสำหรับคนอ้วนหลายๆคน นั่นคือ ปัญหาทางจิตใจ เราอาจพบว่ามีคนอ้วนบางคนที่มีจิตใจแจ่มใส หน้าตายิ้มแย้ม และอารมณ์ดี แต่ก็มีคนอ้วนอีกมากมายที่ไม่พอใจในรูปร่างของตนเอง และถือเอาความอ้วนมาเป็นปมด้อยประจำตัว กลายเป็นคนคิดมากสารพัดอย่าง ใครมองหน้าหน่อยก็คิดว่าเขาเยาะเย้ย เห็นใครคุยกันแล้วมองมาก็คิดว่าเขากำลังนินทา ยิ่งถ้ากำลังกินอะไรอยู่แล้วมีใครมองมาก็คิดว่าเขากำลังนึกสมเพชเรา หรือเขาคงกำลังพูดในใจว่า “โธ่เอ๋ย เป็นตุ่มอย่างนี้แล้วยังจะกินอีก” อะไรทำนองนี้ ความไม่พอใจหรือมีปมด้อยในรูปร่างของตนเองนี้ ทำให้กลายเป็นคนที่หาความสุขไม่ได้ หงุดหงิดและเครียด หลายคนก็เลยดับความเครียดด้วยการกิน ผลก็คือยิ่งอ้วนขึ้น และยิ่งเครียดมากขึ้น หลงเข้าสู่วงจรอันเลวร้ายโดยไม่รู้ตัว
ที่กล่าวมานี้ ก็เป็นเหตุผลอย่างเพียงพอที่เราจะต้องเริ่มลดน้ำหนักตัวส่วนเกินอย่างจริงจังแล้ว


กลไกของการอ้วนขึ้นและผอมลง
ร่างกายของเรานั้นคล้ายๆกับเครื่องยนต์ คือ ต้องได้รับเชื้อเพลิงจึงจะทำงานได้ และเชื้อเพลิงของร่างกายก็คือ อาหารนั่นเอง เมื่ออาหารเข้าสู่ร่างกายแล้วก็จะเปลี่ยนไปเป็นพลังงานเพื่อให้อวัยวะต่างๆทำงานได้ หัวใจจะเต้นได้ก็ต้องใช้พลังงาน สมองจะคิดก็ต้องใช้พลังงาน ตับ ไต ไส้ กระเพาะ จะทำงานได้ล้วนต้องใช้พลังงานทั้งสิ้น ร่างกายเราจึงขาดอาหารไม่ได้นาน

หน่วยที่ใช้วัดพลังงานเรียกว่าแคลอรี ไม่ว่าจะเป็นพลังงานที่ได้มาจากอาหารหรือพลังงานที่ใช้ไปล้วนวัดกันเป็นแคลอรีทั้งสิ้น เช่น อาหารโปรตีน หรือคาร์โบไฮเดรตหนัก 1 กรัมจะให้ 4 แคลอรี ส่วนไขมันหนัก 1 กรัมให้ถึง 9 แคลอรี การทำงาน เช่น ซักผ้าด้วยมือจะใช้ประมาณชั่วโมงละ 240 แคลอรี รีดผ้าใช้ชั่วโมงละ 150 แคลอรี นั่งดูโทรทัศน์ใช้ประมาณ 107 แคลอรี และแม้แต่นอนเฉยๆก็ยังใช้ชั่วโมงละ 85 แคลอรี

การที่เราจะอ้วนขึ้นหรือผอมลงนั้นจะขึ้นอยู่กับปริมาณของแคลอรีที่ได้รับมา (จากอาหาร) และที่ใช้ไป (จากการทำงานของอวัยวะต่างๆและกิจกรรมในแต่ละวัน) เมื่อใดที่เรามีพลังงานหรือแคลอรีเหลือ คือ ได้รับมามากกว่าใช้ไป พลังงานนั้นก็จะถูกเปลี่ยนไปเป็นไขมันสะสมไว้ในร่างกาย ในทางตรงกันข้ามถ้ามีพลังงานหรือแคลอรีติดลบ คือ ใช้ไปมากกว่าที่ได้รับมา ร่างกายก็ต้องดึงเอาไขมันที่สะสมไว้ออกมาใช้ ร่างกายของเราก็จะผอมลงมีตัวเลขอยู่ตัวหนึ่งที่ต้องสนใจ และจำให้ได้ นั่นคือ 3,500 แคลอรี
เพราะพลังงานจำนวน 3,500 แคลอรี (จะบวกหรือลบก็ตาม) จะเป็นไขมันหนัก 1 ปอนด์เสมอ ไม่ว่าในผู้หญิงหรือผู้ชาย

