• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจร่างกาย ตอนที่ 31

การตรวจร่างกาย ตอนที่ 31

 

 

  “ประชาชนทั่วไปสามารถจะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเองและญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อย ๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70-80 ) จะรักษาได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือที่พิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” มีเป็นประจำเพื่อชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองจนดูแลรักษาตนเองและผู้อื่นได้”

การตรวจตามระบบ
การตรวจทรวงอก(ต่อ)

4.การหายใจลึก
(hyperpnea) หมายถึง การหายใจที่ลึกกว่าปกติซึ่งสังเกตได้จาการที่ทรวงอกส่วนบนขยายตัวออกด้วยในขณะหายใจเข้าและหน้าท้องก็โป่งออกมากในขณะหายในเข้า การหายใจลึก อาจจะร่วมกับการหายใจเร็ว ทำให้หายใจมาก (hyperventilation)

สาเหตุที่ทำให้หายใจมาก เช่น
4.1 การออกกำลังมาก ทำให้หายใจมาก เพราะร่างกายต้องการออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายมากขึ้น

 

  
4.2 ความเจ็บปวดและอารมณ์รุนแรง หรือความเครียดทางจิตใจ บางครั้งทำให้หายใจมาก ทั้งที่รู้สึกว่าหายใจไม่ออก หายใจไม่สะดวก เมื่อหายใจมากสักพักจะทำให้เลือดเป็นด่างมากทำให้เกิดอาการหน้ามืด ตาลาย เป็นลม มือเย็นเท้าเย็น แขนขาเกร็ง นิ้วมือจะจีบเข้าหากัน เกิดเป็นมือจีบ หรือมือหมอตำแย (accoucheur hand) ดังรูปที่ 1 และถ้ายังหายใจมาก ๆต่อไปอีก ก็จะทำให้ชักและหมดสติได้ เรียกว่า “โรคหายใจมาก(จากจิตใจ) hyperventilationsyndrome)

วิธีแก้ไข :
ให้คนไข้หายใจในถุงกระดาษหรือถุงพลาสติคสักพัก นั่นคือ ให้เอาถุงกระดาษหรือถุงพลาสติคครอบปากกับจมูกของคนไข้ แล้วให้คนไข้หายใจในนั้นสักพัก อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไป

หมายเหตุ :
การหายใจมาก จะขับก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ ออกจากร่างกายมาก ทำให้เลือดต้องเสียก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเกินไป จึงเกิดสภาพเป็นด่างขึ้น เพราะก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ที่ละลายอยู่ในน้ำจะกลายเป็นกรดคาร์บอนิค เมื่อมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดน้อยเพราะการหายใจมาก เลือดจึงกลายเป็นด่าง


4.3 ภาวะเลือดเป็นกรด
เช่น โรคเบาหวานที่กำเริบมาก โรคไตล้ม(ไตทำงานไม่ไหว) จะทำให้กรดต่าง ๆ คั่งในเลือด เมื่อกรดต่าง ๆ คั่งในเลือดมากจะทำให้เกิดอาการหายใจมากขึ้นเพื่อลดความเป็นกรด แต่จะไม่มีอาการมือเท้าเย็น แขนขาเกร็ง มือจีบ หรือชักแบบพวกที่หายใจมากจากภาวะทางจิตใจ เพราะเลือดเป็นกรดมากอยู่แล้วจึงไม่กลายเป็นด่างจากการหายใจมากนี้


4.4 ภาวะช็อค
(เลือดไปเลี้ยงร่างกายส่วนต่างๆ ไม่พอเพียง) เช่น จากการตกเลือด จะทำให้หายใจมาก เพราะร่างกายต้องการออกซิเจนมากขึ้น ทั้งภาวะช็อคนาน ๆ จะทำให้เลือดเป็นกรดยิ่งทำให้ต้องหายใจมากขึ้นอีก

 

 

4.5 สมองส่วนกลางและส่วนพอนส์ผิดปกติ (ดูรูปที่ 2) เช่น เส้นเลือดในสมองส่วนนี้ แตก ตีบ หรือตัน สมองส่วนนี้อักเสบ หรือถูกกดจากสมองส่วนอื่นหรือจากเนื้องอกจะทำให้หายใจมากได้

 

 

5. การหายใจตื้นลึกตื้นหยุด(Cheyne-Stokes breathing) คือการหายใจที่เริ่มด้วยการหายใจตื้น ๆ ก่อนแล้วลึกขึ้นๆ จนลึกเต็มที่แล้วก็จะตื้นลง ๆ จนหยุด (ดูรูปที่ 3) แล้วก็เริ่มใหม่ สลับกันไปเรื่อย ๆ เช่นนี้ ช่วงที่หายใจมักจะนานกว่าช่วงที่หยุดหายใจ
การหายใจแบบนี้มักเกิดจากความผิดปกติในเนื้อส่วนลึกของสมองส่วนหน้าทั้ง 2 ข้าง เช่นในคนที่สมองขาดออกซิเจนหรือขาดเลือดจากโรคเส้นเลือดในสมองแตก ตีบ หรือตัน โรคหัวใจที่อยู่ในภาวะหัวใจล้ม(หัวใจทำงานไม่ไหว) โรคปอดหรือหลอมลมที่ทำให้เลือดขาดออกซิเจน เป็นต้น


