• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไข้เลือดออก

ไข้เลือดออก

ตื่นแต่เช้า ออกกำลังกายให้สดชื่น พร้อมเปิดวิทยุ (เมดอินไทยแลนด์) ไปที่คลื่น 864 กิโลเฮิรตซ์สถานี ปชส.7 รายการ “สุขภาพประจำวัน” เวลา 5.00 น.-5.15 น. ทุกวันจันทร์ถึงวันเสาร์ และรายการ “หมอชาวบ้าน” เวลา 4.30-5.00 น. ทุกวันเสาร์

ปกติแล้วมีโรคของเด็กอยู่โรคหนึ่งซึ่งพ่อแม่มักจะกลัวกัน คือเมื่อลูกหลานเป็นไข้ก็กังวลว่าจะเป็นไข้อะไรกันแน่ ส่วนใหญ่แล้วจะกลัวเป็นไข้เลือดออก เพราะกล่าวกันว่าเป็นไข้เลือดออกแล้วจะมีอันตรายมาก ความจริงไข้เลือดออกถ้าเผื่อรักษาได้ทันเวลาก็ไม่เป็นอันตรายเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม เพื่อความเข้าใจของทุกๆ ท่านซึ่งมีลูกหลาน ในวันนี้จึงขอเชิญฟังคำอธิบายของ รศ.พญ.พงษ์ จันทร์หัตถีรัตน์ แห่งภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

นพ.วิชนารถ: โรคไข้เลือดออกเกิดจากอะไร และติดต่อได้ไหม

พญ.พงษ์จันทร์: เกิดจากเชื้อไวรัส 3-4 ชนิด สื่อที่เป็นตัวพาโรคนี้มาสู่คนก็คือยุงลาย ซึ่งชอบออกหากินเวลากลางวันจากการที่หลายๆ คนในบ้านหรือในละแวกบ้านเป็น เพราะว่ายุงชนิดนี้บินไม่ไกลได้ประมาณ 400 เมตร หมายความว่ายุงตัวนั้นที่ไปกัดเพื่อนบ้านเรา มันก็มากัดลูกเราเหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็จะกัดคนในบริเวณใกล้เคียงกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าไวรัสชนิดนี้จะผ่านจากอีกคนมาหาเราเหมือนกับโรคหวัด

นพ.วิชนารถ: อาการของไข้เลือดออกในเด็กเป็นอย่างไร

พญ.พงษ์จันทร์: ในเด็กอายุตั้งแต่ 5-10 ขวบ มักมีไข้สูงลอยอยู่ 3-6 วันแล้ว ก็ตัวเย็นลงทันที อาจมีอาการซึม การสับกระส่าย อาจมีผื่นขึ้นตามตัว มีจุดเล็กๆ ขึ้นตามผิวหนัง แต่พวกไข้เลือดออกมักไม่ค่อยมีน้ำมูกมากๆ ไม่ค่อยเจ็บคอ ไม่ค่อยไอมาก ตาอาจแดงคล้ายโรคหัดได้เหมือนกัน คนที่เป็นไข้เลือดออกมักปวดศีรษะ ปวดรุนแรง ปวดท้อง อาจมีอาเจียนด้วย ปวดกล้ามเนื้อทั่วๆ ไปได้ ระยะไข้เด็กซึมลง หน้าตาแดงหรือเป็นผื่นแดงนูน บางรายถึงกับมีเลือดกำเดาไหลก็มี อาการไข้จะคงอยู่ประมาณ 3-4 วัน แล้วก็จะลดลงเป็นปกติหรือต่ำกว่าปกติอย่างรวดเร็ว “ไข้เลือดออก” ฟังดูแล้วน่ากลัวจัง

นพ.วิชนารถ: “ไข้เลือดออก” ฟังดูแล้วน่ากลัวจัง ทุกคนที่เป็นไข้เลือดออก จะต้องมีเลือดออกทุกคนหรือเปล่า

พญ.พงษ์จันทร์: ไม่จำเป็น แต่ส่วนใหญ่คนไข้ 10 คน 6-7 คนจะมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง แต่เด็กที่เป็นโรคนี้บางคนก็ไม่มีอาการมากอะไร แต่ว่าพวกที่น่ากลัวคือพวกช็อกซึ่งเราจะพบ 2-4 คนใน 10 คน

นพ.วิชนารถ: อาการช็อกจะเกิดตั้งแต่ วันไหน

พญ.พงษ์จันทร์: เกิดช่วงประมาณวันที่ 3-7 ก็ได้ บางทีก่อนไข้ลงก็ได้ ยังตัวร้อนๆ อยู่ช็อกก็มี แต่ส่วนใหญ่จะช็อกตอนไข้ลง ตอนนั้นตัวเย็น มือเท้าคล้ำ อาการช็อกก็คืออาการที่ความดันต่ำลง เลือดไปเลี้ยงสมองและอวัยวะต่างๆ ไม่พอ พอสมองขาดเลือดก็เกิดอาการกระสับกระส่ายไม่ค่อยรู้ตัว บางรายขณะช็อกอาจจะมีเลือดออกทางจมูก ทางปาก มีอาเจียนหรืออุจจาระเป็นเลือดก็มี ปัสสาวะน้อย ซึ่งอาการอย่างนี้ต้องพาไปโรงพยาบาลด่วน

นพ.วิชนารถ: มีอาการอันตรายอย่างอื่นอีกไหม

พญ.จันทร์พงษ์: นอกจากอาการช็อกก็มีอาการเลือดออกตามอวัยวะที่สำคัญ เช่น สมอง สำไส้ กระเพาะ ที่หัวใจเองก็มี

นพ.วิชนารถ: สำหรับผู้ที่ชอบใช้หนังสติ๊กรัดแขน แล้วบอกว่าถ้ามีจุดขึ้นมาแปลว่าเป็นไข้เลือดออก ข้อนี้จริงหรือเท็จอย่างไร

พญ.พงษ์จันทร์: อันนี้ชาวบ้านสามารถทดสอบเองได้ แต่ต้องประมาณวันที่ 3-6 ถ้าวันแรกทดสอบยังไม่ทราบส่วนมากประมาณวันที่ 3 ไปแล้ว ถ้าเราใช้มือเรารัดต้นแขนของคนป่วยที่สงสัยทำให้แน่นประมาณ 3-5 นาที ถ้าพบว่ามีจุดเล็กๆ ขึ้นที่ปลายแขน ถ้าจุดนี้มีไม่ถึง 10 จุด ก็อาจเกิดจากโรคอื่นหรืออาจเกิดจากไข้เลือดออกชนิดไม่รุนแรง แต่ถ้าเผื่อจุดเลือดออกเยอะๆ ก็ให้คิดว่าอาจเป็นไข้เลือดออก

นพ.วิชนารถ: ตามบ้านนอกที่อยู่ไกลหมอ ชาวบ้านจะให้การดูแลเด็กเองเด็กที่สงสัยว่าจะเป็นไข้เลือดออกควรจะทำยังไงในขั้นต้น

พญ.พงษ์จันทร์: ในตอนแรกอาการไม่ได้ต่างไปจากโรคอื่น ก็ยังบอกยาก แต่ถ้าลูกเรามีไข้สูงวันแรกให้ยาลดไข้ ถ้าคิดว่าจะเป็นไข้เลือดออกเพราะเป็นฤดูของไข้เลือดออก ก็หลีกเลี่ยงที่จะใช้ยาแอสไพริน เพราะเมื่อเป็นไข้เลือดออกเลือดจะออกอยู่แล้วไปเจอเอาแอสไพรินเข้าก็จะออกมากขึ้น ให้ใช้ยาตัวอื่นแทน เช่น พาราเซตามอล ตามด้วยการเช็ดตัวทันทีเพราะเด็กอาจชัก

