• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เพิ่มพลัง ด้วยการหายใจ

เพิ่มพลัง ด้วยการหายใจ

โดย ฟิลิป สมิท  แปลและเรียบเรียง วิไลรัตน์ โสฬสจินดา


น่าทึ่งไหม! เราสามารถสู้กับสิ่งเหล่านี้ได้เช่น ความอิดโรย ความซึมเซื่อง ไม่มีสมาธิในการทำงาน ขาดภูมิต้านทานในระบบทางเดิน หายใจนอนหลับไม่สนิท ด้วยการเรียนรู้วิธี “เพิ่มพลังด้วยการหายใจ”

ลองฝึกหายใจตามขั้นตอนต่อไปนี้ จนเป็นอัตโนมัติ แล้วคุณจะพบว่า การฝึกหายใจวิธีเหล่านี้ทำให้สุขภาพอนามัยของคุณดีขึ้น

ครั้งที่แล้วได้กล่าวถึงตอนที่ 1 ฝึกหายใจให้ถูกวิธี และตอนที่ 2 สูตรสร้างพลัง ครั้งนี้จะกล่าวถึงตอนที่ 3 การหายใจเพื่อเสริมพลัง และตอนที่ 4 หายใจออกเต็มที่

ตอนที่ 3

การหายใจเพื่อเสริมพลัง

1. นั่งตามสบายบนเก้าอี้ มือเท้าสะเอว ส่วนบนของร่างกายยืดตรง

2. อ้าปากเป็นรูปวงกลม ปล่อยลิ้นตามสบาย เพื่อป้องกันไม่ได้กีดขวางทางเดินอากาศ สูดอากาศเข้าไปอย่างเร็ว ให้อากาศผ่านจากปากไปยังตอนล่างของปอดก่อน ต่อมาบริเวณซี่โครงและตอนบนของหน้าอกในที่สุด ทั้งหมดนี้ คือ การหายใจอย่างแรงและเร็ว 1 ครั้ง

3. กลั้นหายใจ 3 วินาที

4. หายใจออกแรงๆ ทางปากที่เปิดกว้าง

5. หายใจเข้าออกเร็วๆ เช่นนี้อีก 2 ครั้ง

6. ครั้งสุดท้าย หายใจออกเบาๆ ราวกับเป่าน้ำแกงร้อนๆ ให้เย็นลง

7. ทำเช่นนี้อีก 3 ครั้ง

วิธีหายใจแบบเสริมพลังนี้นำไปใช้ได้ทุกขณะ เมื่อรู้สึกว่าต้องการปลุกตัวเองให้กระชุ่มกระชวย หลังจากทำซ้ำกัน 3 ครั้ง คุณจะรู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่าขึ้นมาทันที

อาการอ่อนเพลียส่วนมากไม่ได้เกิดจากการขาดพลังงาน แต่เกิดจากการที่พลังงานถูกกีดขวาง เมื่อเกิดอารมณ์ตึงเครียด การคิดในทางร้าย และอารมณ์ซึมเศร้า

ความคิดและพฤติกรรมที่สืบเนื่องมาจากระบบประสาทของเรา อาจทำให้เราใช้พลังงานมากพอๆ กับการทำงานหนัก หรือออกกำลังกายทั้งวัน เราจึงควรเน้นที่การทำงานให้พอดี และควบคุมอารมณ์ให้เบิกบานแจ่มใสอยู่เสมอ

ส่วนประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งในการผลิตพลังงานของเรา คือ การหายใจ ออกซิเจนที่เข้าสู่ร่างกายของเรานั้น คือเชื้อเพลิงพื้นฐานสำหรับการสันดาปที่เกิดขึ้นในแต่ละเซลล์ จะด้วยวิธีใดก็ตาม ถ้าเราแทรกแซงการนำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย เราจะขัดขวางการทำงานของทุกระบบของร่างกาย ดังนั้นเราจึงไม่มีแรง

พลังงานที่ได้จากระบบการหายใจ เป็นตัวที่มีอิทธิพลต่อการทำงานของสมองพละกำลังและสุขภาพพลานามัยโดยทั่วไป เราสามารถเพิ่มคุณภาพและปริมาณขงเชื้อเพลิงออกซิเจนในร่างกายเราได้ ด้วยการฝึกหายใจให้ถูกวิธี โดยปกติแล้ว คนเราสูดอากาศเข้าไปเพียงพอสำหรับการให้มีชีวิตรอดอยู่ได้เท่านั้นเอง ถึงแม้ว่าเราจะรู้สึกปกติดี แต่ร่างกายของเราก็ไม่ได้รับเชื้อเพลิงเพียงพอ สำหรับการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่