6. การหายใจและหยุดหายใจในท่าหายใจเข้า (apneustic breating) คือการหายใจเข้าลึก ๆ แล้วหยุดหายใจในท่าหายใจเข้าอยู่สักพักหนึ่งแล้วจึงหายออก (ดูรูปที่ 3) เป็นลักษณะการหายใจที่พบไม่บ่อยนัก แต่พบได้และมักพบร่วมกับการหายใจผิดปกติแบบอื่น ๆ
การหายใจแบบนี้มักเกิดจากความผิดปกติในสมองส่วนพอนส์และส่วนท้าย(ดูรูปที่ 2) จากเส้นเลือดแตก ตีบ หรือตัน แต่ในบางครั้งก็เกิดจากการขาดน้ำตาล หรือออกซิเจนในเลือด หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบรุนแรง


7.การหายใจเป็นช่วง ๆ (cluster breating ) คือ การหายใจเป็นช่วงๆ สลับกับการหยุดหายใจเป็นช่วงๆ แต่ละช่วงจะไม่เท่ากัน (ดูรูปที่ 3 ) อัตราการหายใจมักจะช้า(มักจะหายใจน้อยครั้ง) และมักจะแทรกด้วยกายหายใจเฮือก(gasping)
การหายใจแบบนี้เกิดจากความผิดปกติในบริเวณส่วนล่างของพอนส์หรือส่วนบนของสมองส่วนท้าย


8. การหายเฮือก(gasping respiration) คือ การหายใจเข้าลึก ๆ แต่เร็ว และหยุดกึกทันที ช่วงหยุดนานจึงมักจะหายใจน้อยครั้ง มักจะเกิดร่วมกับการหายใจเป็นช่วงๆ หรือการหายใจใกล้ตาย
การหายใจแบบนี้เกิดจาก ความผิดปกติในสมองส่วนพอนส์ และส่วนท้าย


9. การหายใจใกล้ตาย(airhunger) คือ การหายใจลึก ๆและในขณะที่หายใจเข้า ศีรษะและหน้าจะผงกเงยขึ้น ตาเหลือกขึ้น หน้าบิดเบี้ยว ปากแสยะ เพราะการดึงของกล้ามเนื้อคอและมุมปาก คล้ายกับว่าต้องใช้กำลังอย่างมากในการหายใจเข้า คนไข้จะมีอาการแสดงอื่นๆ ของคนที่ใกล้ตาย เช่น ไม่รู้สึกตัว(coma) ช็อค(มือเท้าเย็น เหงื่อกาฬแตก ฯลฯ )
การหายใจแบบนี้เกิดจากการขาดออกซิเจนหรือเลือดในสมองส่วนต่าง ๆ


10. การหายใจไม่เท่ากันโดยตลอด (ataxic breating) คือ การหายใจที่ถี่ห่างแรงค่อย ไม่เท่ากันโดยตลอด (ดูรูปที่ 3) และอาจจะหยุดหายใจเมื่อใดก็ได้กายหายใจแบบนี้เกิดจากสมองส่วนท้ายผิดปกติ


11. การหายใจหยุดทันที(acute respiratory arrest) มักเกิดจากสมองส่วนท้ายถูกกดหรือถูกทำลายเช่น การถูกระทบกระแทกอย่างแรงจากอุบัติเหตุ เส้นเลือดแตก เนื้อสมองส่วนกลางโป่งลงมากดสมองส่วนท้าย

หมายเหตุ :
การหายใจผิดปกติแบบต่างๆ ที่กล่าวไว้ข้างต้น จะสังเกตเห็นได้ง่าย และส่วนใหญ่จะต้องการการดูแลรักษาอย่างรวดเร็วหรือรีบด่วน โดยเฉพาะการหายใจผิดปกติ แบบ 8-11
นอกจากการหายใจแบบแปลก ๆ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ก็ยังมีกิริยาอื่น ๆที่เกี่ยวข้องกับการหายใจ ซึ่งต้องหัดสังเกตไว้ด้วย เช่น

1.การไอ
คือการหายใจออกทางปากอย่างแรง เร็ว และมีเสียง การไอจะเริ่มด้วยการหายใจเข้าลึก ๆ ทันที กลั้นหายใจ ออกแรงเบ่งแล้วปล่อยลมออกมาทันที การไออาจเกิดจากการมีเสมหะหรือสิ่งใดไประคายหลอดลมและปอด การแกล้งไอ(ไอแก้เขิน) หรือเกิดจากการระคายในรูหูส่วนนอก ในคอ ในเยื่อหุ้มหัวใจก็ได้

