• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคปากท่อไตตีบ

โรคไต

 

                   


มาทำความเข้าใจกับโรคไต
ไตของเรานั้นมี 2 ข้าง อยู่ในระดับเอวของร่างกาย ในไตแต่ละข้างจะมีหน่วยทำงานเป็นหน่วยเล็ก ๆ ข้างละประมาณ 1 ล้านหน่วย หน่วยทำงานประกอบด้วยเครื่องกรองกับท่อไตเล็ก ๆ ซึ่งจะไปรวมกันเป็นท่อใหญ่แล้วลงมาที่ท่อไต แล้วก็ผ่านลงมาที่กระเพาะปัสสาวะ ถ่ายปัสสาวะออกจากร่างกายต่อไป เพราะฉะนั้นโรคของไตที่พบก็มี
โรคของเครื่องกรอง
โรคของท่อไต
โรคของหลอดเลือดที่เลี้ยงไต
โรคของเซลล์ที่พยุงไตให้เป็นรูปร่าง (เซลล์ที่เชื่อมหน่วยของไตทุกอันให้มันเป็นรูปร่างไว้)

โรคทั้งหมด ส่วนใหญ่จะมี 4 อย่างนี้เท่านั้น โรคแต่ละอย่างเมื่อเป็นมาก ๆ เข้าแล้ว มันจะลามไปทำให้หน่วยทำงานของไตเสียไปทั้งหน่วย มีผลให้ไตทำหน้าที่ได้น้อยลง
ทำให้เกิดมีการคั่งของของเสียที่ไต
ปกติไตทำหน้าที่ขับถ่ายของเสียควบคุมระดับน้ำ เกลือแร่ และความเป็นกรดด่างของร่างกาย เลือดเราก็สะอาด เซลล์ต่าง ๆ ของร่างกายก็ทำงานได้ดี แต่เวลาที่ไตเสียไป จะเสียโดยเฉียบพลันหรือค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไปก็ตาม จะมีของเสียคั่งอยู่ในเลือด ทำให้เกิดอาการมากมาย

อาการที่เกิดจากไตเสียจึงไม่ค่อยเกิดตรงตำแหน่งที่ไตอยู่ แต่เป็นอาการที่เกิดในทุกๆ ระบบของร่างกาย เพราะเซลล์ต่างๆ ถูกแช่อยู่ในน้ำ (เลือด) ซึ่งมีของเสียคั่งอยู่มาก ทำให้เซลล์ทั่วร่างกายทำงานไม่ค่อยได้


สาเหตุและอาการ
เราจะแบ่งกล่าวแยกเป็นโรค ๆ

 

                          


โรคของเครื่องกรอง

⇒ สาเหตุ
ในวันหนึ่งๆ ไตของเราทำหน้าที่กรองให้น้ำเกลือและของเสียในร่างกายผ่านลงไปที่ท่อไตประมาณวันละ 180 ลิตร ท่อไตจะดูดซึมน้ำและเกลือบางส่วนกลับ เหลือปัสสาวะถ่ายทิ้งออกมาประมาณวันละ 1 ลิตรถึงลิตรครึ่ง
ไตจะกรองเอาน้ำทั้งหมดในตัวเราซึ่งมีอยู่ประมาณร้อยละ 60 ของน้ำหนักตัว (เช่น น้ำหนักตัว 60 กิโลกรัมก็มีน้ำอยู่ 36 ลิตร) ออกไป และดูดซึมกลับโดยผ่านท่อไตวันละประมาณ 5-6 รอบ เพื่อขจัดของเสียออกไปให้ได้ดีมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ทำให้เลือดสะอาดที่สุด วนเวียนอยู่อย่างนั้นไตจึงเป็นอวัยวะที่ควบคุมระดับน้ำและเกลือในร่างกายที่สำคัญมาก

เมื่อเป็นโรคของเครื่องกรอง ไตก็จะกรองได้น้อยลง ทำให้น้ำและเกลือคั่งในร่างกาย ทำให้เกิดอาการบวม โดยเฉพาะที่หน้าและเท้า ถ้าเป็นมากก็จะบวมทั่วตัวได้
โรคของเครื่องกรองเท่าที่พบ มีสาเหตุเนื่องจากการแพ้เช่น แพ้สารโปรตีนในตัวเชื้อโรค (ไม่ใช่ตัวเชื้อโรคโดยตรง) แล้วร่างกายสร้างภูมิต้านทานไปเกาะติดอยู่ที่เครื่องกรองมากทำให้เกิดการอักเสบขึ้น เท่าที่เราพบเป็นลักษณะนี้เป็นส่วนใหญ่
ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราอาจจะมีเชื้อรา เชื้อไวรัส สารเคมีที่เข้าไปในร่างกาย ที่เรายังไม่สามารถแยกแยะออกมาได้ว่าเป็นสารอะไร ที่เข้าไปกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิต้านทานต่อมันขึ้นมามาก แล้วไปเกาะที่ไต ทำให้เครื่องกรองไตอักเสบ

