• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

พลูคาว

พลูคาว

 

                

 


⇒ชื่ออื่น
ผักก้านตอง (แม่ฮ่องสอน) ผักเข้าดอง ผักคาวตอง (ภาคเหนือ) ผักคาวทอง (ภาคกลาง) หื่อชอเช่า (แต้จิ๋ว) ยวีเซียนฉ่าว (จีนกลาง)

 

⇒ชื่อวิทยาศาสตร์
Houttuynia cordata Thunb. วงศ์ Saururaceae

 

⇒ลักษณะต้น
เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี สูงประมาณ 15 ซม. ทั้งต้นนำมาขยี้จะมีกลิ่นคาวปลา ลำต้นทอดไปตามดินมีรากงอกตรงข้อประปราย ใบเป็นรูปหัวใจ ออกสลับกัน ยาว 4 - 8 ซม. กว้าง 4 – 6 ซม. ปลายใบแหลม ฐานใบรูปหัวใจ ขอบใบเรียบ ใต้ใบมีต่อมเล็ก ๆ สีม่วงก้านใบยาว 1-4 ซม. มีหูใบ เป็นเส้นยาว 2.5 ซม. โดยส่วนฐานจะห่อลำต้นไว้ ส่วนล่างจะเกิดร่วมกับก้านใบ ช่อดอกเกิดที่ส่วนบนของลำต้น ออกตรงกันข้ามกับใบ ยาวราว 2 ซม. บนแกนช่อมีดอกเล็กสีเหลือง ที่โคนช่อดอกมีกลีบรองดอกสีขาว 4 กลีบ ชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะ

 

⇒ส่วนที่ใช้
ทั้งต้น ใบ ราก

 

⇒สรรพคุณ
ทั้งต้น ใช้ในโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ฝีหนองในปอด ปอดบวม ไข้มาลาเรีย แก้บิด ขับปัสสาวะ ลดอาการบวมน้ำ นิ่ว ขับระดูขาว ริดสีดวงทวาร ดากโผล่ แก้โรคผิวหนังผื่นคัน ฝีฝักบัว ฝีแผลเปื่อย และพอกในรายกระดูกหัก
ใบ แก้บิด หัด โรคผิวหนัง ริดสีดวงทวาร และหนองใน
ราก ขับปัสสาวะ

 

⇒ข้อห้ามใช้
ห้ามใช้ในผู้ที่มีอาการกลัวหนาว แขนขาเย็น ไม่กระหายน้ำ ชอบดื่มของร้อน ปวดท้อง ท้องร่วง ปัสสาวะใสและมาก ขึ้นฝ้าบนลิ้นขาว (จีนเรียกอาการพร่อง)

 

⇒ตำรับยาและวิธีใช้
1.นิ่ว ระดูขาว ใช้ต้นสด 25-30 กรัม ต้มน้ำกิน

2.ไซนัสเรื้อรัง ใช้ทั้งต้นสด ตำให้ละเอียด คั้นน้ำ แล้วหยอดจมูกวันละ 5-6 ครั้ง พร้อมกับใช้ต้นสด 25 กรัม ต้มน้ำกิน

3.ใช้ทั้งต้นสด 30-60 กรัม (แห้ง 10-15 กรัม แช่ในน้ำ 1-3 นาทีก่อนต้ม) ต้มน้ำใส่เหล้าเล็กน้อยกิน 3 วันติดต่อกัน อีกส่วนหนึ่งต้มน้ำแล้วเอาน้ำชะล้าง สำหรับริดสีดวงทวาร

4. ฝีฝักบัว ใช้ทั้งต้นแห้ง บดเป็นผง ผสมน้ำผึ้งพอก ถ้ายังไม่เป็นหนอง ก็จะยุบหายไป ถ้ามีหนองจะดูดหนองออกมา

5. ฝี แผลเปื่อย ใช้ต้นสด ตำให้ละเอียดพอกบริเวณที่เป็น (เปลี่ยนยาเช้า – เย็น) เวลาพอกจะรู้สึกปวด 1-2 ชม. แต่หลังจากนั้น 1-2 วัน ก็จะหาย

6. อาการคันของอวัยวะเพศภายนอกของสตรี ฝีบริเวณทวารหนัก ใช้ทั้งต้น จำนวนพอประมาณ ต้มน้ำชะล้าง .
 

ข้อมูลสื่อ

39-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 39
กรกฎาคม 2525
อื่น ๆ
ผศ.สุนทรี วิทยานารถไพศาล