• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ต่อมและท่อน้ำเหลือง

ต่อมและท่อน้ำเหลือง
 

                        


ต่อมน้ำเหลือง ปกติเป็นต่อมขนาดเล็ก กระจายอยู่ตามที่ต่างๆของร่างกาย เช่นที่ศีรษะ คอ รักแร้ ขาหนีบ ทรวงอก ช่องท้อง มีหน้าที่ในการต่อต้านและต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอม เปรียบเสมือนทหารตำรวจตระเวนชายแดนที่ทำหน้าที่ป้องกันประเทศตามภาคต่าง ๆ

ท่านจะสังเกตได้ง่าย ๆ เวลามีบาดแผลที่เท้าหรือขา หรือโดนตะปูตำ ภายใน 2 วัน จะมีความรู้สึกบวมที่ขาหนีบเรียกว่า ไข่ดันบวม คือ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบ โต เจ็บ และกดเจ็บ เพราะเชื้อโรคผ่านจากบาดแผลที่เท้าหรือขา ไปตามท่อน้ำเหลืองขึ้นไปถึงต่อมน้ำเลืองที่ขาหนีบ ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบจึงโตขึ้นเพื่อกำจัดเชื้อโรคนั้น

ทั่วร่างกายของเรา จึงมีท่อน้ำเหลืองติดต่อกันไปทั่ว ภายในท่อจะมีน้ำเหลือง ท่อน้ำเหลืองจะนำน้ำเหลืองจากทั่วร่างกายต่อไปยังระบบเส้นเลือด โดยผ่านทางท่อน้ำเหลืองที่ใหญ่ที่สุดในร่างกายที่เรียกว่า ท่อน้ำเหลืองอก (thoracic duct) (น้ำเหลืองก็คือน้ำเลือดที่ไม่มีเม็ดเลือดแดงนั่นเอง)

                      

ภายในต่อมน้ำเหลืองจะมีการสร้างเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง (Lymphocytes) ซึ่งทำหน้าที่ต่อสู้กับศัตรูภายนอก เช่น เชื้อจุลินทรีย์ หรือสิ่งสกปรกที่เข้ามาทางบาดแผล เป็นต้น ป้องกันการแพร่เชื้อโรค โดยการพาเชื้อโรคมาเก็บและทำลายที่ต่อมน้ำเหลือง จึงทำให้ต่อมน้ำเหลืองโต

ถ้าเชื้อจุลินทรีย์เข้ามาไม่มากนักก็จะถูกเม็ดเลือดขาวทำลาย แต่ถ้ามากเกินไปเม็ดเลือดขาวไม่สามารถป้องกันได้ เชื้อจุลินทรีย์เหล่านี้ก็จะผ่านจากต่อมน้ำเหลืองไปยังกระแสเลือดได้ ทำให้เกิดเชื้อโรคในกระแสเลือด ทำให้เกิดไข้สูง และเป็นอันตรายได้.
 

ข้อมูลสื่อ

39-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 39
กรกฎาคม 2525
ดร.นที คัคนานตดิลก