เมื่อเครื่องกรองผิดปกติ น้ำก็ไม่สามารถขับออกจากร่างกายได้ น้ำจะไปแทรกอยู่ตามเยื่อทุกชนิด มีผลอย่างมากต่อเซลล์ทุกทุก ๆ ส่วนของร่างกาย ทำให้อาการที่แสดงออกไปปรากฏที่อวัยวะอื่น ๆ ไม่ได้ปรากฏที่ไต เช่น คนไข้มาด้วยโรคหัวใจวาย โรคความดันโลหิตสูง นอกจากนั้นการที่เครื่องกรองติดกับหลอดเลือดฝอย เมื่อเครื่องกรองอักเสบอาจมีเม็ดเลือดแดงหลุดออกมากับปัสสาวะทำให้มีสีแดง (สีน้ำล้างเนื้อ) ได้

⇒ อาการ
อาการที่เราเห็นคือ อาการบวมทั้งตัว หรือเฉพาะบริเวณ เช่น บวมหน้า บวมท้อง บวมขา ปัสสาวะแดงหรือสีน้ำล้างเนื้อ อวัยวะภายในที่บวมด้วย จะเป็นสมอง หัวใจ หรือส่วนอื่น นอกจากนั้นก็ทำให้อาการ เช่น ไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ซีด น้ำหนักลด ปวดท้อง เคลื่อนไส้ อาเจียน ชัก เป็นต้น

 




โรคของท่อไต

⇒ สาเหตุ
โรคนี้เราค่อนข้างจะทราบได้แน่ว่ามันเกิดจากการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ และลุกลามขึ้นสู่ท่อไต จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
ผู้หญิงส่วนใหญ่ก็เป็นในระยะช่วงที่แต่งงาน หลับนอนกับสามี มีท้อง คลอดลูก พวกนี้มีการกระทบกระเทือนต่อทางเดินปัสสาวะ

⇒ อาการ
อาการของท่อไตอักเสบ จะเกิดร่วมกับอาการของทางเดินปัสสาวะอักเสบ คือ จะมีอาการปัสสาวะผิดปกติ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะเจ็บ ปัสสาวะขัด สีของปัสสาวะผิดปกติ ขุ่นข้นขาวเหมือนกับหนอง นอกจากนั้นก็มีอาการเจ็บบริเวณหัวหน่าว เนื่องจากการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะ
ถ้าการอักเสบลุกลามไปถึงไต คนไข้จะมีอาการปวดหลังตรงระดับเอวหรือกระเบนเหน็บแล้วก็มีไข้หนาวสั่นได้


โรคของหลอดเลือดเลี้ยงไต

⇒สาเหตุ
เกิดจากหลอดเลือดเลี้ยงไตตีบ อันนี้แล้วแต่สาเหตุ เป็นต้นว่าเกิดจากหลอดเลือดทั่วร่างกายแข็ง ถ้าเราป้องกันโรคหลอดเลือดแข็งได้ ก็จะป้องกันหลอดเลือดเลี้ยงไตตีบได้ส่วนหนึ่งแต่หลอดเลือดตีบที่เรายังไม่ทราบสาเหตุก็มี
โดยปกติไตช่วยทำหน้าที่ควบคุมความดันเลือดของร่างกายให้สมดุล การที่หลอดเลือดเลี้ยงไตตีบ จะทำให้เลือดไปเลี้ยงไตน้อยกว่าปกติ เมื่อเลือดไปเลี้ยงไตน้อย จะมีสารบางชนิดออกจากไตทำให้มีการหดตัวของหลอดเลือด ทำให้เกิดความดันเลือดสูง

