• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เข่าเสื่อม

เข่าเสื่อม

ตื่นแต่เช้า ออกกำลังกายให้สดชื่น พร้อมเปิดวิทยุ (เมดอินไทยแลนด์) ไปที่คลื่น 864 กิโลเฮิรตซ์ สถานี ปชส. 7 รายการ” สุขภาพประจำวัน” เวลา 5.00 น.-5.15 น. ทุกวันจันทร์ถึงเสาร์และรายการ “หมอชาวบ้าน” เวลา 4.30 น.-5.00 น.

ปวดเข่าเป็นอาการของโรคที่เกิดขึ้นกับเนื้อเยื่อต่างๆ ที่ประกอบกันเป็นข้อเข่า ปวดเข่ามักเกิดกับคนสูงอายุ แต่เด็กๆ หรือหนุ่มสาวก็เป็นได้ เช่น หลังจากเล่นกีฬา มีบางคนเวลาเดินบนพื้นราบธรรมดาเดินได้ แต่พอเดินขึ้นที่สูงก็ปวดเข่า มีหลายคนล่นว่า ทำอะไรสักหน่อยก็ปวดเข่า ขอเชิญฟังคำอธิบายของ พญ.เล็ก ปริวิสุทธ์ อธิบายถึงว่าปวดเข่าเป็นเพราะอะไรได้บ้าง และถ้าเป็นแล้วจะรักษาอย่างไร

นพ.วิชนารถ : ขอเรียนถามว่า ปวดเข่าส่วนใหญ่เกิดจากอะไร?

พญ.เล็ก : คงจะต้องขอกล่าวเกี่ยวกับอาการก่อน

อาจจะแค่ปวดเมื่อย ล้านิดหน่อยหลังจากที่ไปเดินทางไกลมาหรืออาจจะหลังจากที่เดินขึ้นบันไดลงบันได

บางครั้งอาการปวดเข่าอาจจะร่วมกับอาการบวมที่เข่าด้วย

บวมทันทีมักจะเกิดหลังจากได้รับบาดเจ็บ เช่น น.ร. ไปเตะฟุตบอลแล้วหกล้ม พอกลับมาบ้านแล้วเข่าบวมซึ่งมักจะมีเลือดออกในข้อ

ส่วนเข่าบวมที่เกิดขึ้นช้าๆ นั้นเกิดจากการผิดปกติขององค์ประกอบในเข่าเอง เช่น คนสูงอายุที่มีข้อเสื่อมเรื้อรัง พวกนี้ก็จะปวดเข่าแล้วมีเข่าบวมด้วย

หรือว่าเกิดจากการอักเสบชนิดต่างๆ เช่น โรคเก๊าท์ โรครูมาตอยด์

สำหรับอาการปวดเข่าที่รู้สึกว่าพอเดินๆ อยู่มีอาการเข่าอ่อนหรือเข่าสะดุดติด จู่ๆ เดินๆ แล้วก็เข่าย่อลงไปมักจะเกิดจากมีบางสิ่งบางอย่างภายในข้อกีดขวางจากการงอหรือการเหยียดเข่าให้เต็มที่ในทันทีทันใด เช่น มีเส้นเอ็นหรือกระดูกอ่อนภายในหัวเข่าฉีกขาดหรือมีเศษกระดูกเล็กๆ ที่หลุดอยู่ภายในข้อเข่า

นพ.วิชนารถ : อาการปวดเข่าประเภทใดที่เป็นกันบ่อย

พญ.เล็ก : ปวดเข่าที่เกิดจากข้อเสื่อม

นพ.วิชนารถ : เมื่อเกิดข้อเสื่อมแล้วผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดหรือไม่

พญ.เล็ก : ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดหรือไม่มันอยู่ที่สมรรถภาพของกล้ามเนื้อรอบๆ เข่า คือ ข้อเสื่อมเป็นกันทุกคน แต่ถ้ากล้ามเนื้อรอบๆ ข้อแข็งแรงเราก็จะไม่มีอาการปวดเข่าเท่าไรเพราะฉะนั้นที่พบบ่อยก็คือ อาการสมรรถภาพของกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นรอบๆ ข้อไม่แข็งแรง

