• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ชา: กินเป็นยา

ชา: กินเป็นยา

อาหารสมุนไพรที่ใช้ในการรักษาอาการหรือโรคที่นำมาเสนอนี้ เป็นการศึกษาของประเทศจีน หากท่านผู้อ่านท่านใดไม่เคยใช้ในการรักษาอาการ หรือโรคใดและได้ผล กรุณาแจ้งมายัง “หมอชาวบ้าน” เพื่อรวบรวมไว้เป็นข้อมูลในการศึกษา และเผยแพร่เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป

ชา กาแฟ โกโก้ เป็นเครื่องดื่มที่มนุษย์ทั่วโลกนิยมดื่มกัน แต่ใน 3 ชนิดนี้ ชาเป็นเครื่องดื่มที่นิยมกันมากที่สุด และประวัติศาสตร์มาเป็นเวลายาวนาน

ในสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 620-907) ลุ่ยวี่จ้วน ได้เขียนหนังสือ ฉาจิง (คัมภีร์ชา) ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับประวัติการปลูกชา ทำชา การต้มหรือชงชาก่อนสมัยราชวงศ์ถัง นับเป็นหนังสือเกี่ยวกับชาเล่มแรกของจีนและของโลกด้วย

จีนเป็นชาติแรกที่รู้จักชาเมื่อ 4-5 พันปีมาแล้ว โดยในสมัยโบราณชาเป็นเครื่องเซ่นไหว้เจ้า ทำอาหาร เป็นยา และเป็นเครื่องดื่มในที่สุด

การแพร่ของชาไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ต้นคริสศตวรรษที่ 9 ชาวญี่ปุ่นได้นำเมล็ดพันธุ์ชาจากจีนไปปลูกในญี่ปุ่น และตั้งแต่นั้นมา ชา ก็กลายเป็นเครื่องดื่มประจำชาติของชาวญี่ปุ่น ทุกวันนี้นอกจากชาวญี่ปุ่นชอบดื่มน้ำชาแล้ว ยังให้ความสนใจในศิลปะการดื่มน้ำชาหรือที่เรียกว่า chado อีกด้วย

ปลายคริสศตวรรษที่ 9 พ่อค้าชาวหรับซึ่งเป็นชาติแรกที่ทำการค้ากับจีน และผลจากการค้าขาย ทำให้ชาถูกนำไปเผยแพร่ในประเทศอาหรับ

ปี ค.ศ.1516 (พ.ศ. 2059) ชาวโปรตุเกสเป็นฝรั่งชาติแรกที่ทำการค้ากับจีน และต่อมาก็ได้นำเอาชาเผยแพร่เข้าไปในยุโรปทำให้ชาวยุโรป รู้จักการดื่มชา

กวางตุ้ง เป็นมณฑลแรกที่ทำการส่งใบชาออกไปขายยังต่างประเทศ ต่อมาก็เป็นเซี่ยเหมิน (เมืองหลวงของฮกเกี้ยน) ดังนั้นชื่อของชาทั่วโลกเรียกจึงแผลงมาจาก ภาษากวางตุ้ง (เรียก ฉ่า) และเซี่ยเหมิน (เรียก เต) เช่น ในสมัยหนานฉาว ในปี ค.ศ. 483-493 พ่อค้าชาวตุรกีก็ได้ซื้อชาจากจีนไปขายให้ชาวอาหรับ และในระยะแรกชาวอาหรับเรียกชาว่า Chah หรือ Sax ต่อมาเรียก Shai ชาวตุรกีเรียก Chay ซึ่งมาจากภาษากวางตุ้งซึ่งเรียกใบชาว่า Chay (ฉ่าหยิบ)

สรรพคุณ

ชามีคุณสมบัติ เย็น (เป็นยิน) มีรสขม (เล็กน้อย) ชุ่มคอ แก้บิด ท้องเสีย ดับร้อนถอนพิษ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ช่วยย่อย ขับปัสสาวะ บำรุงหัวใจ

1. ป้องกันและรักษาความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ: Catechin และวิตามินซีและพี สามารถลดโคเรสเตอรอลในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดมีความยืดหยุ่น ป้องกันการสะสมของไขมันในตับ และป้องกันการแข็งตัวของหลอดเลือด

2. กินสิ่งมีพิษเข้าไป: ในใบชามี tannic acid ซึ่งเมื่อรวมกับพวกโลหะหรือด่างจะตกตะกอน ทำให้ร่างกายดูดซึมได้ช้าลง สำหรับผู้ที่ไม่ระวังกินสารหนูหรือยาเกินขนาน ก่อนที่จะส่งโรงพยาบาลให้ดื่มชาเข้มข้น จะทำให้สารพิษถูกดูดซึมน้อยและช้า และทำให้สารพิษบางส่วนถูกขับออกจากร่างกาย

สำหรับผู้สูบบุหรี่หรือดื่มเหล้า ชาจะช่วยลดพิษจากบุหรี่และทำให้สร่างเมา เพราะ tannin จะทำให้นิโคติน (Nicotin) ตกตะกอนและขับออกมาทางปัสสาวะ

3. โรคเกี่ยวกับลำไส้: tannic acid และสารอื่นๆ ในช้ามีฤทธิ์ทำการเคลื่อนไหวของลำไส้ช้าลง ทำให้การดูดสารพิษในลำไส้ถูกดูดซึมน้อย และสามารถยับยั้งเชื้อบิดและ typhoid bacillus จึงสามารถรักษาโรคบิดและท้องเสียได้

4. แผลบริเวณผิวหนังหรือปากหรือลิ้น: ใบชามีฤทธิ์ยบยั้งเชื้อ และสมานแผลทำให้หายเร็ว

4.1 เป็นแผลเน่ามีหนองไหล: ใช้น้ำชาเข้มข้นล้างแผลแล้วใส่ยา จะทำให้แผลหายเร็วกว่าใส่ยาเพียงอย่างเดียว

4.2 ลิ้นเป็นแผล: ใช้น้ำชาบ้วนปากเป็นประจำ

4.3 ปากเหม็น: ใช้น้ำชาบ้วนปากเป็นประจำ จะดับกลิ่นปากได้

5. กระเพาะปัสสาวะอักเสบหรือทางเดินปัสสาวะติดเชื้อ: ถ้าต่อมหมวกไตหรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบหรือทางเดินปัสสาวะติดเชื้อเมื่อมีอาการให้ดื่มน้ำชาหลายแก้วก็จะทำให้รู้สึกสบายขึ้นขณะที่ให้ยาให้ดื่มน้ำชาช่วยด้วยจะทำให้อาการหายเร็วขึ้น

6. ทำให้จิตใจแจ่มใส ช่วยย่อย: คาเฟอีนในชาจะช่วยกระตุ้นสมอง ทำให้หัวใจเต้นเร็ว เลือดไหลเวียนเร็วขึ้น น้ำย่อยเพิ่มขึ้น ไตขับปัสสาวะมากขึ้น

หลังจากกินอาหารจำพวกเนื้อปลาหรืออาหารมันๆ ควรดื่มน้ำชาจะทำให้รู้สึกสบาย

ผลทางเภสัชวิทยา

ผลทางเภสัชวิทยาของใบชาส่วนใหญ่เกิดจาก Xnthine derivative (Caffeine และ Theophylline) นอกจากนี้ยังมี tannic acid จำนวนมาก ทำให้มีฤทธิ์ฝาดสมาน ยับยั้งเชื้อโรค และมีฤทธิ์คล้ายวิตามินพี

1. ฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง: caffeine มีฤทธิ์กระตุ้นให้สมองแจ่มใส ขจัดความเมื่อยล้า ถ้าใช้เกินขนาดจะทำให้นอนไม่หลับ หัวใจเต้นเร็ว ปวดหัวหูอื้อ ตาลาย เป็นต้น

2. ฤทธิ์ต่อระบบการไหลเวียนของโลหิต: caffeine และ Theophylline มีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ ขยายหลอดเลือด artery coronary และหลอดเลือดส่วนปลายโดยตรง

3. ฤทธิ์ต่อกล้ามเนื้อเรียบ (Smooth muscle) และกล้ามเนื้อลาย (Striated muscle) : Theophylline มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบ ดังนั้นจึงใช้รักษาอาการหืดหอบที่เกิดจากหลอดลม อาการปอด ถุงน้ำดี เป็นต้น นอกจากนี้ caffeine ยังสามารถช่วยให้กล้ามเนื้อลายบีบตัวได้แรงขึ้นอีกด้วย

4. ฤทธิ์ขับปัสสาวะและอื่นๆ: Caffeine โดยเฉพาะ Theophylline มีฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมใหม่ (reabsorption) ของท่าไต (venal tubules) ดังนั้นจึงมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ Caffeine มีฤทธิ์ทำให้กระเพาะอาหารหลั่งน้ำย่อย ดังนั้นผู้ที่เป็นแผลในกระเพาะอาหารชนิดเคลื่อนไหวและการย่อย ไม่ควรดื่มน้ำชา

5. ฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อ: น้ำชาที่ได้จากการแช่หรือชงใบชา เมื่อทดลองในหลอดทดลองจะมีฤทธิ์ต่อต้าน Bacillus dysenteriac ทุกชนิด โดยทั่วไปชาดอกไม้ (ชาที่ผสมดอกมะลิ) ชาเขียวมีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อดีกว่าชาแดง

6. ฝาดสมานและเพิ่มการต้านทานของหลอดเลือดฝอย: tannin ในชามีฤทธิ์ฝาดสมานกระเพาะอาหารและลำไส้

ในใบชามี caffeine 2-3% ดังนั้นในน้ำชาที่มีรสเข้มข้น 1 แก้วจะมี caffeine ประมาณ 0.1 กรัม ชาที่ชงแล้วเทไม่แช่นานๆ caffeine ส่วนใหญ่จะละลายออกมา แต่สำหรับtannin จะออกมาเพียงบางส่วน (tannin จะขัดขวางการย่อย) ดังนั้นการชงชาจึงไม่ควรแช่นานๆ

หมายเหตุ:

ใบชาเป็นเครื่องดื่มที่มีประโยชน์มากมาย แต่ในการดื่มน้ำชาจะต้องดื่มให้เหมาะสม จึงจะเกิดประโยชน์แก่ผู้ที่นอนไม่หลับ และผู้ที่มีความดันสูง ก่อนนอนไม่ควรดื่มน้ำชา สตรีมีครรภ์และมีอาการท้องผูกเสมอไม่ควรดื่มน้ำชา

ข้อมูลสื่อ

74-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 74
มิถุนายน 2528
อาหารสมุนไพร
วิทิต วัณนาวิบูล