⇒ อาการ
อาการที่พบก็คือ อาการของความดันเลือดสูง



โรคของเซลล์ที่มาพยุงไต

⇒ สาเหตุ
เซลล์ที่พยุงไตส่วนใหญ่อยู่รอบท่อไต ทำหน้าที่รับส่งน้ำที่ดูดซึมผ่านท่อไตกลับเข้าสู่ร่างกาย
เราเชื่อว่า สาเหตุที่ทำให้เซลล์ที่พยุงไตไม่ทำงาน เกิดจากสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนใหญ่ อย่างเช่นพวกโลหะหนักทั้งหลาย (พวกสารตะกั่ว สารหนู และอื่น ๆ ) พวกยาต่าง ๆ ที่เป็นพิษต่อไต ก็ทำให้เซลล์พยุงไตอักเสบได้
เมื่อเซลล์พยุงไตทำหน้าที่ผิดปกติ น้ำกับเกลือที่ถูกกรองออกวันละ 180 ลิตรนี้จะดูดซึมกลับไม่ค่อยได้และขับถ่ายออกทางปัสสาวะเป็นจำนวนมาก ทำให้ปัสสาวะบ่อยมาก คนไข้ก็จะเสียน้ำกับเกลือ

⇒ อาการ
จะมีอาการปัสสาวะบ่อย อาจมีอาการช็อคจากการเสียน้ำ

 

 

แล้วเราจะหนีห่างโรคไตได้อย่างไร
ผมคิดว่า การป้องกันคงขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของร่างกายทั่ว ๆ ไป ระมัดระวังเรื่องอาหารการกิน สิ่งเจือปนและยา รักษาความสะอาดบริเวณทางเดินปัสสาวะ ควรออกกำลัง พักผ่อนให้เพียงพอ รักษาสภาพร่างกายและจิตใจให้สมบรูณ์ ก็สามารถป้องกันโรคไตได้เป็นส่วนใหญ่ เช่น โรคของเครื่องกรองไต ผมเชื่อว่าการที่เกิดมีการแพ้นั้น เกิดเนื่องจากร่างกายไม่แข็งแรงมากกว่า เวลารางกายทั่ว ๆ ไป ไม่แข็งแรง จะติดเชื้อโรคได้ง่าย เชื้อโรคเข้าไปในร่างกายแล้วกระตุ้นทำให้เกิดภูมิคุ้มกันมาก ๆ ไปเกาะติดอยู่ที่ไตทำให้เกิดโรคไต ถ้าร่างกายแข็งแรง เชื้อโรคจะผ่านถึงไตลำบาก

การรักษาความสะอาดในบริเวณทางเปิดของท่อปัสสาวะทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย โดยพยายามดิ้นรนไปหาสาเหตุของโรคเช่น กามโรค จะเป็นการป้องกันโรคของท่อไตได้
สำหรับโรคของเซลล์ที่พยุงไตเรื่องอาหารการกินซึ่งรวมทั้งยา ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันได้ส่วนหนึ่ง การออกกำลังกายช่วยให้หัวใจและหลอดเลือดทำงานได้ดี เป็นการป้องกันกันไม่ให้หลอดเลือดเสื่อมเร็วก็เป็นการป้องกันโรคของหลอดเลือดเลี้ยงไตได้ส่วนหนึ่ง

การป้องกันที่ได้ผลแน่ชัดนั้นเรายังทำไม่ได้เพราะไม่ทราบสาเหตุของโรคดี แต่การรักษาสุขภาพอนามัยให้ดี ย่อมเป็นการป้องกันได้ทางหนึ่ง

 

ช่วยตัวเองเพื่อรู้โรคได้อย่างไร
อาการของโรคไต เราอาจสังเกตได้จากการถ่ายปัสสาวะที่ผิดปกติ เช่น ปัสสาวะขัด ปัสสาวะมีหนองหรือมีเลือด หรือปัสสาวะน้อยไป หรือมากไป อันนี้ก็เป็นการบ่งชี้โดยตรงของโรคไตหรือโรคระบบปัสสาวะ
อาการทั่วไป ก็มีการอ่อนเพลียไม่ค่อยมีแรงทำอะไร สมาธิไม่ค่อยดี มีการซีดร่วมด้วย เหนื่อยง่าย
อาการที่เป็นมากขึ้นก็คือ อาการดังที่ได้กล่าวไว้ในแต่ละโรคข้างต้น จะเห็นว่า อาการปวดหลังหรือปวดตรงกระเบนเหน็บมักจะพบเฉพาะโรคไตที่เกิดจากการอักเสบของกรวยไตจากการติดเชื้อเท่านั้น โรคไตอื่นๆ เกือบไม่มีอาการปวดหลังเลย
อาการปวดหลังส่วนใหญ่จึงไม่ได้เกิดจากโรคไต แต่เกิดจากกระดูกหลังและกล้ามเนื้อหลังที่ปวดเมื่อยจากการทำงานหนัก ที่ต้องก้ม ๆ เงย ๆ หรือใช้หลังมากเท่านั้น
 


 

สีปัสสาวะอย่างไรจึงเรียกว่าปกติ
ปัสสาวะปกติจะมีสีเหลือง เนื่องจากมีสารสีเหลืองอยู่ในร่างกาย
สีปัสสาวะจะเปลี่ยนได้ เมื่อเรากินอาหารหรือน้ำที่มีสีเข้าไป ถ้าสีนั้นขับถ่ายทางปัสสาวะ ก็จะทำให้ปัสสาวะมีสีนั้นเช่น สีน้ำเงิน สีเขียว สีแดง จากยาหรืออาหารบางชนิด
ถ้าเรากินน้ำเข้าไปมาก ๆ ปัสสาวะก็จะสีเหลืองจางหรือสีขาวใส สำหรับผู้ที่กินน้ำน้อย ก็จะเป็นสีเหลืองเข้ม หรือสีน้ำชา
สีปัสสาวะที่ผิดปกตินั้นจะเป็นสีแดงหรือสีน้ำล้างเนื้อ สีโคล่า สีดำ สีขาวขุ่น หรือสีแบบหนองแสดงว่าเป็นโรคไตหรือโรคระบบปัสสาวะ
สำหรับปัสสาวะสีเหลืองจัดหรือเข้มเหมือนขมิ้นนั้น ถ้าร่วมด้วยอาการตัวเหลืองและตาเหลือง จะแสดงว่าเป็นภาวะดีซ่าน ซึ่งเป็นโรคตับ หรือโรคเลือด

 

กินน้ำน้อยหรือกินน้ำมากดี
อันนี้ยังไม่มีข้อตกลงที่แน่นอนแต่ถ้าดูการทำงานของไต จะเห็นว่ากินน้ำมากไว้จะดีกว่า เพราะไตจะสามารถกรองและขับถ่ายของเสียออกได้ง่ายกว่า
ถ้ากินน้ำน้อย ของเสียบางอย่างเข้มข้นเมื่อถูกกรองออกมาอยู่ในท่อไต ทำให้ตกตะกอนอยู่ในไตได้ง่าย เช่น พวกกกรดยูริค ที่ตกตะกอนได้ง่าย หรือยาบางชนิดเช่น พวกซัลฟาก็ขับถ่ายทางไต ถ้ากินน้ำน้อยเกินไปจะไปตกตะกอนแล้วก็อุดตันไต ทำให้ไตเสียได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราจึงคิดว่ากินน้ำมากคงจะดีกว่ากินน้ำน้อย



ถ้าเราเป็นโรคไตแล้วจะทำอย่างไร

เมื่อมีอาการของโรคไต ควรได้รับการตรวจและวินิจฉัยโรคจากแพทย์ โรคนี้ควรจะได้รับการรักษาและดูแลจากแพทย์ จนกว่าโรคจะหายขาดเพราะโรคไตบางชนิดต้องดูแลกันเป็นปี
แต่โรคนี้ไม่ใช่โรคที่หมดหวังเสียทีเดียว ในความรู้สึกของคนทั่ว ๆ ไป เท่าที่ผมสังเกต คนไข้มักคิดว่าเป็นโรคที่รักษาไม่หาย แต่ความจริงเป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้เยอะแยะไป การรักษาก็มีทั้งการกินยา หรือหากจำเป็นก็ต้องผ่าตัดแล้วแต่โรค



เมื่อเราเป็นโรคไตเราควรระวังอะไรบ้าง

สิ่งแรก ควรปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนำ ในขณะที่ไตเราปกติ เราอาจจะตามใจปาก จะกินอะไรเข้าไป ไตก็สามารถขับของเสียออกไปได้หมด แต่เวลาที่ไตเสียแล้ว เราต้องรู้สภาพการทำงานของไตว่ามีความสามารถมากน้อยแค่ไหน