จำนวน 3,500 แคลอรีนี้ไม่จำเป็นจะต้องได้มา หรือใช้ไปใน 1 วัน (ซึ่งเป็นไปได้ยาก) แต่เป็นปริมาณที่สะสมได้ เช่น ถ้าได้รับมามากกว่าที่ใช้ไปวันละ 350 แคลอรีในเวลา 10 วันก็จะได้ 3,500 แคลอรี และกลายเป็นไขมันได้หนัก 1 ปอนด์พอดี ในทางตรงข้ามถ้าร่างกายใช้พลังงานไปมากกว่าที่ได้รับมาวันละ 350 แคลอรีใน 10 วัน ร่างกายก็จะขาดทุนไป 3,500 แคลอรี นั่นก็คือไขมันจะหายไปหนัก 1 ปอนด์เช่นกัน

จะเห็นว่าการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของไขมันในร่างกายเรานั้นเป็นเรื่องที่ตรงไปตรงมาและมีกฎเกณฑ์ที่แน่นอน คือ 3,500 แคลอรีต่อไขมันหนัก 1 ปอนด์เสมอ ไขมันที่สะสมอยู่ในตัวเรานี้ก็คล้ายกับเงินที่เราเก็บสะสมไว้เหมือนกัน เพียงแต่เปลี่ยนจากอ้วน-ผอม มาเป็น รวย-จนเท่านั้นคือ ขึ้นอยู่กับจำนวนที่หามาได้และที่ใช้ไป เมื่อใดที่เราหามาได้มากกว่าที่ใช้ไป เรามีเงินเหลือเก็บ นั่นคือรวยขึ้น แต่ถ้าเราใช้เงินมากกว่าที่หาได้ เราก็จะจนลง เมื่อใดที่หาได้เท่ากับใช้ไปพอดีเราก็จะมีฐานะคงเดิม
เรื่องนี้คงจะเข้าใจได้ง่ายขึ้นถ้าดูรูปประกอบ
 

 


ถ้าดูเพียงเท่านี้การลดความอ้วนก็เป็นเรื่องง่ายมาก แต่ในทางปฏิบัตินั้นไม่ง่ายเสมอไป เพราะยังมีปัจจัยอื่นมาเกี่ยวข้องดังได้กล่าวมาแล้ว เช่น เรื่องของกรรมพันธุ์ จำนวนเซลล์ ไขมัน และการเลี้ยงดูในวัยเด็กที่ผ่านมา เพียง 3 อย่างนี้ก็มีอิทธิพลอยู่ถึงร้อยละ 30 แล้ว และเป็นปัจจัยที่แตกต่างกันในแต่ละคน ดังนั้นการลดความอ้วนในแต่ละคนจึงยากง่ายไม่เท่ากันด้วย นอกจากนี้ยังมีเรื่องของจิตใจมาเกี่ยวข้องอีก บางคนพูดง่าย ใจแข็ง แนะนำให้ทำอะไรก็ทำได้ แต่บางคนนั้นตามใจตัวเองมาตลอด จะให้กินน้อยลง หรือเปลี่ยนชนิดของอาหาร หรือออกกำลังกายก็ไม่ยอมจะเอาด้วยสักอย่าง หรือทำๆหยุดๆ แล้วแต่อารมณ์ อย่างนี้ก็จะลดน้ำหนักตัวได้ยากมาก



