• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อัณฑะบิดตัว

อัณฑะบิดตัว หมายถึง ภาวะที่สายรั้งอัณฑะ (spermatic cord) เกิดการบิดตัว หมุนรอบตัวเอง ทำให้มีอาการปวดอัณฑะ อัณฑะเป็นก้อนบวม ซึ่งมักเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน หากไม่ได้รับการรักษาได้ทันท่วงที ก็มักทำให้เนื้อเยื่ออัณฑะตายเนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยง ผู้ป่วยต้องสูญเสียอัณฑะไปข้างหนึ่ง ทำให้มีบุตรยากได้ โรคนี้มักพบในวัยรุ่นหรือทารก
โรคนี้ถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที

♦ ชื่อภาษาไทย อัณฑะบิดตัว
♦ ชื่อภาษาอังกฤษ Testicular torsion

♦ สาเหตุ
มักเป็นผลมาจากพัฒนาการที่ผิดปกติของสายรั้งอัณฑะและเนื้อเยื่อที่ปกคลุมอัณฑะ ซึ่งเป็นภาวะผิดปกติที่เป็นมาแต่กำเนิด ทำให้ถุงอัณฑะหลวมกว่าปกติ เป็นเหตุให้อัณฑะสามารถบิดหมุนรอบตัวเมื่ออายุมากขึ้นได้

♦ อาการ
มักมีอาการปวดอัณฑะข้างหนึ่งอย่างรุนแรง ซึ่งเกิดขึ้นฉับพลันภายในไม่กี่ชั่วโมง บางรายอาจมีอาการปวดที่ตรงกลางท้องน้อย บางครั้งอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย

บางรายอาจมีอาการปวดเกิดขึ้นตอนกลางคืนจนทำให้ผู้ป่วยสะดุ้งตื่น หรืออาจเกิดขึ้นขณะออกกำลังกายหรือขณะทำกิจกรรมต่างๆ

ผู้ป่วยมักถ่ายปัสสาวะได้เป็นปกติ ไม่มีอาการแสบขัดหรือถ่ายกะปริดกะปรอย
อัณฑะข้างที่ปวดมักมีอาการอักเสบ บวม แตะถูกเจ็บและพบว่าอัณฑะข้างนั้นยกขึ้นสูงกว่าข้างที่ปกติ
บางรายอาจพบว่ามีอาการเป็นไข้ร่วมด้วย

♦ การแยกโรค
อาการปวดอัณฑะหรือเป็นก้อนบวมที่อัณฑะ อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น
- อัณฑะอักเสบ (orchitis) ซึ่งอาจพบในวัยรุ่นหรือคนหนุ่มที่เป็นคางทูม เกิดจากเชื้อไวรัสที่เป็นต้นเหตุของคางทูม (ต่อมน้ำลายที่คาง 2 ข้างอักเสบ) แพร่กระจายตามกระแสเลือดไปที่อัณฑะ บางรายอาจเกิดจากเชื้อหนองในลุกลามมาที่อัณฑะ หรือจากการติดเชื้ออื่นๆ ก็ได้ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดอัณฑะ และอัณฑะบวมแดงร้อน มักมีไข้ร่วมด้วย

- ไส้เลื่อน
(inguinal hernia) มักมีอาการมีก้อนบวมที่อัณฑะเวลายืน นั่ง หรือไอ และยุบหายเวลานอนราบ โดยไม่มีอาการเจ็บปวด ก้อนคลำดูมีลักษณะนุ่ม ไม่เจ็บ แต่ถ้าเกิดภาวะแทรกซ้อน กลายเป็นไส้เลื่อนชนิดติดคา (ลำไส้ที่เลื่อนลงถุงอัณฑะติดคา ไม่ไหลกลับเข้าช่องท้อง) ก็จะทำให้มีอาการเป็นก้อนบวม

และปวดอย่างต่อเนื่อง และมักมีอาการปวดท้องและอาเจียนร่วมด้วย เนื่องจากเกิดภาวะลำไส้อุดกั้นแทรกซ้อนตามมา

- กล่อนน้ำ (hydrocele) หมายถึง การเกิดเป็นถุงน้ำภายในถุงอัณฑะ ซึ่งพบได้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยสูงอายุ มักมีลักษณะเป็นก้อนนุ่มที่ถุงอัณฑะข้างใดข้างหนึ่ง โดยไม่ยุบหายไม่ว่าอยู่ในท่าใด ไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด

- มะเร็งอัณฑะ มีอาการเป็นก้อนแข็งที่อัณฑะข้างหนึ่ง ไม่เจ็บ แต่โตเร็ว มักพบในช่วงอายุ 15-34 ปี
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีก้อนบวมที่อัณฑะควรจะปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุให้แน่ชัด โดยเฉพาะถ้าเกิดขึ้นฉับพลันหรือมีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

♦ การวินิจฉัย
แพทย์มักจะวินิจฉัยโรคจากการบอกเล่าของผู้ป่วย และการตรวจพบก้อนแข็งและเจ็บ อาจต้องยืนยันด้วยการตรวจอัลตราซาวนด์ และการตรวจพิเศษอื่นๆ

♦ การดูแลตนเอง
ถ้าพบว่ามีอาการปวดอัณฑะ และอัณฑะเป็นก้อนแข็งและเจ็บ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

♦ การรักษา
แพทย์จะให้การรักษาด้วยการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ไขภาวะบิดตัวของอัณฑะและป้องกันไม่ให้กำเริบซ้ำ
การผ่าตัดจะต้องทำภายใน 6-8 ชั่วโมงหลังมีอาการ จึงจะสงวนอัณฑะไว้ได้

♦ ภาวะแทรกซ้อน
ถ้าปล่อยให้มีอาการอยู่นาน 6-12 ชั่วโมง เนื้อเยื่ออัณฑะจะเกิดภาวะขาดเลือดจนทำให้เนื้อเยื่อตายได้ ซึ่งอาจเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนเป็นอันตรายได้
หากปล่อยไว้จนอัณฑะตาย ก็อาจต้องผ่าตัดอัณฑะที่เสียออกไป ซึ่งอาจทำให้มีบุตรยากได้

♦ การดำเนินโรค
ถ้าได้รับการผ่าตัดแก้ไขได้ทันท่วงที ผู้ป่วยก็จะหายสนิท และสามารถสงวนอัณฑะไว้ได้
แต่ถ้าปล่อยให้มีอาการนานกว่า 6 ชั่วโมงขึ้นไป อัณฑะข้างนั้นมีโอกาสขาดเลือดตาย ต้องผ่าตัดออกไป

♦ ความชุก
โรคนี้พบได้ทุกช่วงอายุ พบบ่อยในช่วงอายุ 12-18 ปี พบน้อยในคนอายุมากกว่า 25 ปี บางครั้งอาจพบในทารกช่วงขวบปีแรกได้

 

ข้อมูลสื่อ

353-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 353
กันยายน 2551
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