• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เส้นประสาท

เส้นประสาท
 

 


 

ระบบประสาทประกอบด้วยสองส่วน คือ ส่วนแรกเป็นศูนย์บัญชาการ ได้แก่ สมองและไขสันหลัง ส่วนหลังเป็นเส้นประสาทที่แผ่คลุมไปถึงส่วนต่างๆ ของร่างกาย เปรียบเสมือนเครือข่ายแห่งการสื่อสาร

ไขสันหลังเป็นส่วนที่อยู่ต่อออกมาจากสมองส่วนท้าย ไขสันหลังเชื่อมต่อเป็นเนื้อเดียวกัน ทอดยาวลงไปในรูของกระดูกสันหลัง แต่ละข้อของกระดูกสันหลังมีเส้นประสาทแยกออกไปยังแขนขา เป็นเส้นประสาทที่นำเอาคำสั่งจากสมองไปสั่งงานแก่กล้ามเนื้อ และในขณะเดียวกันก็รับเอาข่าวสารหรือความรู้สึกกลับเข้าสู่สมอง

เซลล์ประสาทเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของระบบประสาท เซลล์ประสาทมีรูปร่างแปลกกว่าเซลล์ร่างกายอื่นๆ ที่เป็นรูปกลม เซลล์ประสาทเป็นเซลล์รูปร่างเหมือนดาว มีแฉกยื่นออกไปรอบตัว แฉกสั้นมีหลายอันเรียกว่า เดนไดรท์ มีแฉกยาว 1 อัน เรียก แอกซอน

เซลล์ประสาทแต่ละเซลล์มีเดนไดร์ทหลายอัน เดนไดร์ทสั้นและมักแตกแขนงออกจนดูคล้ายกับเป็นกิ่งไม้ที่อยู่รอบๆ เซลล์ ส่วนแอกซอนนั้นยาวและบาง ยื่นออกไปได้ไกลๆ แอกซอนของบางเซลล์ก็ยาวเพียงไม่กี่เซนติเมตร แต่ของบางเซลล์ก็ยาวมาก คือ ยาวตั้งแต่ไขสันหลังไปจนจรดปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า

แอกซอนหลายๆ อันมารวมกันเป็นเส้นประสาท ดังนั้นเส้นประสาทก็คือ มัดของแอกซอนหรือเป็นส่วนหนึ่งของเซลล์ประสาทเท่านั้น ปลายของแอกซอนของแต่ละเซลล์ ประสาทจะแตกแขนงออกไปเชื่อมกับเดนไดรท์ของเซลล์ประสาทอื่น การผ่านสัญญาณในระบบประสาทจะถูกส่งออกทางแอกซอนของเซลล์ประสาทตัวที่หนึ่ง ผ่านจุดเชื่อม แล้วเข้าสู่เดนไดรท์ของเซลล์ประสาทตัวที่สอง

เส้นประสาทกระจายไปทั่วร่างกาย เพื่อส่งและรับสัญญาณต่างๆ โดยมากเส้นประสาทมักจะอยู่คู่กันไปกับเส้นเลือด เส้นประสาทมี 2 ชนิด คือ เส้นประสาทสั่งงานเป็นเส้นประสาทที่ส่งสัญญาณขาออกจากศูนย์ประสาทส่วนกลางไปยังกล้ามเนื้อและต่อมในร่างกาย เส้นประสาทชนิดนี้เป็นเส้นประสาทที่นำคำสั่งของสมองไปสั่งให้กล้ามเนื้อหดตัว

เส้นประสาทอีกชนิดหนึ่ง คือ เส้นประสาทรับความรู้สึก เป็นส่วนที่รับสัญญาณเข้าไปยังศูนย์ประสาทส่วนกลางรับความรู้สึกจากปมประสาทใต้ผิวหนัง รับรู้ความเจ็บ ร้อน ความสั่นสะเทือน เป็นต้น แล้วรายงานผ่านไปให้สมองรับรู้ เพื่อสมองจะได้สั่งงานให้ร่างกายของเราตอบสนองต่อปฏิกิริยาที่มากระทบนั้นๆ ได้ถูกต้อง

เส้นประสาททั้งสองชนิดนี้ ทำงานสอดคล้องประสานกัน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อคุณถูกเข็มแทงมือ ความรู้สึกเจ็บจะถูกรับรู้โดยประสาทรับความรู้สึกที่ปลายนิ้วมือ สัญญาณเจ็บที่ได้รับ จะถูกส่งผ่านเส้นประสาทรับความรู้สึก ที่มือผ่านไปยังแขน ไปยังเซลล์ประสาทรับความรู้สึกที่ไขสันหลัง สัญญาณจะถูกส่งผ่านไปยังเซลล์ประสาทสั่งงานในไขสั่นหลังทันที เซลล์สั่งงานก็จะสั่งให้กล้ามเนื้อที่แขนหดตัว เพื่อดึงมือออกมาจากเข็มอันนั้น ปฏิกิริยาทั้งหมดนี้ กินเวลาเพียงสายฟ้าแลบ เป็นปฏิกิริยาของร่างกายที่มีประโยชน์มาก เพราะจะป้องกันไม่ให้เราเป็นอันตราย

