• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปวดประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ

ปวดประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ

แปลและเรียบเรียงจากหนังสือ The Acupressure Health Book โดย Frank Bahr.M.D.

ความรู้เรื่องการจดจุดเป็นของเก่าแก่ และมีมานานหลายพันปีซึ่งเป็นที่ยอมรับของชาวจีน ศาสตร์แห่งการกดจุดได้แพร่หลายไปทั่วโลก ทั้งในอเมริกาและยุโรป Dr.Frank Bahr ท่านเป็นแพทย์ชาวเยอรมัน เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการกดจุดโดยเฉพาะ ท่านได้ศึกษาและเขียนตำราการกดจุดไว้ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ามีประโยชน์ เหมาะสำหรับการนำมาเผยแพร่แก่ประชาชนในการดูแลสุขภาพ เพราะการกดจุดก็คือศาสตร์แขนงเดียวกับการฝังเข็มที่เราๆ ท่านๆ รู้จักกันดี แต่การกดจุดเป็นการฝังเข็มโดยไร้เข็มทั้งยังไม่ก่อให้เกิดการเจ็บปวดเหมือนฝังเข็ม ไม่มีอันตรายใดๆ ต่อผู้ทำ ถ้าท่านกดได้ถูกวิธีและมีประสิทธิภาพก็จะได้ผลในการรักษา ทั้งยังช่วยเสริมการรักษาของแพทย์ให้หายเร็วขึ้น แต่ถ้าท่านทำแล้วไม่ได้ผลก็ไม่มีข้อเสียหายอะไร

คุณผู้หญิงจำนวนมากเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยสาว จะมีปัญหาในเรื่องประจำเดือน ซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากระดับฮอร์โมนเพศในร่างกายยังไม่คงที่ จึงทำให้เกิดปัญหาประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ และปวดประจำเดือน การกดจุดจะช่วยปรับประจำเดือนให้เข้าที่ได้

อาการ

ประจำเดือนปกติ 27-28 วันจะมาครั้ง (แต่บางรายอาจเร็วหรือช้ากว่านี้ได้ประมาณ 24-35 วันครั้ง) เมื่อระดับฮอร์โมนยังไม่คงที่ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของรอบเดือนได้ เช่น มาไม่สม่ำเสมอ เลือดประจำเดือนที่ออกบางครั้งอาจจะมากบ้าง น้อยบ้าง และตามมาด้วยอาการปวดท้องน้อย บางรายมีปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ใจคอหงุดหงิด ถ้าปวดมากอาจตัวเย็นเหงื่อออก เชื่อว่าอารมณ์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปวดประจำเดือน ควรหลีกเลี่ยงอารมณ์ที่ขุ่นมัว

สาเหตุ

หญิงที่เริ่มเข้าสู่วัยสาว ร่างกายจะเริ่มมีการผลิตฮอร์โมนทางเพศขึ้น ซึ่งก็เป็นธรรมดาที่ในระยะแรกการทำงานก็ยังไม่สมบูรณ์ดีนัก (เปรียบเสมือนเครื่องจักรที่เริ่มทำงาน ก็อาจมีการติดขัดบ้าง เมื่ออุ่นเครื่องได้ที่ดีแล้ว เครื่องก็จะเดินได้สม่ำเสมอไปเรื่อยๆ ) ต่อมร่างกายจะค่อยปรับดีขึ้นเอง โดยเฉพาะหลังคลอดบุตรคนแรกอาการเล่านี้จะหายได้

เมื่อคุณผู้หญิงเริ่มมีปัญหาเรื่องประจำเดือน บางครั้งก็ไม่อาจนอนใจเสียทีเดียว ควรจะหาโอกาสพบสูตินรีแพทย์สักครั้ง เพื่อให้วินิจฉัยอาการที่แน่นอนว่าไม่มีโรคร้ายแรงซ่อนอยู่ภายใน โดยเฉพาะผู้หญิงวัยกลางคืน ควรนึกถึงความผิดปกติอื่นๆ เช่น เนื้องอกในมดลูก ปีกมดลูกอักเสบเรื้อรัง ฯลฯ ควรให้แพทย์ตรวจภายในให้แน่นอนแล้วจึงทำการกดจุด ท่านสามารถกดจุดร่วมกับการรักษาของแพทย์ได้ ซึ่งจะทำให้การรักษาได้ผลดีขึ้นเร็ว

จุดที่อยู่บนร่างกาย

1. จุด “เกอจูเยน” (k’o-chu-jen) ควบคุมฮอร์โมนให้สม่ำเสมอ

วิธีหาจุด:

จะพบแอ่งเล็กๆ อยู่บนยอดของกระดูกขากรรไกร เมื่ออ้าปากจะคลำพบ แอ่งนี้อยู่ห่างจากใบหูประมาณ 2 นิ้วมือ

วิธีนวด:

นวดขึ้นบน

 

2. จุด “ซานยินเจียว” (San-yin-chiao) จุดนี้สำหรับอาการปวดบริเวณเชิงกรานทั้งหมด

วิธีหาจุด:

อยู่เหนือกระดูกข้อเท้าด้านในประมาณ 3-4 นิ้วมือ

วิธีนวด:

นวดขึ้นบน

 

 

3. จุด “ฉี้ไห่” (Chi-hai) เป็นจุดพลังงานทั่วๆ ไป เมื่อกระตุ้นจุดนี้จะมีผลทำให้ระบบต่างๆ ในร่างกายที่เกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือน ทำงานได้อย่างเหมาะสม

วิธีหาจุด:

อยู่ต่ำกว่าสะดือประมาณ 2-3 นิ้วมือ

วิธีนวด:

นวดขึ้นบน

 

จุดที่อยู่บนใบหู

 

 

หูขวา:

1. จุดที่เกี่ยวกับหน้าที่ของรังไข่และมดลูก

วิธีหาจุด:

อยู่ข้างๆ ร่องของสันหูส่วนที่โผล่มาจากแอ่งหู

วิธีนวด:

นวดขึ้นบนไปตามแนวสันหู

หูซ้าย:

นวดในตำแหน่งเดียวกันกับสันหูขวา แต่ในทิศทางการนวดตรงกันข้าม

การรักษา

กดจุดที่ร่างกายและใบหู ทำสลับวันกัน, นวดวันละ 1-3 ครั้ง และให้นวดค่อนข้างแรงก่อนประจำเดือนมา 2-3 วัน และนวดเบาๆ ระหว่างที่มีประจำเดือน

 

ข้อแนะนำทั่วไปก่อนกดจุด

1. นั่งหรือนอนในท่าที่สบายมือที่จะกดจุดไม่ควรจะเย็นถ้าเย็นควรทำมือให้อุ่นก่อนโดยแช่ในน้ำอุ่นหรือใช้ผ้าห่มมือไว้

2. ถ้าท่านมีผิวหนังที่แพ้ง่ายอาจจะโลชั่นหรือแป้งฝุ่นทาบริเวณที่จะกดจุดก่อนลงมือกดจุด

3. ระหว่างทำการกดจุดบางรายอาจมีเหงื่ออกมากควรให้พักระหว่างการกดจุดได้

4. ในวันที่อากาศหนาวเย็นเมื่อกดจุดเสร็จเรียบร้อยแล้วก่อนออกไปนอกบ้านควรสวมเสื้อให้อบอุ่น

 

ข้อแนะนำก่อนกดจุด

1. การกดจุด หมายถึง การนวดจุดๆ นั้นโดยใช้ปลายนิ้วมือที่เล็บสั้น

2. อ่านและดูรูปที่แสดงตำแหน่งการกดจุดให้เข้าใจ แล้วลองกดจุดที่อยู่บนร่างกาย สำหรับจุดที่อยู่บนใบหูอาจจะใช้กระจกส่องเพื่อหาจุด หรือวานให้ใครคนใดคนหนึ่งดูจุดนั้นในรูปแล้วชี้ตำแหน่งให้

3. เมื่อท่านกดถูกจุดๆ นั้นจะให้ความรู้สึกได้ดีกว่าบริเวณรอบๆ และควรกดจุดให้แรงพอ

4. นิ้วมือที่นิยมใช้กดจุด มักใช้นิ้วชี้ โดยใช้ปลายนิ้วมือตั้งฉากกับผิวหนัง แล้วนวดไปทางที่ลูกศรชี้ในภาพ นวด (ถู) ออกไปเป็นระยะทาง 1 นิ้ว การนวดควรนวดประมาณ 30 ครั้ง ต่อ 10 วินาที หรือ 70-100 ครั้งต่อนาที

5. จุดบนใบหูอาจจะใช้ปลายนิ้วก้อยหรือปลายดินสอ, ปากกามนๆ นวดได้เพราะบริเวณใบหูเล็กและแคบกว่าร่างกาย

6. การกดจุดตามหลักของจีนได้กำหนดเวลาในการกดจุดแต่ละครั้งไว้ ดังนี้

  • เด็กอายุ 0-3 เดือน ใช้เวลากดทั้งหมด ½ -3นาที
  • เด็กอายุ 3-6 เดือน ใช้เวลากดทั้งหมด 1-4 นาที
  • เด็กอายุ 6-12 เดือน ใช้เวลากดทั้งหมด 1-5 นาที
  • เด็กอายุ1-3ปี ใช้เวลากดทั้งหมด 3-7 นาที
  • เด็กโตตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ใช้เวลากดทั้งหมด 5-10 นาที
  • ผู้ใหญ่ ใช้เวลากดทั้งหมด 5-10-15 นาที

7. จุดที่กดอยู่บนร่างกาย ควรกดหรือนวดทั้ง 2 ข้างของลำตัว (ร่างกายจะแบ่งเป็น2ข้าง คือ ข้างขวาและซ้าย)

8.ระยะต่างๆ ที่ใช้ในการวัด จะวัดจากความกว้างของนิ้วของผู้กดจุดอง

ข้อมูลสื่อ

74-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 74
มิถุนายน 2528
ลลิตา อาชานานุภาพ