• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สมองอักเสบ

สมองอักเสบ หมายถึง การอักเสบของเนื้อสมอง ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญในการควบคุมการทำงานของร่างกาย

ถือว่าเป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรง หากสงสัยควรรีบไปรักษาที่โรงพยาบาลโดยเร็ว ถ้าเป็นชนิดไม่รุนแรงและได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องแต่เนิ่นๆ ก็อาจมีโอกาสหายเป็นปกติได้

♦ ชื่อภาษาไทย สมองอักเสบ, ไข้สมองอักเสบ
♦ ชื่อภาษาอังกฤษ Encephalitis
♦ สาเหตุ
มีได้หลากหลาย ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งมีอยู่หลายชนิด
ที่สำคัญได้แก่ ไวรัสเด็งกี่ (dengue virus ซึ่งเป็นต้นเหตุของไข้เลือดออก โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค) และไวรัสเจแพนีสบี (Japanese B virus)

สำหรับไวรัสเจแพนีสบี เป็นต้นเหตุของโรคสมองอักเสบเจอี (Japanese B encephalitis หรือ JE) เชื้อไวรัสชนิดนี้ปกติอาศัยอยู่ในสัตว์ เช่น หมู ม้า วัว แพะ หนู นก เป็นต้น ติดต่อถึงคนโดยมียุงรำคาญที่อยู่ตามบ้านเป็นพาหะนำโรค

สมองอักเสบจากไวรัสดังกล่าวสามารถพบระบาดได้ ในปัจจุบัน จึงแนะนำให้เด็กทุกคนฉีดวัคซีนป้องกัน

สมองอักเสบยังอาจเกิดจากไวรัสกลุ่มอื่นๆ เช่น
- ไวรัสเริม (herpes simplex virus) ไวรัสอีสุกอีใส-งูสวัด (varicella-zoster virus) ไวรัสพิษสุนัขบ้า (rabies virus) ซึ่งเชื้อจะเข้าสู่สมองโดยผ่านทางเส้นประสาท
- ไวรัสหัด (rubeola virus) ไวรัสหัดเยอรมัน (rubella virus) ไวรัสคางทูม ไวรัสโปลิโอ ซึ่งเชื้อจะเข้าสู่สมองโดยผ่านทางกระแสเลือด
- ไวรัสเอชไอวี ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคเอดส์
- ไวรัสนิพาห์ (Nipah virus) ซึ่งอยู่ในหมูติดต่อสู่คนโดยการสัมผัสโดยตรง โรคนี้พบมากในกลุ่มที่มีอาชีพ เลี้ยงหมู มีรายงานโรคนี้ครั้งแรกที่ประเทศมาเลเซียเมื่อ ปี พ.ศ.2541 มีอัตราป่วยตายสูงถึงร้อยละ 32 (ป่วย 100 คน ตาย 32 คน)

นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (เช่น ไทฟอยด์ สครับไทฟัส เล็ปโตสไปโรซิสหรือไข้ฉี่หนู ซิฟิลิส วัณโรค เป็นต้น) เชื้อรา (เช่น แคนดิดา คริปโตค็อกคัส) เชื้ออะมีบา (เช่น Naegleria fowleria ซึ่งอาศัยอยู่ในบ่อน้ำหรือที่ที่มีน้ำไหลเอื่อย หรือในดินโคลน เชื้อเข้าสู่ร่างกายทางจมูกโดยการเล่นน้ำหรือจมน้ำในบึง คู คลอง หรือสระน้ำที่มีเชื้ออยู่ หรือถูกสาดน้ำเข้าจมูกหรือสูดน้ำเข้าจมูก เชื้อจะไชผ่านเยื่อจมูกและเส้นประสาทการรู้กลิ่นเข้าไปในสมอง) เชื้อเหล่านี้มักทำให้มีการอักเสบของเนื้อสมองร่วมกับเยื่อหุ้มสมอง

                                        

สาเหตุที่อาจพบได้เป็นส่วนน้อยก็คือ เกิดจากผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนป้องกันหัด คางทูม ไข้หวัดใหญ่ และสมองอักเสบชนิดเจอี

♦ อาการ
ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดๆ ก็ตาม ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายกันคือ มีอาการไข้สูงฉับพลัน ร่วมกับปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน

ที่สำคัญคือ ผู้ป่วยจะมีอาการซึมลงเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่รู้สึกตัว ซึ่งอาจเกิดขึ้นภายใน 24-72 ชั่วโมงหลังมีไข้

บางรายอาจมีอาการชัก หรือมีอาการสับสน พฤติกรรมหรือบุคลิกเปลี่ยนแปลงคล้ายอาการโรคจิต
ในเด็กเล็กอาจมีอาการไข้สูง ซึม ไม่ดูดนม อาเจียน กระหม่อมโป่งตึง

♦ การแยกโรค
อาการไข้ ซึม ปวดศีรษะ อาเจียน หรือไข้ร่วมกับอาการชัก อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (encephalitis) ผู้ป่วยมักตรวจพบว่ามีอาการคอแข็ง (ก้มคอไม่ลง) ร่วมด้วย
- มาลาเรียขึ้นสมอง (cerebral malaria) มักมีประวัติเดินทางเข้าไปในเขตป่าเขา ต่อมามีอาการไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ แล้วค่อยๆ ซึมลง หรือชัก
- พิษสุนัขบ้า (Rabies) มักมีประวัติถูกสุนัขหรือแมวกัดหรือข่วน ต่อมามีอาการไข้ ซึม กลัวลม กลัวน้ำ ชัก
- บาดทะยัก (Tetanus) มักมีประวัติมีบาดแผลตามร่างกาย (เช่น ถูกตะปูตำ หนามเกี่ยว หรือบาดแผล สกปรก) ต่อมามีอาการไข้ ขากรรไกรแข็ง (อ้าปากไม่ได้) หลังแอ่น ชักกระตุกเวลาสัมผัสถูกตัว หรือเห็นแสงสว่าง หรือได้ยินเสียงดังๆ ผู้ป่วยมักมีความรู้สึกตัวดี

♦ การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการแสดง ได้แก่ อาการไข้ร่วมกับปวดศีรษะมาก อาเจียนบ่อย ซึมลงเรื่อยๆ หรือชัก

การวินิจฉัยที่แน่ชัด กระทำโดยการเจาะหลัง (lumbar puncture) เพื่อนำน้ำไขสันหลังไปตรวจหาชนิดและปริมาณของเม็ดเลือดขาว ตรวจหาเชื้อต้นเหตุ การเปลี่ยนแปลงของระดับโปรตีนและน้ำตาลในน้ำไขสันหลัง

นอกจากนี้ ยังอาจต้องทำการตรวจพิเศษอื่นๆ เช่น ตรวจเลือด ทดสอบทางน้ำเหลืองเพื่อหาระดับสารภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัส ตรวจคลื่นสมอง ถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เป็นต้น

♦ การดูแลตนเอง
ถ้าหากมีอาการสงสัยว่ามีการติดเชื้อของสมอง เช่น ไข้สูง ปวดศีรษะมาก อาเจียนบ่อย ซึมลงเรื่อยๆ ชัก เป็นต้น ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาแต่เนิ่นๆ ก่อนที่โรคจะลุกลามจนยากแก่การเยียวยาได้

เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองอักเสบ ก็ควรได้รับการรักษาอย่างจริงจัง ติดตามการรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างต่อเนื่อง

♦ การรักษา
แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาลจนกว่าจะปลอดภัย โดยให้การรักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยากันชัก ให้น้ำเกลือ เจาะคอช่วยหายใจในรายที่หมดสติ ให้อาหารทางสายยางในรายที่กินไม่ได้ เป็นต้น

นอกจากนี้ จะให้การรักษาตามสาเหตุ เช่น 
- ถ้าเกิดจากเชื้อเริม หรือเชื้ออีสุกอีใส-งูสวัด ก็จะให้ยาต้านไวรัส เช่น อะไซโคลเวียร์ (acyclovir)
- ถ้าเกิดจากเชื้อเอชไอวี ก็จะให้ยาต้านไวรัสเอดส์
- ถ้าเกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา ก็จะให้ยาต้านจุลชีพตามชนิดของเชื้อต้นเหตุ

♦ ภาวะแทรกซ้อน
ในรายที่เป็นรุนแรง หรือได้รับการรักษาล่าช้าเกินไป ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น สมองพิการ โรคลมชัก แขนขาเป็นอัมพาต ความจำเสื่อม หูหนวก พูดไม่ได้ สายตาพิการ เป็นต้น
ในรายที่เป็นรุนแรงมาก อาจทำให้ผู้ป่วยหมดสติ หยุดหายใจ และตายได้

♦ การดำเนินโรค
ถ้าเป็นรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตภายในเวลาไม่นาน หรืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนทางสมองดังกล่าวข้างต้น
ส่วนในรายที่เป็นไม่รุนแรง อาจหายขาดเป็นปกติได้

♦ การป้องกัน
สำหรับสมองอักเสบบางชนิด อาจป้องกันได้โดย
1. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม และอีสุกอีใส
2. สำหรับสมองอักเสบจากเชื้อเจแพนีสบี ควรหาทางกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และระวังอย่าให้ถูกยุงกัด ส่วนวัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคนี้ แนะนำให้เริ่มฉีดในเด็กอายุ 1 ขวบครึ่งถึง 2 ขวบ ควรฉีด 3 เข็ม โดย 2 เข็มแรกห่างกัน 1-2 สัปดาห์ (นานกว่านี้ก็ได้ถ้าไม่มาตามกำหนด นัด) อีก 1 ปีต่อมาฉีดเข็มที่ 3 กระตุ้น

♦ ความชุก
โรคนี้พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เกิดได้ประปรายตลอดทั้งปี บางครั้งอาจพบมีการระบาดตามชุมชน

ข้อมูลสื่อ

357-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 357
มกราคม 2552
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