• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ศรีตรัง ดอกไม้ที่งามทั้งรูปและนาม


                                 

เมื่อ 22 ปีก่อน ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปประเทศอินเดียเป็นครั้งแรก ถึงวันนี้เวลาที่ล่วงเลยไปเนิ่นนานทำให้ความทรงจำเกี่ยวกับการเดินทางครั้งนั้นเลือนหายไปแทบหมดสิ้น เหลือเพียงสิ่งที่สำคัญและประทับใจจริงๆ เพียงไม่กี่อย่าง และหนึ่งในความทรงจำที่เหลืออยู่จากการเดินทางครั้งนั้นก็คือ ดอกไม้ชนิดหนึ่ง

จำได้ว่ามีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมสวนสาธารณะแห่งหนึ่ง ได้พบต้นไม้กำลังออกดอกสีม่วง เต็มไปทั้งต้นไม่มีใบเหลืออยู่เลย ใต้ต้นที่เป็นลานโล่งนั้นมีดอกไม้ร่วงลงมาคลุมอยู่ มองเป็นพรมสีม่วงเต็มไปทั้งบริเวณ ดูงดงามจับใจ

ผู้เขียนเข้าไปยืนอยู่ใต้ต้นไม้นั้น มีดอกไม้ร่วงหล่นลงมาเป็นระยะๆ ผู้เขียนยื่นมือออกไป หงายฝ่ามือขึ้นสักพักก็ปรากฏว่ามีดอกไม้ร่วงหล่นมาใส่มือของผู้เขียนดอกหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนได้เก็บรักษาเอาไว้เป็นอย่างดี และนำกลับมาเมืองไทยด้วย เพราะเชื่อว่าเป็นดอกไม้ที่นางไม้ประจำต้นไม้นั้นมอบให้ผู้เขียนเป็นพิเศษ

ผู้เขียนได้ถามเจ้าหน้าที่ในสวนสาธารณะแห่งนั้นถึงชื่อของต้นไม้นี้ คำตอบก็คือ JACARANDA ผู้เขียนจึง จำได้ว่าเป็นต้นไม้ที่คนไทยรู้จักกันในนาม "ศรีตรัง" นั่นเอง

ศรีตรัง : ไม้งามจากแดนไกล
ศรีตรังมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Jacaranda filicifolia D. Don. อยู่ในวงศ์ Bigoniaceae เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นสูงราว 10 เมตร ลำต้นค่อนข้างเปลา กิ่งก้านค่อนข้างโปร่ง เปลือกมีสีน้ำตาลซีด

ใบ
เป็นใบรวมแบบ 2 ชั้น กลุ่มใบจับกันเป็นแผงคล้ายใบเฟิร์น หรือหางนกยูง ยาวราว 30 - 40 เซนติเมตร ใบย่อยยาวราว 7 เซนติเมตร ออกตามก้านไปเป็นคู่ ๆ แผงละประมาณ 30 - 35 ใบ

ดอก ออกเป็นข้อแขนงขนาดใหญ่มีปลายกิ่ง ช่อดอกรูปพีระมิด โคนดอกเชื่อมติดกัน ดอกคล้ายระฆัง ปลายดอกแยกเป็น 5 กลีบ ขนาดยาวราว 5 เซนติเมตร กลีบดอกสีน้ำเงินอมม่วง มีเกสรตัวผู้อยู่บนกลางดอกมีสีเหลือง หรือส้ม

ศรีตรังมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ โดยเฉพาะประเทศบราซิล นำเข้ามาปลูกครั้งแรกในประเทศไทย โดยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต เมื่อราว 100 ปีมาแล้ว โดยปลูกครั้งแรกที่จังหวัดตรัง จึงได้รับการตั้งชื่อภายหลังว่า "ศรีตรัง" นับเป็นชื่อที่ไพเราะ และได้ความหมายเหมาะสมอย่างยิ่ง

ศรีตรัง เป็นต้นไม้ที่ปลูกได้ง่าย ชอบแดดกลางแจ้ง และขึ้นได้ดีในดินแทบทุกชนิด ออกดอกปีละครั้ง ช่วงฤดูหนาว ต่อฤดูร้อน หากอากาศค่อนข้างแห้งแล้งจะทิ้งใบจนหมดมีแต่ดอกดูงดงามยิ่ง ดังที่ผู้เขียนได้ความประทับใจที่ไม่เคยลืมเลือนมาจนทุกวันนี้

ข้อมูลสื่อ

357-018
นิตยสารหมอชาวบ้าน 357
มกราคม 2552
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร