• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หลอดเลือดสมองแตก

ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ 63
เช้าวันหนึ่ง (ประมาณ 6 นาฬิกา มีเสียงโทรศัพท์ในห้องทำงานดัง อาจารย์แพทย์ท่านหนึ่งจึงเดินไปรับโทรศัพท์

อาจารย์ : "สวัสดีครับ"Ž
แพทย์ : "สวัสดีครับอาจารย์ ผมขอประทานโทษที่รบกวนอาจารย์แต่เช้า เพราะทราบว่า ประเดี๋ยวอาจารย์ออกไป round (ตรวจเยี่ยม) ผู้ป่วย โทรศัพท์มาจะไม่เจออาจารย์ ผมเป็นลูกศิษย์อาจารย์รุ่นที่....ชื่อ.... อาจารย์จำได้มั้ยครับŽ"

อาจารย์ : "เออ มีเรื่องอะไรเหรอ"Ž
แพทย์ : "ครับ กลางดึกเมื่อคืน พี่สาวของผมอายุ 62 ปี มีอาการชักและหมดสติ ลูกเค้านำส่งโรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองและบอกว่าหลอดเลือดในสมองแตก ถ้าจะไม่รอด ลูกเค้าจึงโทรศัพท์มาปรึกษาผมว่า ควรจะย้ายแม่เค้าไปรักษาที่โรงพยาบาลของอาจารย์ได้มั้ย เผื่อแม่เค้าจะรอด"

อาจารย์ : "หมอลองเล่าประวัติของพี่สาวของหมอให้ผมฟังก่อน"Ž
แพทย์ : "พี่สาวผมเป็นเบาหวานและความดันเลือดสูงมานาน เค้าก็กินยารักษาตัวมาโดยตลอด เมื่อคืนก่อนเข้านอนก็ไม่เห็นว่าผิดปกติอะไร
กลางดึก พี่เขยผมตกใจตื่นเพราะพี่สาวผมที่นอนอยู่ข้างๆ ชักและหมดสติ จึงเรียกลูกๆ มาช่วยกันพาพี่สาวผมส่งโรงพยาบาลที่รักษากันอยู่เป็นประจำ แล้วหมอที่โรงพยาบาลนั้นก็บอกญาติๆ ดังที่ผมเรียนอาจารย์แล้วข้างต้น"

อาจารย์ : "แล้วหมอได้คุยกับแพทย์ที่ตรวจรักษาพี่สาวหมอหรือยัง หรือหมอได้ไปตรวจดูพี่สาวหมอหรือยังว่า มีอาการเป็นอย่างไรบ้าง"Ž
แพทย์ : "ยังครับ ผมกำลังจะออกไปเยี่ยมพี่สาวเดี๋ยวนี้ แต่คิดว่าโทรศัพท์มาปรึกษาอาจารย์ไว้ก่อน เผื่อว่าถ้าอาจารย์คิดว่าควรจะย้ายผู้ป่วยมาที่โรงพยาบาลอาจารย์ ผมจะได้ดำเนินการไปเลยเมื่อไปถึงที่นั่น"

อาจารย์ : "แล้วตอนนี้ พี่สาวหมอต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหรือไม่"
แพทย์ : "ครับ เห็นลูกเค้าบอกว่า หมอใส่ท่อช่วยหายใจ และเครื่องช่วยหายใจตั้งแต่เมื่อคืน หลังจากไปถึงโรงพยาบาลได้ไม่นาน ยังไม่ทันได้ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ด้วยซ้ำ"Ž

อาจารย์ : "ถ้าอย่างนั้น พี่สาวหมอคงเจ็บหนักมากแล้วเมื่อตอนไปถึงโรงพยาบาล หมอที่นั่นจึงใส่ท่อช่วยหายใจและเครื่องช่วยหายใจตั้งแต่แรก
เอาอย่างนี้แล้วกัน หมอไปเยี่ยมและตรวจดูอาการพี่สาวก่อน แล้วโทรศัพท์มาหาผมอีกทีหลังจากผมไปสอนแพทย์ประจำบ้านและนักศึกษาแพทย์แล้ว"