เมื่อไตทำงานได้น้อย เราก็ควรจำกัดอาหารบางจำพวก เช่น อาหารจำพวกโปรตีน อาหารพวกเครื่องใน อาหารเค็ม สารพิษทั้งหลาย เช่น ยาและสารพิษในสภาพแวดล้อมที่มากับอาหารการกิน หรืออื่นๆ ที่ไตไม่สามารถขับถ่ายออกได้
ส่วนเรื่องการห้ามกินน้ำมากเมื่อเป็นโรคไต อันนี้ต้องเข้าใจด้วยว่า ถ้าเป็นโรคของเครื่องกรอง จึงห้ามกินน้ำมาก แต่ถ้าเป็นโรคของเซลล์ที่พยุงไตควรกินน้ำมาก ๆ คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า ถ้าเป็นโรคไตกินน้ำมากไม่ได้  แต่ที่จริงแล้ว โรคไตบางชนิดต้องกินน้ำมาก ๆ เช่น โรคนิ่วในระบบปัสสาวะ โรคของเซลล์ที่พยุงไต โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น

 


ถึงไตเสียก็ยังไม่ตายง่าย ๆ

คนเราสามารถมีชีวิตอยู่ได้สบาย ๆ ด้วยไตข้างเดียว ถ้าเผื่อมีอุบัติเหตุหรืออะไรที่ทำให้เสียไตไปขางหนึ่ง ไตข้างเดียวก็ยังสามารถทำงานทดแทนได้เกือบร้อยทั้งร้อย
ถ้าไตที่มีอยู่ข้างเดียวเสียอีก กว่าจะเกิดอาการว่ามีของเสียคั่ง เนื่องจากไตวาย (ไตเสีย) ไปนี้ เนื้อไตต้องเสียเกินกว่าร้อยละ 75 ขึ้นไปจึงจะเกิดอาการ

ดังนั้น ถ้าเราสามารถวินิจฉัยคนไข้ไตเสียได้ในระยะแรก ๆ แล้วหยุดสภาพของการเสียไม่ให้เสียมากขึ้นไปอีก คนไข้ก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างสบาย ๆ ถ้าไตของเขาทำงานได้เกินร้อยละ 25
อันนี้เป็นข้อดีอย่างข้อเสียอย่าง
ข้อดี ก็คือ ไตเรามีสมรรถภาพสำรองมาก
ข้อเสีย ก็คือ อาการมาช้าทำให้เรารู้ช้า จึงป้องกันรักษาได้ยากหรือช้ากว่าที่ควร


 

ไตเทียมหรือจะสู้ไตของเรา
วิทยาการก้าวหน้าสมัยนี้มีค่อนข้างมาก เข้าใจว่าไตเป็นอวัยวะแรกเลยที่สร้างขึ้นมาแทนได้ ที่เราเรียกว่า ไตเทียม คือสามารถที่จะใช้ในคนไข้ที่ไตเสียไป ทำหน้าที่แทนไตได้บางส่วน
สำหรับคนไข้ไตเสีย (ไตวาย) เฉียบพลันและสามารถคืนฟื้นดีขึ้นมาเองได้ ไตเทียมสามารถที่จะยืดชีวิตคนไข้ไปได้ช่วงหนึ่ง
แต่ในรายไตเสียเรื้อรัง อนาคตคนไข้พวกนี้ค่อนข้างแย่หน่อย คนไข้ต้องมาเข้าไตเทียมอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง ครั้งละประมาณ 5-6 ชั่วโมง แล้วก็ไปทำงานได้ตามปกติ คนไข้อาจจะแข็งแรงพอที่จะกลับไปทำงานตามปกติและมีความสุขตามสมควร
อย่างไรก็ตาม อย่างที่บอกแล้วว่าไตเทียมสามารถทำงานทดแทนไตจริงได้เพียงบางส่วนเท่านั้น แต่คนไข้ก็มีชีวิตอย่างมีความสุขพอสมควรได้ในช่วงหนึ่ง

 


การผ่าตัดเปลี่ยนและปลูกไตใหม่

การผ่าตัดเปลี่ยนและปลูกไตเข้าไปใหม่ โดยเอาไตของคนที่เพิ่งตายใหม่ ๆ หรือจากญาติพี่น้อง ใส่เข้าไปในตัวคนไข้ อันนี้เป็นวิธีการซึ่งยังไม่สำเร็จได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์
แต่ก็มีคนไข้ส่วนหนึ่งที่ได้รับการปลูกไตแล้วร่างกายยอมรับไตคนอื่นที่ปลูกไว้ได้ ก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ไตที่ปลูกใหม่นี้ก็ไม่ดีเหมือนของเราเอง เพราะเป็นของคนอื่น ร่างกายย่อมพยายามที่จะกำจัดมันออกไปเหมือนกัน.

ข้อมูลสื่อ

37-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 37
พฤษภาคม 2525
โรคน่ารู้
ผศ.นพ.สุชาติ อินทรประสิทธิ์