นพ.วิชนารถ : พบในพวกไหนมากและอายุขนาดไหนครับ

พญ.เล็ก : เคยเจอตั้งแต่เด็กอายุ 2 ขวบ จนอายุ 80-90 นั่งรถเข็นมา เพราะฉะนั้นเป็นโรคที่พบได้ทุกเพศทุกวัยแล้วแต่พยาธิสภาพซึ่งมันต่างกัน ที่เจอบ่อยๆ ก็มักจะเกิดจากเอ็นอักเสบหรือว่าข้อเคล็ด

คนที่ยังหนุ่มสาวอยู่ อายุ 20-30 ไปวิ่งหรือทำอะไรที่ปกติไม่ได้ออกกำลังมากยังงั้นหรือว่านอนๆ ไปเดินเที่ยวขึ้นเขาลงห้วยพอกลับมาก็ปวด

อีกพวกหนึ่ง คือ พวกวัยกลางคนหรือผู้สูงอายุขึ้นไปเกิดจากข้อเสื่อม

นพ.วิชนารถ : คนที่รูปร่างแข็งแรงละครับ?

พญ.เล็ก : กรรมกรที่รูปร่างแข็งแรงกำยำมากก็ยังปวดเข่าได้ เนื่องจากว่าเขาอาจจะต้องแบกข้าวสาร 100 กก. แล้วก็ต้องเดินมาก เขาก็มีอาการปวดเข่าได้ทั้งที่เข่าของเขาเทียบกับคนปกติยังแข็งแรง ทั้งนี้เพราะปริมาณงานที่เขาต้องทำมากกว่าสมรรถภาพกล้ามเนื้อเข่าของเขา

นพ.วิชนารถ : เราควรระวังรักษาสุขภาพของข้ออย่างไรดีถึงใช้ได้นานๆ ไม่ค่อยเสื่อม

พญ.เล็ก : หลักการก็คือว่า ถ้าผู้ใดต้องการป้องกันไม่ให้ตัวเองปวดเข่าหรือผู้ที่มีอาการปวดเข่าบ้างแล้วแต่ไม่รุ่นแรง ก็ต้องรู้จักฝึกฝนกล้ามเนื้อของตัวเอง กล้ามเนื้อรอบๆ หัวเข่าให้แข็งแรงขึ้น ให้เกินกว่าปริมาณงานที่เข่าต้องทำ แล้วก็มีวิธีที่จะทำให้เข่านั้นถูกแรงกระทบกระเทือนน้อยที่สุด

การที่นั่งยองๆ นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิอยู่เรื่อยๆ มันไม่ดีแก่หัวเข่าเพราะว่าท่าเหล่านั้นทำให้เข่าถูกพับ แล้วบางครั้งก็กดทับถูกเส้นเลือดที่ไปเลี้ยง เรียกว่าเลือดลมวิ่งไม่ดี ทำให้ปวดเข่าหรือเข่าเสื่อมได้ง่าย ก็ควรหลีกเลี่ยงจากท่าทางที่นั่งนานๆ หรือว่าพับเข่านานๆ บวกกับรู้จักบริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรงขึ้น ก็จะทำให้ไม่ปวดเข่าหรือป้องกันไม่ให้ปวดเข่าได้

นพ.วิชนารถ : ถ้าเผื่อจะออกกำลังกายด้วยการเดินควรจะเป็นกี่นาทีหรือออกกำลังกายอยู่กับบ้าน

พญ.เล็ก : ขึ้นอยู่กับสมรรถภาพของผู้นั้น ถ้าเป็นคนธรรมดาที่ยังแข็งแรงแล้วไม่มีอาการอะไรอยู่ การเดินหรือแม้แต่วิ่งเหยาะๆ สักวันละกิโล-2 กิโล แล้วหลังจากวิ่งถ้าไม่เกิดอาการปวดหรือหลังจากเดินแล้วไม่เกิดอาการปวดในวันรุ่งขึ้นหรือบ่ายนั้น ก็แสดงว่าเข่านั่นออกกำลังกายแบบนั้นได้