คุณคงจะแปลกใจว่าเราดึงมือออกเสียก่อน ที่จะรู้ว่าอะไรมาแทงมือด้วยซ้ำไป เช่นเดียวกับการถูกไฟความร้อนก็จะทำให้เราหดมือกลับ ก่อนที่ไฟจะไหม้มือให้บาดเจ็บ ปฏิกิริยาทั้งหมดนี้เรียกว่า ปฏิกิริยาสะท้อนกลับ เป็นปฏิกิริยาของระบบประสาทที่เกิดขึ้นในระดับไขสันหลังเท่านั้น

ปฏิกิริยาสะท้อนกลับของเข่า ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง การเคาะเอ็นของกล้ามเนื้อหน้าขาใต้ลูกสะบ้า จะทำให้เข่าเหยียดออกหรือกระตุกแตะขึ้น ปฏิกิริยานี้เอง ที่แพทย์ใช้ในการตรวจ การทำงานของระบบประสาท

ประสาทรับความรู้สึกในส่วนของร่างกายต่างๆ กัน จะมีความไวแตกต่างกันออกไป ที่มือปลายประสาทจะรับความรู้สึกไวกว่า ที่ต้นขาหรือที่ท้อง เราจะเจ็บเมื่อถูกเข็มแท่งมือ มากกว่าประสาทสัมผัสที่มือก็ไวกว่า ถ้าเราใช้มือคลำดินสอหรือยางลบ เราก็จะรู้ได้ทันที แต่ถ้าเราใช้หน้าท้องคลำแทน คงอีกนานกว่าเราจะรับรู้ สิ่งที่สัมผัสอยู่นั้นเป็นอะไรกันแน่

สำหรับความรับรู้ ระบบประสาทต้องการการทำงานที่อยู่ในระดับสูงกว่าระดับไขสันหลัง แค่ปฏิกิริยาสะท้อนกลับ ไม่เพียงพอสำหรับการรับรู้ที่สูงกว่านั้น การจะคลำช้อนเป็นต้น เราจะรู้ได้อย่างไรว่า สิ่งที่เราสัมผัสอยู่เป็นช้อน ปลายประสาทจากมือ จะส่งผ่านสัญญาณไปยังไขสันหลัง แต่แทนที่จะสะท้อนกลับออกมา สัญญาณจะถูกส่งไปยังไขสันหลัง ระดับที่อยู่สูงขึ้นไป ผ่านขึ้นสู่แมดัลล่าและเข้าสู่สมองใหญ่ในที่สุด เมื่อผ่านการกลั่นกรองแบบคอมพิวเตอร์แล้ว สมองก็จะบอกได้ว่านี่เป็นช้อน ทำด้วยโลหะ คันใหญ่ และใช้ตักข้าว ฯลฯ

การเคลื่อนไหวของแขนขา การกะพริบตา อ้าปาก ล้วนถูกสมองบัญชาการทั้งนั้น สมองส่งคำสั่งมายังประสาทสั่งงาน สั่งให้กล้ามเนื้อส่วนนั้นหดตัว กระทำกิริยา ตามที่ใจของเราต้องการ เป็นการทำงานของระบบประสาทที่เราจงใจ กระทำโดยรู้ตัว

ยังมีระบบประสาทอีกระบบหนึ่ง เป็นระบบประสาทที่ทำงานโดยตัวของมันเอง อยู่นอกเหนือการควบคุมของจิตใจของเรา เราไม่สามารถบ่งการ การทำงานของระบบประสาทส่วนนี้ เช่นเดียวกับที่เราบ่งการให้มือ กำเข้าเป็นกำปั้น ถึงเราอยากจะบังคับมันแต่ก็ทำไม่ได้ ระบบประสาทดังกล่าว คือ ระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น การเต้นของหัวใจ การหลั่งของน้ำย่อยในกระเพาะอาหารเป็นต้น

เราอยากจะทำให้หัวใจหยุดเต้นนั้นไม่ได้ หัวใจจะต้องเต้นอยู่ตลอดเวลา เพื่อทำให้เรามีชีวิตอยู่ การทำงานของหัวใจ จะขึ้นอยู่กับสภาพของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น เมื่อเราวิ่งหรือออกกำลังกาย ระบบประสาทอัตโนมัติจะสั่งงานให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น เพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายมากขึ้น ให้พอกับการเผาผลาญในร่างกายที่เกิดมากขึ้นกว่าปกติ

การทำงานของระบบประสาทดังกล่าว ไม่ต้องรอให้ใครสั่ง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ประสาทอัตโนมัติจะส่งสัญญาณเตือนระบบประสาทรับความรู้สึกว่าเราควรปัสสาวะได้แล้วเมื่อกระเพาะปัสสาวะเต็ม ระบบประสาทอัตโนมัติยังทำให้กระเพาะอาหารหดตัว ทำให้เรารู้สึกหิวเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลงจนไม่มีพลังงานพอสำหรับการทำงานของร่างกาย จะได้ขวนขวายหาอะไรกินเข้าไป จะเห็นได้ว่าการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ ส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับการทำงานของอวัยวะสำคัญที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการดำรงชีวิต

ระบบประสาทอัตโนมัติจะทำงานได้อย่างไม่ติดขัดหากเรากินอาหารพอเพียง ถูกส่วน พักผ่อนเต็มที่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอและมีสุขภาพจิตที่ดี

ข้อมูลสื่อ

75-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 75
กรกฎาคม 2528
พญ.ลลิตา ธีระศิริ