• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

ฉบับนี้ขอคุยด้วยเรื่อง "ปวดท้อง" ของคุณผู้หญิงก็แล้วกัน

คุณผู้หญิงทุกคนคงจะเคยมีอาการปวดบริเวณท้องน้อยกันทุกคนเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น และจะพบบ่อยในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เพราะเพศหญิงมีอวัยวะสืบพันธุ์บริเวณอุ้งเชิงกรานที่เพศชายไม่มี เช่น มดลูก รังไข่ และท่อนำไข่

อวัยวะต่างๆ ของเพศหญิงดังกล่าวนั้นมักจะมีพยาธิสภาพได้บ่อย เช่น การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน เนื้องอก ถุงน้ำ มะเร็ง รวมถึงความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ เหล่านั้นตั้งแต่กำเนิด

ความผิดปกติหรือมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนต่างๆ โดยเฉพาะฮอร์โมนเพศก็มีผลกระทบต่อความ ผิดปกติของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน นำมาซึ่งอาการปวดท้องน้อยได้ รวมถึงภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ และการคลอดบุตร ก็ก่อให้เกิดภาวะผิดปกติและมีอาการปวดท้องได้

อย่างไรก็ตาม จะต้องแยกก่อนว่าอาการปวดท้องน้อยในเพศหญิงนั้น ไม่ได้เกิดจากอาการปวดเนื่องจากอวัยวะอื่นๆ เช่น ถ้ามีอาการคลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลว ปวดท้องเป็นพักๆ บีบๆ เป็นลูกๆ และหายไปเป็นพักๆ อาจเนื่องจากการบีบรัดตัวของลำไส้หรือระบบทางเดินอาหารอื่นๆ หรือความผิดปกติจากระบบทางเดินปัสสาวะผิดปกติ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบหรือมีความผิดปกติอื่น ท่อไตผิดปกติ หรือนิ่วในท่อไต หรือแม้กระทั่งความผิดปกติจากหลอดเลือด กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น หรือผิวหนังบริเวณท้องน้อย

อาการปวดระดูทุกเดือนอาจจะเป็นภาวะที่ไม่มีความผิดปกติจากการมีพยาธิสภาพก็ได้ แต่ส่วนหนึ่งของอาการปวดระดูมีความผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพบบ่อยที่สุดคือ พังผืดในอุ้งเชิงกราน

พังผืดอาจเกิดจากเคยมีการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน เคยมีการผ่าตัดในอุ้งเชิงกราน เคยขูดมดลูก เคยเป็นเนื้องอก เป็นต้น

หญิงที่มีพังผืดอาจไม่มีอาการใดๆ แต่ส่วนใหญ่จะมีอาการปวดท้องน้อยบ่อยๆ หรือไม่บ่อย ปวดลักษณะรัดๆ หรือปวดตื้อหรือจี๊ด บริเวณท้องน้อย สัมพันธ์กับการที่มีการเคลื่อนไหวอวัยวะในอุ้งเชิงกราน เช่น การออกกำลังกาย การเปลี่ยนท่านั่ง เดิน รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ ถ้าเป็นมาก แม้แต่ถ่ายอุจจาระ หรือปัสสาวะ ก็มีอาการปวดท้องน้อยได้ มีจำนวนไม่น้อยที่ทำให้มีอาการปวดประจำเดือน เพราะขณะที่มีประจำเดือน มดลูกจะหดรัดตัว ทำให้พังผืดบริเวณนั้นถูกดึงรั้ง ทำให้มีอาการปวดได้

พังผืดในอุ้งเชิงกรานนี้ นอกจากจะพบที่เกิดจากการมีพยาธิสภาพดังกล่าวแล้ว ยังสามารถเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุได้ แต่ที่พบบ่อยที่สุดของการเกิดพังผืดคือ ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