2. การจาม คือการหายใจออกทางจมูกอย่างแรง เร็ว และมีเสียงการจามจะเริ่มด้วยการหายใจเข้าลึก ๆแล้วหายใจออก(ทางจมูกและปาก) อย่างแรง การจามส่วนใหญ่เกิดจากมีสิ่งระคายในรูจมูก ส่วนน้อยจากภาวะจิตใจหรือความผิดปกติในสมอง

3. การถอนหายใจ คือการหายใจเข้าช้า ๆ ลึก ๆ ตามด้วยการหายใจออกช้า ๆ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ในภาวะปกติ เพื่อให้ปอดส่วนที่ยังแฟบอยู่ได้พองตัวออก แต่การถอนหายใจบ่อย ๆ มักเกิดขึ้นในภาวะผิดปกติ เช่น จิตใจกังวล เคร่งเครียด เบื่อหน่าย ความดันเลือดลดลงมาก เป็นต้น

4. การหาว คือ การหายใจเข้าช้า ๆ ลึก ๆ คล้ายการถอนหายใจ แต่ร่วมด้วยการยืดตัวอ้าปาก และน้ำตาไหล แล้วตามด้วยการหายใจออกที่เร็วกว่าการหายใจเข้ามักพบในคนที่ง่วง เหงา เบื่อหน่าย กำลังจะหน้ามือเป็นลม ความดันเลือดลดลงมาก เป็นต้น

5. การสะอึก คือ การหายใจเข้าเร็ว ๆ แล้วหยุดกึกทันทีทำให้เกิดการกระตุกของร่างกายขึ้น ในผู้ชาย มักเกิดจากมีการระคายกระเพาะอาหาร ลำไส้ หรืออวัยวะในช่องท้อง หรือภาวะของเสียคั่งในร่างกายจากภาวะไตล้ม(uremia) ส่วนในหญิงมักเกิดจากสาเหตุทางจิตใจ เช่น ความเครียดกังวล เป็นต้น

6. การกลั้นหายใจ อาจจะเกิดขึ้นโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ก็ได้ เช่น เด็กเล็ก ๆที่ร้องได้สะอึกสะอื้น จะมีระยะกลั้นหายใจสลับกับระยะหายใจลึก ๆ ในขณะที่กลืนอาหารหรือน้ำ ก็จะมีการกลั้นหายใจโดยอัตโนมัติ คนที่อยากจะกลั้นหายใจได้นาน ไ จึงควรกลืนน้ำลายบ่อย ๆ ในขณะกลั้นหายใจและก่อนที่จะกลั้นหายใจ ควรจะหายใจลึก ๆ เร็ว ๆ สักพักหนึ่งก่อน

7. การกลั้นหายใจแล้วเบ่ง คือ การหายใจเข้าเต็มที่แล้วกลั้นหายใจแล้วออกแรงเบ่ง เช่น เวลายกของหนัก ๆ เวลาเบ่งอุจจาระขณะท้องผูก เวลาเบ่งคลอด(ลูก) เป็นต้น

8. การลองดม คือ การหายใจเข้าสั้น ๆ เร็ว ๆ เพื่อดมกลิ่นอะไรบางอย่าง หรือเพื่อไล่น้ำมูกให้ตกลงไปในคอ (จะได้ขากออกมาหรือกลืนเข้าไป) การหายใจแบบนี้จะมีลม (อากาศ) เข้าปอดน้อยมาก

9. การพูด การร้องเพลง และการผิวปาก เป็นกิริยาที่อาศัยการหายใจเข้าลึก ๆ แล้วหายใจออกช้า ๆ เป็นจังหวะ ๆ ด้วยความเร็วที่แตกต่างกัน

10. การกรน คือ การหายใจที่มีเสียงจากการสั่นของเพดานอ่อน และแผ่นกั้นด้านหลังของต่อมทอนซิล เกิดในคนที่นอนหลับหรือเคลิ้มหลับ โดยเฉพาะเมื่อมีการหายใจทางปาก อาจจะตั้งใจทำให้เกิดเสียงกรนในขณะตื่นอยู่ก็ได้

นอกจากจะสังเกตการหายใจแบบต่าง ๆ จากการเคลื่อนไหวของทรวงอกและหน้าท้องหมดแล้วยังต้องสังเกตว่าการเคลื่อนไหวของทรวงอกทั้ง 2 ข้างเท่ากันหรือไม่ในขณะหายใจเข้าและออก
ถ้าทรวงอกข้างซ้ายเคลื่อนไหวน้อยกว่าข้างขวา มักจะแสดงว่าทรวงอกข้างซ้ายหรือปอดข้างซ้ายผิดปกติ เช่น ปอดแฟบ ปอมบวม มีน้ำหนอง หรือเลือดในช่องเยื่อหุ้มปอด เป็นต้น

การสังเกตการณ์เคลื่อนไหวของทรวงอกตามการหายใจ จึงทำให้สามารถวินิจฉัยโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ได้ไม่น้อย

(อ่านต่อฉบับหน้า)
 

ข้อมูลสื่อ

37-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 37
พฤษภาคม 2525
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์