วิธีลดความอ้วน
ที่เราพูดกันว่า ลดความอ้วนหรือลดน้ำหนักตัวนั้น หมายถึง การลดปริมาณของไขมันในร่างกายที่มีมากเกินต้องการลงหลักของการลดปริมาณไขมันที่ตรงไปตรงมาที่สุดก็คือ พยายามให้ร่างกายได้รับอาหารโดยคิดเป็นแคลอรี แล้วน้อยกว่าจำนวนพลังงานหรือแคลอรีที่ร่างกายต้องใช้ไปในแต่ละวัน
สำหรับวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยใช้พลังงานให้หมดไปก็คือ การดำเนินชีวิตที่ใช้เครื่องทุ่นแรงให้น้อยลง เช่น เมื่อใดที่ควรเดินได้ก็ให้เดินแทนการใช้รถยนต์ หรือเมื่อใดที่ใช้บันไดได้ก็ใช้บันไดแทนการใช้ลิฟต์ เป็นต้น และที่ได้ผลดีที่สุดก็คือ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายนั้นนอกจากจะใช้พลังงานได้มากๆแล้ว ยังทำให้กล้ามเนื้อต่างๆแข็งแรงด้วย การลดความอ้วนด้วยการจำกัดอาหารแต่เพียงอย่างเดียวนั้น น้ำหนักที่ลดลงจะไม่ใช่ไขมันอย่างเดียว แต่จะเป็นน้ำหนักของกล้ามเนื้อที่พลอยลดลงไปด้วย ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เราประสงค์เลย

เคยมีการวิจัยที่ศูนย์ลดน้ำหนักตัวในเมืองดัลลัส เปรียบเทียบน้ำหนักที่ลดลงในหญิง 2 กลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งให้จำกัดอาหารแต่เพียงอย่างเดียว ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งให้จำกัดอาหารร่วมกับการออกกำลังกาย ผลปรากฏว่า
กลุ่มที่จำกัดอาหารเพียงอย่างเดียว น้ำหนักตัวลดลง 7.54 ปอนด์ ในเวลา 5 สัปดาห์
ส่วนกลุ่มที่จำกัดอาหารและออกกำลังกายร่วมด้วยลดได้ 8.08 ปอนด์ ในเวลาเท่ากัน
ถ้าเราดูเพียงเผินๆ ก็จะเห็นว่าทั้ง 2 กลุ่มนี้มีน้ำหนักลดลงพอๆกัน แต่เมื่อได้ศึกษาลงไปอย่างละเอียดแล้วพบว่า ในกลุ่มที่อดอาหารอย่างเดียวนั้น น้ำหนักที่ลดลงเป็นไขมันเพียง 4.40 ปอนด์เท่านั้น ส่วนอีก 3.14 ปอนด์นั้น เป็นน้ำหนักของกล้ามเนื้อที่พลอยลีบเล็กลงด้วย (น่าเสียดายมาก)
สำหรับกลุ่มที่ควบคุมอาหารและออกกำลังกายร่วมด้วยนั้น มีไขมันลดลงมากถึง 8.52 ปอนด์ แต่ที่ชั่งแล้วน้ำหนักตัวลดลงเพียง 8.08 ปอนด์ก็เพราะว่า มีน้ำหนักของกล้ามเนื้อที่เพิ่มขึ้นมาอีก 0.44 ปอนด์ การทดลองนี้ย่อมพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนที่สุดว่า การลดความอ้วนด้วยการจำกัดอาหารร่วมกับการออกกำลังกายนั้น เป็นวิธีที่ดีที่สุด และเป็นผลดีต่อสุขภาพอย่างแท้จริง