โดยทั่วไป เยื่อบุโพรงมดลูก จะอยู่ชั้นในสุดของผนังมดลูก มีหน้าที่เป็นที่ฝังตัวของทารกในครรภ์ ขณะที่ไม่มีครรภ์จะมีการหนาตัวขึ้นในครึ่งแรกของรอบประจำเดือน เนื่องจากอิทธิพลของฮอร์โมนเอสโทรเจนจากรังไข่ หนาเต็มที่

เมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ นับแต่วันแรกของรอบประจำเดือน ขณะนั้นจะมีการตกไข่ ถ้าไข่ไม่ได้รับการผสมกับอสุจิ ไข่จะสลายไป แล้วเยื่อบุโพรงมดลูกดังกล่าวจะเปลี่ยนเป็นลักษณะเฉพาะของครึ่งหลังของรอบประจำเดือน ประมาณ 2 สัปดาห์แล้วจึงมีรอบประจำเดือนมา

ประมาณร้อยละ 30 ของเพศหญิง เยื่อบุโพรงมดลูกดังกล่าวนี้เจริญอยู่ผิดที่ เช่น บริเวณด้านหลังของมดลูก บริเวณท่อรังไข่ และรังไข่

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่จะมีการเปลี่ยนแปลงโดยมีการหนาตัวและมีการคั่งของเลือดที่ออกจากเนื้อเยื่อ อันเนื่องจากฤทธิ์ของฮอร์โมนดังกล่าวแล้ว

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นทุกรอบเดือนและจะทำให้บริเวณอวัยวะดังกล่าวเกิดพังผืดขึ้นได้ อาการปวดท้องน้อยบ่อยๆ ซึ่งพบว่าเกิดจากพังผืด และพังผืดดังกล่าวมักเกิดจากภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่นี้จะมีอาการปวดประจำเดือน ปวดเวลามีเพศสัมพันธ์ และเป็นภาวะที่ทำให้มีบุตรยาก

การตรวจภายในจะพบว่ากดเจ็บบริเวณด้านหลังมดลูก และปีกมดลูก มดลูกจะคว่ำหลัง เพราะมีพังผืดดึงรั้งมดลูกทางด้านหลัง ถ้ามีอาการมากขึ้นจะพบว่า มีอาการปวดประจำเดือนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละเดือนที่ผ่านไป บางรายเป็นมากจนกระทั่งพบว่ามีถุงเลือด รังไข่ สามารถตรวจยืนยันการตรวจภายในโดยการตรวจด้วยเครื่องตรวจอัลตราซาวนด์

การตรวจโดยการใช้กล้องตรวจผ่านทางหน้าท้องเป็นการตรวจที่สามารถมองเห็นพยาธิสภาพได้โดยตรง เพื่อวินิจฉัยและทราบถึงระยะความรุนแรงของโรค

ถ้าระยะต้นรักษาตามอาการ เช่น กินยาแก้ปวด การให้ฮอร์โมนยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ช่วยยับยั้งไม่ให้การดำเนินของโรคมากขึ้น การตั้งครรภ์และให้นมบุตร จะช่วยยับยั้งการดำเนินโรคเช่นกัน

ถ้าให้ฮอร์โมนรักษาแล้วไม่ดีขึ้นหรือมีอาการมากขึ้นอาจต้องพิจารณาทำการผ่าตัดเลาะพังผืดและบริเวณที่มีพยาธิสภาพ แต่สามารถเกิดขึ้นได้อีก บางรายอาจต้องผ่าตัดหลายครั้ง เว้นแต่ถ้ามีบุตรเพียงพอแล้ว หรืออายุมากแล้ว อาจพิจารณาตัดมดลูกและรังไข่เสีย เพื่อไม่ให้มีการสร้างฮอร์โมนขึ้นได้อีก
ผู้หญิงทุกคนควรใส่ใจการตรวจภายใน เมื่อมีอาการปวดท้องน้อย หรือปวดประจำเดือน เผื่อพบโรคดังกล่าว
 

ข้อมูลสื่อ

353-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 353
กันยายน 2551
นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย