• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เส้นใย...สารอาหารที่ถูกลืม

เส้นใย...สารอาหารที่ถูกลืม

อิทธิพลของอาหารตะวันตกเริ่มต้นเข้ามาเมืองไทยเมื่อไรไม่มีใครทราบแน่ รู้แต่ว่าในระยะหลังนี้เรารับเอาอารยธรรมการกินอาหารแบบฝรั่งไว้อย่างรวดเร็ว จากรุ่นคุณย่า คุณยาย ที่เหม็นกลิ่นนม กลิ่นเนย เดี๋ยวนี้คุณหลาน คุณเหลน ใครไม่รู้จักพิชช่า แฮมเบอร์เกอร์ ก็รู้สึกเชย แต่..ทราบไหมครับว่าในขณะที่หลงใหลในการกินอาหาร “เนื้อ นม ไข่” ฝรั่งเขากลับสนใจการกินอาหารแบบไทยๆ

ฝรั่งสนใจอาหาร “ด้อยพัฒนา”

ที่จริงจะว่าเขามาสนใจเฉพาะอาหารไทยเห็นจะไม่ถูก ต้องพูดว่า เขาสนใจในอาหารของพวกที่ยังล้าหลังหรือประเทศด้อยพัฒนา (น้อยค่าความศิวิไลซ์) จะใกล้เคียงกว่า

สาเหตุที่ฝรั่งมังค่าเกิดความสนใจในอาหารประเทศด้อยพัฒนา มิใช่ว่าเขามาติดใจในรสชาติ แต่เป็นเพราะเขาเล็งเห็นว่า อาหารเหล่านี้ อาจมีส่วนอธิบายโรคภัยไข้เจ็บหลายๆ อย่าง

นับแต่เมื่อสามสี่สิบปีก่อน หมอฝรั่งซึ่งได้มีโอกาสไปปฏิบัติงานในทวีปอัฟริกาสังเกตว่า โรคหลายๆ ชนิดที่เป็นกันมากในหมู่ชาวตะวันตกกลับไม่ใคร่เป็นกันในพวกชนพื้นเมือง ตัวอย่างของโรคเหล่านี้ ได้แก่ โรคท้องผูก ริดสีดวงทวาร แผลในลำไส้ใหญ่ ไส้ติ่งอักเสบ ติ่งเนื้อ และมะเร็งของลำไส้ใหญ่

โรคที่พบมากในพวกกินอาหารแบบตะวันตก

  • โรคของลำไส้ใหญ่

ท้องผูก ไส้ติ่งอักเสบ โรคของติ่งไดเวอร์ติคูลัม ริดสีดวงทวาร ติ่งเนื้อ และมะเร็งของลำไส้ใหญ่ แผลลำไส้ใหญ่ ลำไส้ใหญ่ไวเกิน (เออริเตเบิล โคลอน)

  • โรคทั่วไป

โรคอ้วน หัวใจขาดเลือด เส้นขอด หลอดเลือดดำในขาอุดตัน เส้นเลือดปอดอุดตัน นิ่วถุงน้ำดี นิ่วในไต โรครูมาตอยด์ กระดูกผุในคนแก่

  • โรคของต่อมไร้ท่อ

ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เบาหวาน

  • โรคอื่นๆ

ฟันผุ ผนังลำไส้เล็กหนาตีบ (โครน’ส ดิซิส)

พวกเขาได้ตั้งสมมติฐานว่า ความแตกต่างนี้อาจเนื่องมาจากอาหารที่กิน ชาวพื้นเมืองกินอาหารที่มีเส้นใย (ไฟเบอร์หรือกากอาหาร) มาก ขณะที่ชาวตะวันตกกินแป้งที่ได้จากข้าวซึ่งขัดจนขาว และอาหารพวกเนื้อ นม ไข่ ซึ่งมีเส้นใยหรือกากน้อย

โรคมาพร้อมกับความศิวิไลซ์

เมื่อหมอทราเวลล์ (หนึ่งในหมอฝรั่งพวกแรกๆ ที่สนใจในเรื่องเส้นใย) กลับไปเยือนประเทศอูกันดาอีกครั้งหนึ่งในปี 2513 เขาพบว่าโรคต่างๆ ที่เคยเป็นของหายาก เริ่มมีมาพร้อมกับความศิวิไลซ์ ซึ่งได้นำเอาอาหารชนิดใหม่ๆ ที่มีเส้นใยน้อยลงมาสู่ชาวอัฟริกัน

หมอเบอร์กิตผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง จากการค้นพบมะเร็งของต่อมน้ำเหลืองชนิดหนึ่ง ซึ่งได้รับการขนานนามตามชื่อของเขา (เบอร์กิต’ส ลิมโฟมา) ได้ให้ความสนใจกับโรคของลำไส้ใหญ่ ชนิดที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ และจากข่ายงานที่กว้างขวางของเขา ช่วยให้เรารู้ว่าโรคเหล่านี้มิได้เป็นน้อยในหมู่ชาวอัฟริกันเท่านั้น แต่ในกลุ่มชาวเอเชียก็เช่นกัน

ชนทั้งสองกลุ่มนี้โดยเฉพาะที่อยู่ในชนบท มีความละม้ายคล้ายกันในเรื่องอาหาร กล่าวคือ พวกกินอาหารที่มีปริมาณเส้นใยสูง อุดมด้วยข้าวและแป้ง ใช้น้ำตาลในการประกอบอาหารน้อยหรือปานกลาง กินไขมัน และน้ำมันน้อย โปรตีนในอาหาร ส่วนใหญ่ได้จากพืช กินผักมากน้อยบ้าง กินผลไม้จำนวนน้อย

ในขณะที่อาหารของชาวตะวันตก มีปริมาณเส้นใยต่ำ กินแป้งและข้าวน้อย กินน้ำตาล ไขมันและน้ำมันมาก โปรตีนส่วนใหญ่ได้จากเนื้อสัตว์ กินผักและผลไม้ค่อนข้างแยะ

เส้นใยคืออะไร

เส้นใยเป็นส่วนของอาหารที่ได้จากพืช ซึ่งไม่ถูกย่อยโดยน้ำย่อยอาหารของคนเรา โดยนัยนี้ สารที่ประกอบเป็นเส้นใย ได้แก่ เซลลูโลส เฮมิเซลลูโลเลส และลิกนิน เส้นใยประเภทไม่ละลายน้ำ เส้นใยอีกพวกละลายน้ำได้ ตัวอย่างเช่น เส้นใยที่ได้จากถั่ว จากเมล็ดธัญพืช และสารคาเฟอีน

ในบทความนี้จะใช้เส้นใย ไฟเบอร์และกากอาหารคละกันไป แล้วแต่ความเหมาะสม แต่ขอให้เข้าใจว่าหมายถึงสิ่งอันเดียวกัน เนื่องจากเราย่อยไม่ได้ พูดง่ายๆ เอามันไปใช้ไม่ได้ เรื่องของเส้นใยจึงถูกละเลยกันมานาน กระทั่งวารสารตำราการแพทย์และโภชนาการเมื่อประมาณ 10 กว่าปีมานี้ ก็มิได้มีการกล่าวถึงบทบาทของเส้นใย มนุษย์ปัจจุบันหลงลืมหรือไม่รู้ความสำคัญของมันเอาเสียเลย มองแต่แง่ว่ามันเป็นตัวรำคาญ ต้องกำจัดเสียให้พ้นๆ ไป

ในการสีข้าวจึงต้องเอาให้ขาวสุด หุงออกมานิ่มนวล นิยมว่าอร่อย นั่นคือพยายามขัดเอารำซึ่งเป็นส่วนเส้นใยที่สำคัญออกไปนั่นเอง ในการทำแป้งก็เช่นกัน กรองแล้วกรองเล่า เพื่อให้ได้แป้งที่ขาวที่สุด เนื้อแป้งมากที่สุด

เป็นที่รู้จักกันมาตั้ง 400 กว่าปีแล้วว่า สีน้ำตาลที่ทำจากข้าว (สาลี) ซ้อมมือ กินแล้วอยู่ท้อง แก้ท้องผูก และช่วยให้คนกินมีหุ่นสะโอดสะอง ในขณะที่ขนมปังขาวกินแล้วอ้วน

ไปติดค่านิยมชนชั้น

แต่ด้วยเทคโนโลยีการสีข้าวสมัยใหม่ ที่ถือกำเนิดไปจากประเทศฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่ 18 และต่อมาก็แพร่ไปทั่วโลก ทำให้คนนิยมกินข้าวที่ขัดจนขาว

เพราะถือว่าเป็นข้าวที่ชนชั้นผู้ดีกิน ในเมืองไทยเรา ครั้งหนึ่งเคยดูหมิ่นว่าข้าวแดง (คือ ข้าวกล้อง) เป็นอาหารสำหรับคนคุก ข้าวแดงจึงเสื่อมความนิยมไปอย่างรวดเร็ว จนเดี๋ยวนี้ใครอยากกินข้าวกล้องต้องจ่ายแพงกว่าซื้อข้าวธรรมดา อันที่จริงแล้ว ถ้าเราจะหันมากินข้าวแดงกันใหม่ นอกจากจะได้ประโยชน์ ยังเป็นการช่วยเศรษฐกิจเพราะการสีเป็นข้าวกล้องจะได้ปริมาณข้าวมากกว่าสีเป็นข้าวขาว

ประเทศอังกฤษในคราวสงครามโลกครั้งที่สองขาดแคลนพืชพันธุ์ธัญญาหาร จนต้องหันมาสีข้าวแบบไม่ขัดจนขาว เพื่อให้ได้แป้งสาลีปริมาณมากขึ้น โดยวิธีนี้ในแป้งจะมีเส้นใยเพิ่มไปด้วย ผลพลอยได้อย่างหนึ่งคือ อัตราตายจากโรคเบาหวานลดลงไปกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ในระหว่างสงคราม

ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่า แม้ร่างกายเราจะเอาเส้นใยไปใช้ไม่ได้ในรูปของพลังงาน แต่ก็ได้ประโยชน์จากเส้นใยในแง่อื่นๆ มีผู้กล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า ถ้าเปรียบอาหารเหมือนกับอากาศที่เราหายใจ เส้นใยก็เทียบได้กับก๊าซไนโตรเจนในอากาศ ซึ่งเป็นก๊าซเฉื่อยที่ร่างกายมิได้เอาไปใช้ประโยชน์ ในขณะที่สารอาหารต่างๆ เช่น แป้ง ไขมัน โปรตีน เปรียบเสมือนก๊าซออกซิเจนที่ไวไฟ

ถ้าเราลดสัดส่วนของก๊าซไนโตรเจนลงไปเรื่อยๆ ในที่สุดจะถึงขีดหนึ่งที่เปอร์เซ็นต์ออกซิเจนซึ่งมากเกินไป จะเป็นอันตรายต่อร่างกาย

ในเรื่องอาหารก็เช่นเดียวกัน มีการศึกษาหลายอันที่ส่อแสดงว่าอัตราส่วนที่มากเกินไปของสารอาหารชนิดต่างๆ โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ไขมัน และน้ำตาล เป็นโทษ เมื่อร่วมกับการกินเส้นใยจำนวนน้อยลง โทษนั้นยิ่งทวีความเด่นชัด

ตัวอย่างอาหารที่มีเส้นใยสูง

ข้าว โดยเฉพาะข้าวกล้อง (ข้าวซ้อมมือ ข้าวแดง) ข้าวเหนียวดำ ข้าวโพด ลูกเดือย

ผักต่างๆ เช่น ผักกาด ผักคะน้า ผักกะหล่ำ ต้นหอม ยอดกระถิน ผักบุ้ง ชะอม ดอกและใบขี้เหล็ก หน่อไม้ ใบตำลึง

ผลไม้บางอย่าง เช่น ฝรั่ง มะม่วง สับปะรด พุทรา มะขาม

นอกจากนี้ยังมีมากในถั่วต่างๆ มันฝรั่ง มันสำปะหลัง แห้ว เม็ดแมงลัก

ตัวอย่างอาหารที่มีเส้นใยต่ำ

แป้งและอาหารที่ทำจากแป้ง เช่น เส้นก๋วยเตี๋ยว หมี่ บะหมี่ ขนมจีน วุ้นเส้น ขนมปัง(ขาว) ขนมปังกรอบ ขนมเค้ก ขนมต่างๆ ที่ทำจากแป้งและน้ำตาล

เนื้อสัตว์และเครื่องในสัตว์ต่างๆ

สัตว์น้ำ เช่น ปลา กุ้ง ปู หอย

นมและอาหารนม เช่น นมเปรี้ยว เนย ไอศกรีม ไข่และนมที่ทำจากไข่

ผลไม้บางอย่าง เช่น กล้วย ส้ม ชมพู่ ลำไย

ของดีมีอยู่

ฉะนั้น เราควรปรับปรุงวิธีการกินอาหารของเราเสียใหม่ ลืมเสียเรื่อง เนื้อ นม ไข่ แต่กินอาหารแบบไทยๆ เราต่อไป ครับ! กินอย่างที่ผู้หลักผู้ใหญ่สั่งสอนต่อๆ กันมานั่นแหละ...

กินข้าวแยะๆ กินกับน้อยๆ กินอาหารจำพวกผัก ปลา ลดอาหาร เนื้อสัตว์ และถ้าเป็นไปได้ ทำไมเราไม่กลับไปกินข้าวกล้องหรือข้าวแดงกันใหม่

การทำงานของลำไส้ ช่วยให้ไม่อ้วนและถ่ายคล่อง

อาหารที่มีเส้นใยจะให้แคลอรีน้อยกว่า ในขณะที่ 100 กรัม ของน้ำมันพืชให้ 884 แคลลอรี่ น้ำตาลให้ 385 แคลอรี แป้งสาลี (สีขาว) ให้ 352 แคลอรี แต่แป้งข้าวกล้องให้เพียง 320 แคลอรี

นอกจากนี้อาหารที่มีเส้นใยสูง จะทำให้รู้สึกอิ่มเร็วและอิ่มทนกว่าอาหารที่มีเส้นใยต่ำ เหตุผลก็คือ เมื่อกินอาหารที่มีเส้นใยสูง การย่อยอาหารจะใช้เวลานาน และการดูดซึมก็เป็นไปอย่างช้าๆ โดยเฉพาะกับอาหารจำพวกแป้งและข้าว แม้ว่าจะมีอาหารบางส่วนเหลือออกมาในอุจจาระมากกว่าธรรมดาก็ตาม ฤทธิ์ของเส้นใยที่รู้จักกันดี รู้จักกันมานาน คือ ฤทธิ์ที่มีต่อลำไส้ใหญ่... ช่วยในการขับถ่าย เส้นใย เช่น รำข้าวถูกใช้เป็นยาถ่าย เนื่องจากมันช่วยปริมาณของอุจจาระ จึงกระตุ้นให้ลำไส้ใหญ่ทำงานดีขึ้น

ปีหนึ่งๆ คนไทยต้องจ่ายเงินหลายร้อยล้านบาท เพื่อค่ายาถ่าย ถ้าเรากินอาหารที่มีเส้นใยมากเช่น ข้าวกล้อง นี้ลงไปได้ นอกจากนี้ เราจะไม่ต้องเสียเงินทอง เสียเวลามานั่งรักษาโรคริดสีดวงทวาร อันเป็นผลตามมาจากอาการท้องผูก โรคอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคท้องผูก คือ เส้นเลือดขอด และติ่งเนื้อนอกลำไส้ใหญ่ (ไดเวอร์ติลูลัม)

ช่วยให้โรคเบาหวานทุเลา

เมื่อราว 10 ปีก่อน หมอทราเวลล์เสนอสมมติฐาน “ความสัมพันธ์ของการเกิดโรคเบาหวานกับการบริโภคเส้นใย” เขาตั้งข้อสังเกตว่า ในชาวชนบทซึ่งในอาหารที่มีเส้นใยสูงไม่ค่อยมีใครเป็นโรคเบาหวาน ขณะที่ชาวเมืองซึ่งบริโภคเส้นใยน้อยเป็นโรคเบาหวานกันมาก นอกจากนี้ในระหว่างสงครามซึ่งมีการรบริโภคเส้นใยที่เพิ่มขึ้น อัตราตายจากโรคเบาหวานลดลงอย่างน่าสังเกต