ถ้าบางท่านไปวิ่งหรือไปเดินไกลหน่อยกลับมาปวด ก็เป็นการเตือนว่าสมรรถภาพของเข่าของท่านยังเหมาะที่จะออกกำลังกายแบบนั้น บางท่านก็ยังมีโอกาสจะเข้าไปในทีมกับเพื่อนฝูงได้อีกหลังจากที่ท่านรู้จักฝึกให้กล้ามเนื้อเข่าแข็งแรงกว่านั้น

นพ.วิชนารถ : คือ ต้องเริ่มต้นไปทีละน้อยก่อน บางคนพอไปเล่นกีฬาเสร็จเกิดเมื่อยทำอย่างไรก็ไม่หายต้องให้คนอื่นนวดให้ พวกนี้เป็นจริงหรือเป็นหลอก

พญ.เล็ก : ถ้าเผื่อทำอย่างไรไม่หาย การนวดอาจจะหายเฉพาะช่วงที่เรานวด การนวดก็อาจเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายความเครียดความเจ็บปวดได้ แต่รับรองนวดเสร็จกลับมาบ้านก็ปวดอีก เนื่องจากไม่ได้ไปตัดวงจรที่เป็นสาเหตุของปวดเข่า คือคนที่จะหายปวดเข่าจริงๆ จะต้องฝึกให้กล้ามเนื้อแข็งแรงกว่าปริมาณที่ท่านต้องทำหรือต้องใช้เข่านั่น

นพ.วิชนารถ : การนวดเพื่อให้หายปวด รู้สึกว่าจะเป็นที่นิยมในบ้านเรามาก

พญ.เล็ก : คือ เท่าที่ผ่านมารู้สึกไม่มีประเทศไหนที่นิยมนวดแบบมโหฬารหรือว่ารุนแรงเหมือนกับประเทศเราที่ทำๆ กันอยู่

พบมากเลยว่า การนวดที่รุนแรงเกินไป ทำให้ข้อยิ่งชํ้า ทำให้เส้นเอ็นขาด นวดจนขาเดินไม่ได้ หมุนได้รอบทิศก็มิจนพิการไปเลย บางคนก็นวดจนระบมขึ้นมามีเส้นเลือดแตกจนเห็นเป็นฟกชํ้าดำเขียวไปหมดทั้งขา

เพราะฉะนั้นขอเตือนว่าการนวด ถ้าไม่จำเป็นแล้วอย่าทำถ้าไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญการนวดโดยเฉพาะ เช่น พวกนักกายภาพบำบัด ทุกวันนี้เจอๆ ไม่ใช่โรคข้อเข่าที่มาหา แต่เป็นการนวดที่ดุเดือด

นพ.วิชนารถ : แล้วมีวิธีอื่นที่จะรักษาบรรเทาไหม เคยเห็นคนใช้นํ้ามันบ้าง กินยาแก้ปวดบ้าง

พญ.เล็ก : ในวัยกลางคนหรือคนสูงอายุ ปวดเข่ามักจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปตอนแรกๆ จะปวดเมื่อยหลังจากเดินไกล หรือยืนนานไปพอพักก็หาย พวกนี้เวลาเดินท่านต้องเดินน้อยกว่านั้น หรือยืนน้อยกว่านั้นแล้วพัก แล้วก็เริ่มออกกำลังกายหัวเข่าก็จะดีขึ้น หรือใช้กระเป๋าน้าร้อนประคบหรือใช้นํ้ามันทำให้ร้อนๆ แล้วนวด

แต่สำหรับที่มีอาการปวดเข่าอย่างเฉียบพลัน เช่น พวกนักกีฬาที่เกิดจากเล่นกีฬาแล้วปวดเข่าอย่างเฉียบพลัน ห้ามนวด เอายาหรือนํ้ามันรวมทั้งกระเป๋านํ้าร้อนประคบก็ไม่ได้ เพราะว่ามีเลือดออก มีการฉีกขาด อาจจะเป็นของเส้นเอ็นซึ่งระยะนั้นถ้าท่านไปถูอะไรร้อนๆ ผลก็คือ ทำให้มันบวมขึ้น ทำให้เลือดออกมากขึ้น หายช้า วิธีที่ดีคือ ให้พักอยู่เฉยๆ แล้วเอากระเป๋านํ้าเย็นหรือนํ้าแข็งวางใน 24 ชม. แรกๆ อย่าใช้อะไรร้อนๆ ถูหรือนวดเด็ดขาด แต่เลย 24 ชม. ไปแล้วอาจจะใช้ประคบด้วยนํ้าร้อนหรือนวดก็ไม่เป็นไร