ผู้เขียนเองไม่เห็นด้วยกับการลดน้ำหนักตัวทุกรูปแบบ ที่ทำโดยการจำกัดอาการแต่เพียงอย่างเดียวแล้วไม่มีการออกกำลังกายร่วมด้วย เพราะแม้จะลดได้จริง แต่เนื้อก็จะเหลว ความแข็งแรงทั่วๆไปก็จะน้อยลง แล้วยังจะมองดูเหี่ยวมากกว่าด้วย โดยเฉพาะผู้ที่มาลดน้ำหนักเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป จะเรียกว่า เป็นการลดความอ้วนที่เสียสุขภาพได้การลดน้ำหนักตัวที่ถูกหลักการแพทย์อย่างแท้จริงนั้น นอกจากจะต้องมีการออกกำลังกายร่วมด้วยแล้ว ในการจำกัดอาหารก็ต้องทำด้วยความระวัง คือ จะยังให้กินอาหารครบทุกหมู่ จะไม่ใช้วิธีตัดเอาหมู่หนึ่งหมู่ใดออกไป เช่น ตัดเอาคาร์โบไฮเดรตออกโดยหวังให้ร่างกายดึงเอาไขมันออกมาใช้แทน ซึ่งแม้จะได้ผลเร็ว แต่ก็เสียสุขภาพทั้งกายและใจ (ผู้ที่ถูกตัดคาร์โบไฮเดรตทันทีจะกระวนกระวายใจมากในตอนแรกๆ)

อาหารแบบสมดุล (Balance diet) ที่ผู้เขียนเห็นว่าดีและน่านำมาใช้คือ สูตร 50-20-30 (ไม่ใช่สูตรปุ๋ยนะครับ) ของศูนย์แอโรบิกที่เมืองดัลลัส ของนายแพทย์คูเปอร์ คือให้ได้รับอาหารในกลุ่มคาร์โบไฮเดรตมากที่สุดคือ ร้อยละ 50 ส่วนโปรตีนให้ร้อยละ 20 และอีก 30 ที่เหลือเป็นไขมัน การให้อาหารแบบนี้ร่างกายจะไม่กระวนกระวาย เพราะพลังงานหลักยังคงเป็นพวกคาร์โบไฮเดรตอยู่ และจะไม่หิวมากด้วย โดยให้พวกคอมเพล็กคาร์โบไฮเดรต (ธัญพืช ผัก และผลไม้) ซึ่งทำให้อิ่มท้องแต่ให้แคลอรีน้อย ยิ่งถ้ามีการออกกำลังกายที่ถูกต้องแล้วก็ยิ่งมีสิทธิ์กินได้ค่อนข้างมาก เป็นวิธีลดความอ้วนที่ได้ผลดีจริงๆ
การลดความอ้วนนั้นจะต้องทำการลดอย่างช้าๆ อย่าลืมว่าเราใช้เวลานานนับสิบปีในการสะสมไขมัน เมื่อจะขจัดไขมันออกไปก็ควรทำอย่างนุ่มนวล ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเราจะลดเพียงร้อยละ 0.5-1.0 ของน้ำหนักตัวต่อสัปดาห์เท่านั้น

เช่น ผู้ที่มีน้ำหนักตัว 80 กิโลกรัม จะลดเพียงสัปดาห์ละ0.4-0.8 กิโลกรัม ซึ่งในเวลา 3 เดือนก็จะลดได้ประมาณ 5-10 กิโลกรัม นับเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ ผู้เขียนเองลดน้ำหนักตัวลง 10 กิโลกรัมก็ใช้เวลาหลายเดือน แม้จะช้าแต่ก็เป็นการลดที่สบายกายและสบายใจมาก และการลดอย่างช้าๆนี้ยังช่วยให้สามารถรักษาน้ำหนักให้คงที่ได้ง่ายกว่าด้วย

สรุปว่า การลดความอ้วนนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้แน่นอน อาจยากบ้างง่ายบ้างแตกต่างกันในแต่ละคน แต่ทุกคนจะต้องมีความมุ่งมั่นที่แน่นอน มีจิตใจที่เข้มแข็งดังที่มีผู้เปรียบว่า การลดความอ้วนนั้นก็คล้ายกับการอดเหล้าในพวกพิษสุราเรื้อรัง ซึ่งถ้ามีจิตใจที่เข้มแข็งและทำอย่างถูกวิธีแล้วต้องได้ผลแน่นอน บางคนก็เปรียบเหมือนการรักษาตัวในผู้ที่เป็นเบาหวาน คือต้องปฏิบัติตัวให้ถูกต้องไปตลอดชีวิตนั่นแหละ


 

ข้อมูลสื่อ

93-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 93
มกราคม 2530
โรคน่ารู้
รศ.นพ.ดำรง กิจกุศล