เด็กในวัยที่ชักได้คือเด็กอายุก่อน 6 ขวบ ไข้สูงทันทีก็ชักได้ ให้ยาลดไข้แล้วไข้มันไม่ลดลงทันที เราต้องเช็ดตัวโดยใช้น้ำธรรมดา หลังจากนั้นให้ทานอาหารพวกมีน้ำหรืออาหารเหลว พวกที่ช็อกจะสังเกตว่าเป็นพวกที่ร่างกายขาดน้ำอยู่แล้ว เนื่องจากไข้สูง และบางรายอาเจียนด้วย เพราะฉะนั้นถ้าให้กินน้ำชดเชยไม่ทันพวกนี้ก็ช็อกเก่ง สรุปว่ากินยาลดไข้ เช็ดตัว ให้ทานอาหารพวกน้ำเยอะๆ น้ำอุ่นก็ได้ เพื่อจะได้ปัสสาวะเยอะๆ เราจะดูได้ว่าดื่มน้ำพอหรือไม่พอดูว่าเด็กปากแห้งหรือไม่

นพ.วิชนารถ: ให้ดื่มน้ำมากๆ นี้มันช่วยยังไงบ้าง นอกจากเรื่องช็อกแล้ว

พญ.พงษ์จันทร์: นอกจากเรื่องช็อกก็ช่วยทำให้ปัสสาวะดีขึ้นและร่างกายไม่ขาดน้ำ อวัยวะที่สำคัญ คือ ไตก็ทำงานได้ตลอดเวลา ช่วยทำให้เชื้อไวรัสออกไปจากร่างกายเร็วขึ้นด้วย ความร้อนก็จะลดลง ถ้าจะให้ดีควรมีเกลือหรือน้ำตาลในน้ำนิดหน่อยจะช่วยให้หายเพลีย

นพ.วิชนารถ: โรคนี้เกิดจากยุงมักจะมีมากในฤดูฝนใช่ไหม

พญ.พงษ์จันทร์: ฤดูฝนหรือหลังฤดูฝนไปนิดๆ แต่บางปี เป็นตลอดปี หน้าร้อนก็เป็น

นพ.วิชนารถ: ไข้เลือดออกมีอะไร แสลงไหม

พญ.พงษ์จันทร์: ไม่มีอะไรแสลงกินได้ทุกชนิด แต่ควรเป็นประเภทย่อยง่าย แล้วก็เป็นของเหลว คนไข้จะได้รู้สึกเหมือนกับดื่มน้ำเข้าไปเยอะๆ ของที่ควรเลี่ยงก็พวกของแข็ง เพราะช่วงนั้นเลือดออกง่าย กัดของแข็งอาจมีเลือดออกตามเหงือกหรือฟันได้

นพ.วิชนารถ: การป้องกันโรคทำยังไงดี

พญ.พงษ์จันทร์: ป้องกันเกี่ยวกับยุง พวกภาชนะที่มีน้ำขังในบ้าน โดยไม่มีประโยชน์ควรทำลายเสีย โอ่งน้ำต่างๆ ควรมีฝาปิด หรือควรล้างทุก 10 วัน หรือใส่เกลือแกงลงไปในน้ำหล่อขาตู้ ขนาด 2 ช้อนชาต่อน้ำ 1 แก้ว มียาที่คนเขาใช้ใส่ตุ่มน้ำสำหรับทำลายลูกน้ำ ท่านที่สนใจขอได้ที่สำนักงานกรุงเทพมหานคร ฝ่ายโรคติดต่อ หรือสำนักงานฝ่ายสาธารณสุขจังหวัดต่างๆ หรือเทศบาลในจังหวัด

ข้อมูลสื่อ

74-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 74
มิถุนายน 2528
นพ.วิชนารถ เพรชบุตร