• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วิตามินอี

วิตามินอี

วิตามินอีกำลังตกเป็นข่าวฮือฮากันมากในขณะนี้ ทั้งในการใช้รับประทานและภายนอก คือผสมในครีม โลชั่นและสบู่ บางท่านเข้าใจว่าวิตามินอีมีประโยชน์ในการป้องกันและรักษาโรคได้มากมายหลายชนิด นอกจากนี้ยังเข้าใจผิดเลยเถิดไปว่า วิตามินอีเป็นยอดวิตามิน เมื่อใส่ในอาหารจะทำให้อายุยืน นำไปใช้ในการรักษาโรคเบาหวาน หรือเป็นยาแก้หมัน และนำใส่ลงไปในครีม โลชั่นหรือสบู่ ก็จะป้องกันการชราภาพ

ความจริงแล้ววิตามินอีมีในอาหารหลายชนิด เช่น จำพวกเนื้อสัตว์ ไก่ ปลา หมู เนื้อวัว ตับ ไข่ นมเนย หรืออาหารจำพวกผัก เช่น ผักกาดหอม ถั่ว มะเขือเทศ หัวผักกาด หัวแครอท คึ่นไช่ มันเทศ ผลไม้จำพวกส้มเขียวหวาน ส้มโอ นอกจากนี้ยังพบในเมล็ดพืช เช่น เมล็ดข้าว เมล็ดถั่ว เมล็ดข้าวโพด แต่ที่พบจำนวนมากคือ นํ้ามันพืช นํ้ามันถั่ว นํ้ามันงา นํ้ามันข้าวโพด

โดยทั่วไป คนปกติต้องการวิตามินอีเพียงวันละ 8-12 มิลลิกรัมเท่านั้น ดังนั้นถ้ารับประทานอาหารที่ถูกตามหลักโภชนาการแล้วก็ไม่จำเป็นต้องรับประทานวิตามินอีเพิ่มเติม หรืออาจสรุปว่า ในคนปกติการรับประทานหรือใช้วิตามินอีเพิ่มเติมไม่มีประโยชน์อะไรเพิ่มขึ้น ทำให้เปลืองเงินและอาจเกิดอันตรายได้

อย่างไรก็ดี ปริมาณของวิตามินอีจะลดน้อยลงในวิธีการเตรียมอาหารต่างๆ เช่น อาหารหมักดอง หรือการทอดกรอบ หรืออาหารที่เก็บไว้นานๆ ที่เรียกว่าไม่สด เชื่อกันว่า โรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นในเด็กและตายกันมากในชนบทของประเทศสาธารณะรัฐประชาชนจีนนั้น สาเหตุหนึ่งเกิดจากชาวบ้านชอบรับประทานอาหารหมักดอง ซึ่งนอกจากจะมีวิตามินอีต่ำแล้ว แร่ธาตุบางชนิด เช่น เซเลเนียม ก็มีปริมาณน้อยด้วย

วิตามินอีมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า โทโคเฟอโรล มีหลายรูปแบบและละลายอยู่ในนํ้ามัน หลังรับประทานอาหาร จำนวนวิตามินอีที่มีในอาหารและละลายอยู่ในนํ้ามัน จะถูกดูดซึมเข้ากระแสโลหิตทางลำไส้ ดังนั้นในคนที่เป็นโรคทางเดินอาหาร โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับการดูดซึมไขมันของลำไส้เสียไปและโรคของตับอ่อนหรือโรคกรรมพันธุ์ต่างๆ ที่ทำให้การใช้วิตามินอีในร่างกายคนไม่สมบูรณ์ จำนวนวิตามินที่จะได้รับจากอาหารก็ลดน้อยลง อาจทำให้ต้องรับประทานวิตามินอีเพิ่มเติม แต่สำหรับคนอื่นๆ หรือคนปกติ การรับประทานวิตามินอีไม่มีประโยชน์ และรับประทานเกินขนาดจะมีอันตรายๆ ได้ (ดูย่อหน้าต่อไป)