นพ.วิชนารถ : แบบชาวบ้านที่เขาเอาใบพลับพลึงมาประคบบ้างหรือหาใบตำลึงมาทำบ้าง อย่างนี้จะเป็นประโยชน์มากน้อยอะไรเท่าไหน

พญ.เล็ก : การที่เอาใบพลับพลึงอังไฟมาประคบ มีหลักการคล้ายๆ กับเอากระเป๋านํ้าร้อนหรือผ้าชุบนํ้าอุ่นมาประคบ คือทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ความเครียด แล้วอาจทำให้เลือดวิ่งไหลเวียนดีขึ้น

นพ.วิชนารถ : เหมาะสำหรับพวกไหน

พญ.เล็ก : ก็พวกที่ปวดเข่าจากข้อเสื่อมหรือว่าผู้สูงอายุ แต่อย่าร้อนเกินไปผิวหนังอาจพุพองเพราะว่าใช้ใบพลับพลึงหรือกระเป๋านํ้าร้อนที่ร้อนจัดจริงๆ พวกนี้ก็อันตราย

นพ.วิชนารถ : ยาที่เขาเรียกคลายกล้ามเนื้อ บางที่พวกนักกีฬาชอบใช้กันจะเป็นประโยชน์ไหม

พญ.เล็ก : ยาคลายกล้ามเนื้อถ้าเป็นยาชุดจะอันตรายมาก เนื่องจากว่ามันไม่ใช่เป็นยาคลายกล้ามเนื้ออย่างเดียว อาจจะมีพวกเพรดนิโซโลน มีพวกยาอันตรายพวกเฟนิลบิวตาโซน ซึ่งมันทำให้หายปวดได้ แต่จะเสี่ยงกับผลข้างเคียงของยาค่อนข้างมากทีเดียว

วิธีที่ดีถ้าท่านปวดรุนแรงตอนแรกให้อยู่เฉยๆ ประคบเย็นจนเลย 24 ชม. แล้วค่อยประคบร้อนหรือว่า นวดให้ถูกหลัก ใน 2-3 วัน ก็จะหายไปเยอะ หรือจะใช้ผ้าพันหัวเข่าถ้าท่านมีความจำเป็น ต้องเดินหรือต้องวิ่ง

นพ.วิชนารถ : อาจารย์มีอะไรแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไปบ้าง

พญ.เล็ก : คือ หลายๆ ท่านจะเข้าใจว่าถ้าปวดเข่าในวัยกลางคนหรือผู้สูงอายุเกิดจากข้อเสื่อม แปลว่าไม่มีทางหายอีกแล้ว

ไม่จริงค่ะ โรคหรืออาการปวดข้อ-เป็นสิ่งที่หายได้ แม้ว่าพยาธิสภาพในข้อจากการเสื่อมตามอายุขัย

ท่านคงเคยเห็นคุณลุงอายุ 80 บางท่านเดินเก่งกว่าคนอายุ 40 อีก ทั้งที่ถ้าไปเอกซเรย์ที่เข่าคุณลุงจะมีลักษณะเข่าเสื่อมเหมือนๆ กัน ตามอายุ แต่เนื่องจากว่าสมรรถภาพของกล้ามเนื้อของลุงนั่นดี ก็เลยไม่ปวด

คือ ถ้าเผื่อเรามีวิธีที่จะฝึกกล้ามเนื้อเข่าให้แข็งแรงขึ้น อาการปวดจะหายไปโดยไม่ต้องใช้ยาอะไรเลย

ข้อมูลสื่อ

73-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 73
พฤษภาคม 2528
นพ.วิชนารถ เพรชบุตร