ประมาณ 4 ชั่วโมงต่อมา ก็มีโทรศัพท์กลับมา
แพทย์ : "อาจารย์ครับ พี่สาวผมหมดสติเต็มที่ หายใจเองไม่ได้ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ คุยกับหมอที่ดูแลพี่สาวผมแล้ว เค้าบอกว่าถ้าพยายามผ่าตัดเอาเลือดที่คั่งในสมองออก แม้จะทำให้พี่สาวผมมีโอกาสรอดชีวิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่คงจะมีสภาพเป็น "ผัก" (ไม่รู้เรื่อง ช่วยตนเองไม่ได้ ฯลฯ) เค้าจึงไม่อยากเสี่ยงที่จะผ่าครับ
อาจารย์คิดว่าผมควรย้ายพี่สาวผมไปที่โรงพยาบาลของอาจารย์มั้ยครับ"Ž


อาจารย์ :
"ที่จริง โรงพยาบาลที่พี่สาวหมอรักษาอยู่ก็มีศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองอยู่ ถ้าเค้ามีความเห็นเช่นนั้น หมอควรจะคุยกับพี่เขยและลูกๆของเค้าว่าเค้าต้องการอย่างไร เพราะการผ่าตัดสมองไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ถ้าหมอผ่าตัดเค้าเห็นว่า ผ่าแล้วมีโอกาสรอดเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่เมื่อรอดมาแล้ว ผู้ป่วยจะต้องมีสภาพเป็น "ผัก" ทนทุกข์ทรมานต่อไปเรื่อยๆ เค้าจะยอมรับที่จะเห็นผู้ป่วยทนทุกข์ทรมานไปเรื่อยๆ ได้มั้ย และนั่นหมายถึงคนที่เฝ้าดูแลผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมานย่อมได้รับความทุกข์ทรมานไม่มากก็น้อยไปด้วยเสมอ"

แพทย์ : "อาจารย์คิดว่าผมควรแนะนำญาติๆ อย่างไร"
อาจารย์ : "ถ้าเป็นญาติผม ผมจะแนะนำให้เค้าถามหมอเจ้าของไข้ว่า การใส่ท่อช่วยหายใจและการใช้เครื่องช่วย หายใจนี้มีประโยชน์ต่อผู้ป่วยหรือเปล่า หรือเพียงแต่ยืดเวลาตายของผู้ป่วยออกไปเท่านั้น ถ้าเป็นเช่นนั้น ผมคงให้หมอเอาท่อช่วยหายใจออก ญาติผมจะได้ไม่ต้องทรมาน อยู่นานหลายสิบวัน เหมือนท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ"

แพทย์ : "อาจารย์จะให้ผมบอกญาติให้หยุดช่วยหายใจหรือครับ เดี๋ยวเค้าก็หาว่าผมเป็นคนทำให้พี่สาวผมตายสิครับ"Ž
อาจารย์ : "ก็ขึ้นอยู่กับหมอว่าพูดอย่างไร ที่จะทำให้เขาเข้าใจว่า การใส่ท่อช่วยหายใจและการใช้เครื่องช่วยหายใจนั้นทำให้ผู้ป่วยได้รับความทุกข์ทรมานมาก ถ้าหมอทำให้เขาเข้าใจเช่นนั้นไม่ได้ ก็ไม่ควรไปบอกให้เขาบอกหมอเจ้าของไข้ให้หยุดช่วยการหายใจ"

แพทย์ : "ถ้าเอาท่อหายใจออก ผู้ป่วยจะหยุดหายใจทันทีมั้ยครับ"Ž
อาจารย์ : "โดยทั่วไป ผู้ป่วยที่หมดสติเฉียบพลัน (หมดสติมาไม่นาน) และน่าจะเกิดจากพยาธิสภาพในสมอง เราจะใส่ท่อหายใจและช่วยหายใจไว้ก่อน โดยไม่รอให้ผู้ป่วยหยุดหายใจเสียก่อน แล้วจึงใส่ท่อหายใจและช่วยหายใจ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยสำลักน้ำลายและสิ่งอื่นเข้าไปในปอด และเพื่อช่วยดูดเสมหะและช่วยให้ออกซิเจนแก่ผู้ป่วยด้วย
ดังนั้น ถ้าตอนที่ใส่ท่อหายใจ ผู้ป่วยยังไม่ได้หยุดหายใจ การเอาท่อหายใจออก ผู้ป่วยก็ยังหายใจเองได้ แต่เมื่อโรคในสมองมันกำเริบมากขึ้น ผู้ป่วยก็อาจจะหยุดหายใจได้ ไม่ได้เกี่ยวกับการเอาท่อออกŽ"