ในสหรัฐอเมริกา ประชาชนสามารถซื้อหาวิตามินอีได้ตามความพอใจในร้านขายยาทั่วไป และเห่อใช้กันมากโดยไม่รู้ถ่องแท้ถึงคุณและโทษที่แท้จริง มีรายงานว่าการรับประทานวิตามินอีขนาดสูงๆ เกิน 100 มิลลิกรัมต่อวันนั้น อาจจะทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนได้หลายชนิด ตั้งแต่อาการเล็กๆ น้อยๆ เช่น ปวดหัว คลื่นไส้ อ่อนเพลีย มึนงง ตาลาย ปากเปื่อย ริมฝีปากแตก จนกระทั่งถึงอาการอันตราย เช่น ความดันโลหิตสูงขึ้น อ่อนเพลียมากมาย มีก้อนเนื้องอกที่เต้านม ปริมาณของไขมันในเลือดสูง และความต้นทานต่อการติดเชื้อแบคทีเรียลดน้อยลง ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายเปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น

การที่เชื่อว่า วิตามินอีมีประโยชน์มากมายนั้น เพราะวิตามินอีทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้มีการทำลายของเซลล์ในหลอดทดลอง และในสัตว์ทดลองก็พบว่า ถ้าเพิ่มวิตามินอีในอาหารจะสามารถป้องกันอาการเป็นพิษที่เกิดจากโลหะและเกิดจากสารที่เป็นพิษต่อตับ รวมทั้งที่เกิดจากการทำลายของเซลล์จากออกซิเจนและโอโซนด้วย

นอกจากนั้นยังพบว่า วิตามินอีควบคุมการเจริญเติบโตและการเสื่อมสลายของกรดนิวคลีอิค (กรดนิวคลีอิคเป็นส่วนประกอบ และทำหน้าที่สำคัญของเซลล์ผิวหนังในสัตว์ทดลอง) แต่คุณสมบัติเหล่านี้ยังไม่ปรากฏเด่นชัดในคน หรืออาจกล่าวได้ว่าคุณสมบัติต่างๆ ของวิตามินอีต่อเซลล์ของร่างกายนั้น พิสูจน์ได้ในหลอดทดลองและสัตว์ทดลองเท่านั้น สำหรับในตัวคนเองยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ ถึงแม้ว่าจะได้มีการนำเอาวิตามินอีมาใช้ในการรักษาโรคผิวหนังบางโรคในคนก็ตาม แต่ผลที่ได้และอาการแทรกซ้อน ทำให้จำเป็นต้องรอผลการศึกษาอย่างจริงจังในคนต่อไป

โดยสรุปแล้ว การใช้วิตามินอีจึงเป็นดาบสองคม จะเป็นประโยชน์เมื่อใช้ในขนาดที่เหมาะสม และเมื่อพิสูจน์แล้วว่าร่างกายขาดวิตามินอี แต่จะเป็นอันตรายเมื่อใช้เกินขนาด

อนึ่ง ไม่ควรใช้วิตามินอีร่วมกับฮอร์โมนผู้หญิง หรือในผู้หญิงที่รับประทานยาคุมกำเนิด นอกจากนี้ ถ้าจำเป็นต้องรับประทานวิตามินอี ก็ไม่ควรรับประทานยาระบาย หรือที่มีสารเหล็กผสมหรือนํ้ามันแร่

หากใช้วิตามินอีในรายที่จำเป็นต้องใช้(ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น) จึงน้อยมาก ประชาชนส่วนใหญ่ที่ใช้วิตามินอีในปัจจุบันจึงใช้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ นั่นคือ ใช้เพราะหลงเชื่อโฆษณาหรือหลงเชื่อคำเล่าลือ จึงไม่ได้ประโยชน์จากยา และเกิดโทษหรืออันตรายจากยาได้

ข้อมูลสื่อ

73-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 73
พฤษภาคม 2528
กินถูก...ถูก
พญ.เรณู โคตรจรัส