นอกจากนี้ การหายใจธรรมดา มีส่วนช่วยในการกำจัดสารพิษต่างๆ (ที่สะสมไว้นานเนื่องจากการเสื่อมของเซลล์เนื้อเยื่อ) น้อยมาก ของเสียนี้จะสะสมอยู่ทั่วไปตามร่างกาย ซึ่งร่างกายจะมีวิธีขจัดออกเป็นประจำ ถ้าสารพิษเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นตามร่างกาย ก็จะส่งผลกระทบกระเทือนต่อการผลิตพลังงานของเรา ในไม่ช้าเราจะรู้สึกเฉื่อยชา และซึมเซื่อง

ปอด ทำหน้าที่เป็นอวัยวะขับถ่ายที่สำคัญมากอันหนึ่งของร่างกาย การหายใจออกแต่ละครั้ง คือ การขับถ่ายคาร์บอนไดออกไซด์ และของเสียอื่นๆ ซึ่งแปรสภาพเป็นก๊าซ เพราะฉะนั้นถ้าเราหายใจออกไม่เต็มที่ อากาศเสียจะตกค้างอยู่ในตอนล่างของปอด ซึ่งอาจกีดขวางการรับออกซิเจนใหม่เข้าไปอย่างมาก ถ้าเกิดกรณีเช่นนี้ เราจะรู้สึกหดหู่ ห่อเหี่ยว วิธีแก้ทันทีทันใด คือ การก้าวออกไปข้างนอก เพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์ อันจะทำให้เรารู้สึกสดชื่น และเติมพลังซึ่งกำลังใกล้จะหมด

ส่วนมากอาการอ่อนเพลียจะเกิดจากการสั่งสมอากาศเสียในปอด การหายใจออกให้หมดปอด จะช่วยขับอากาศที่หลงเหลืออยู่ออกจากปอด และรับเอาออกซิเจนใหม่ที่ช่วยเสริมพลังเข้าไปแทนที่ นี่เป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการคลายความรู้สึกเหน็ดเหนื่อยและซึมเซื่อง เนื่องจากอยู่ในห้องหรือในบ้านตลอดวัน

ตอนที่ 4

หายใจออกเต็มที่

1. นั่ง หายใจเต็มปอด ในช่วงสุดท้ายของการหายใจเข้าวิธีนี้ ให้ยืดหลังตรงและผายไหล่ทั้งสองข้างออก เพื่อให้ได้รับออกซิเจนเต็มที่

2. กลั้นไว้สักครู่หนึ่ง คือ นับ 1-10

3. อ้าปากกว้างและหายใจออกให้หมด โดยไม่ต้องเกร็ง เมื่อหายใจออกควรจะออกเสียง ฮา...ด้วย เมื่อคิดว่าหายใจออกจนสุดแรงแล้วก็ให้หุบปาก และหายใจเข้าทางจมูกเล็กน้อย พร้อมกับนับถึงสอง

4. อ้าปากอีกครั้งหนึ่ง และหายใจออกเต็มที่

5. เมื่อหายใจออกหมดแล้ว หายใจเข้าทางจมูกเล็กน้อย พร้อมกับนับถึงสอง แล้วอ้าปากอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับหายใจออกจนหมด ตบเท้าด้วยการแขม่วท้องน้อย เพื่อขับอากาศเสียที่ตกค้างอยู่ออกมา การหายใจออกแต่ละครั้งควรจะรู้สึกให้ได้ว่า เป็นการหายใจจากช่วงล่างของปอด

6. หายใจอย่างนี้ 10 ครั้ง แต่ละครั้งจะต้องมีการหายใจออกจนสุด 3 ครั้ง

คนส่วนมากมักจะคิดถึงพละกำลังในแง่ของ กำลังมหาศาลอันมีค่าที่ทุ่มให้กับความนึกคิดอย่างกระจัดกระจาย หรืองานเล็กๆ น้อย แต่เรากำลังพูดถึงพลังงานที่สงบเย็น ที่มีอยู่อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

ดังนั้นแทนที่เราจะได้รับการกระตุ้นด้วยพลังงานเป็นช่วงสั้นๆ ซึ่งจะมีเชื้อเพลิงสูญเปล่า เราจึงต้องการสภาพกำลังงานพลังสูง การหายใจที่ถูกหลัก และการควบคุม จะช่วยสร้างฐานพลังงานในการทำงานนอย่างมั่นคง ซึ่งร่างกายสามารถดึงมาใช้ได้เมื่อยามจำเป็น การหายใจเสริมชีวิตทำให้ร่างกายสดชื่นขึ้นอย่างช้าๆ แต่คงทน

ข้อมูลสื่อ

74-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 74
มิถุนายน 2528
เรื่องน่ารู้
วิไลรัตน์ โสฬสจินดา
ฟิลิป สมิท