แพทย์ : "แล้วถ้าเราใส่ท่อหายใจและช่วยหายใจไปเรื่อยๆ ผู้ป่วยจะเป็นอย่างไรบ้างครับ"Ž
อาจารย์ : "ถ้าสมองของผู้ป่วยถูกกระทบกระเทือนมาก ต่อไปความดันเลือดก็จะตก ผู้ป่วยก็จะช็อก (เลือดไปเลี้ยงร่างกายส่วนต่างๆ ไม่เพียงพอ) แล้วในที่สุด หัวใจก็จะหยุดเต้น แล้วผู้ป่วยก็จะตาย แม้เครื่องช่วยหายใจจะยังคงช่วยหายใจไปเรื่อยๆ ญาติบางคนจึงคิดว่าผู้ป่วยยังไม่ตาย เพราะเครื่องช่วยหายใจยังทำงานอยู่ (หมอ บางคนที่เห็นญาติทำใจไม่ได้ ก็ปล่อยให้เครื่องช่วยหายใจทำงานไปเรื่อยๆ จนกว่าญาติจะทำใจได้แล้ว จึงจะหยุดเครื่องช่วยหายใจ ทั้งที่ผู้ป่วยตายไปตั้งนานแล้วจากภาวะหัวใจหยุดเต้น)
แต่ถ้าสมองไม่ถูกกระทบกระเทือนมาก และภาวะการอักเสบบวมค่อยๆ ดีขึ้น ต่อไปผู้ป่วยก็อาจจะหายใจได้เองโดยไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และจะคงอยู่ในสภาพที่เป็น "ผักถาวร" เป็นเดือนเป็นปีหรือตลอดไป"

แพทย์ : "อาจารย์คิดว่าผมควรแนะนำญาติผมอย่างไรครับ"Ž
อาจารย์ : "ขึ้นอยู่กับหมอเองว่า หมอมีความสามารถที่จะพูดให้ญาติเข้าใจได้มั้ยว่า สิ่งที่กำลังทำอยู่นี้เป็นการทรมานผู้ป่วย ถ้าหมอคิดว่าหมอพูดไม่ได้ ก็คงต้องปรึกษาหมอเจ้าของไข้แล้วให้หมอเจ้าของไข้เค้าคุยกับญาติหมอแทน"

แพทย์ : "ครับ ผมคงจะขอให้หมอเจ้าของไข้คุยกับญาติผมแทน แต่ถ้าญาติผมรู้เข้า เค้าจะไม่โกรธผมหรือที่ไปขอร้องหมอเจ้าของไข้แบบนั้น"
อาจารย์ : "นั่นขึ้นอยู่กับทัศนะของหมอ ของญาติ และของหมอเจ้าของไข้ ถ้าหมอไม่กล้าพูดความจริง หมอก็ต้องทนเห็นพี่สาวหมอได้รับความทุกข์ทรมานต่อไป
ถ้าหมอกล้าพูดความจริง ถึงจะมีคนโกรธและเกลียดหมอ แต่ประโยชน์สูงสุดจะเกิดกับผู้ป่วยที่จะไม่ต้องทนทุกข์ทรมานต่อไปเรื่อยๆ ถ้าญาติและหมอเจ้าของไข้เค้า เห็นด้วยกับหมอว่า ไม่ควรทำให้ผู้ป่วยต้องทุกข์ทรมานโดยไม่จำเป็น และไม่เกิดประโยชน์ใดๆต่อผู้ป่วยเลย"Ž

นี่เป็นตัวอย่างที่พบกันทั่วไป โดยเฉพาะกับญาติหมอและญาติพยาบาลที่ไม่เข้าใจในเรื่องการตายและความตายตามธรรมชาติ จึงพยายามใช้เทคโนโลยีต่างๆ ในการยืดการตายออกไป สร้างความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสต่อผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม

พุทธศาสนิกชนจำนวนมากกำลังลืมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงเทศนาว่า การ "เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย" เป็นเรื่องธรรมดา

"เรามีความตายเป็นธรรมดา เราไม่อาจหลีกพ้นความตายไปได้" (มรณธมฺโมมฺหิ มรณํ อนตีโต)

ข้อมูลสื่อ

356-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 356
ธันวาคม 2551
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์