สิ่งแรกที่สมมติฐานนี้ออกมาไม่ใคร่มีใครให้ความสนใจมากนัก ต่อมามีการศึกษาในอังกฤษและอเมริกา พบว่า อาหารเส้นใยสูงให้ประโยชน์แก่คนเป็นเบาหวาน สมมติฐานดังกล่าวจึงเป็นที่เชื่อถือมากขึ้น

ในคนเป็นเบาหวาน เมื่อให้อาหารที่มีเส้นใยสูง โดยเฉพาะเมื่อร่วมกับอาหารที่มีเปอร์เซ็นต์คาร์โบไฮเดรต (คือ พวกแป้งและข้าว) สูง จะทำให้ความทนทานต่ออาหารคาร์โบไฮเดรตดีขึ้น ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงและสามารถลดปริมาณยาที่ใช้ลงได้

ช่วยลดระดับไขมันในเลือด

การกินอาหารที่มีเส้นใยมากจะช่วยลดไขมันในเลือด ทั้งโคเลสเตอรอลไตรกลีเซอไรด์ นอกจากนี้ยังช่วยลดอุบัติการณ์ของโรคหลอดเลือดหัวใจ

เส้นใยที่ช่วยมากในเรื่องนี้ ได้แก่ ชนิดที่ละลายน้ำได้ เช่น เส้นใยจากถั่ว

ในคนไข้เบาหวานที่มีไขมันในเลือดสูง อาหารที่มีเส้นใยมากร่วมกับปริมาณคาร์โบไฮเดรตสูงจะช่วยลดไขมันในเลือดลงได้ ในขณะที่อาหารที่มีเส้นใยต่ำและคาร์โบไฮเดรตสูงจะเพิ่มปริมาณไขมันในเลือด

ดังนั้น คนเป็นเบาหวานที่ต้องการกินอาหารคาร์โบไฮเดรตสูง จึงควรเลือกอาหารชนิดที่เส้นใยสูงด้วย

ลดอุบัติการณ์โรคหลอดเลือดหัวใจ

ในกลุ่มชนที่กินอาหารเส้นใยสูง จะมีอุบัติการณ์ของโรคหลอดเลือดหัวใจต่ำกว่าพวกั้กินเส้นใยน้อย แม้ว่าจะเป็นคนเชื้อชาติเดียวกัน ตัวอย่างเช่น ในประเทศอังกฤษ พวกที่กินอาหารมีเส้นใยมาก จะเป็นโรคหัวใจน้อยกว่าพวกที่กินเส้นใยต่ำ ถึง 4 เท่า

ในคนต่างเผ่าพันธุ์ก็เช่นเดียวกัน มีการศึกษาที่ทำในประเทศพัฒนาแล้ว 20 ประเทศเปรียบเทียบกัน พบว่าญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่พลเมืองกินอาหารเส้นใยมากที่สุด มีอัตราตายจากโรคหลอดเลือดหัวใจต่ำสุด คือ 88 คน ต่อประชากรหนึ่งแสนคน

ประเทศเยอรมันตะวันตกซึ่งมีการกินอาหารเส้นใยในระดับปานกลางมีอัตราตาย 267 ต่อหนึ่งแสน ขณะที่สหรัฐอเมริกาซึ่งมีการบริโภคเส้นใยน้อยที่สุดในกลุ่ม มีอัตราตายจากโรคหลอดเลือดหัวใจ 564 ต่อแสน

จะเห็นได้ว่า อัตราตายจากโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นสัดส่วนผกผันกับปริมาณการบริโภคอาหารเส้นใยนี่ก็สอดคล้องกับสมมติฐานของหมอทราเวลล์และพวกในเรื่อง “ความวสัมพันธ์ของเส้นใยกับการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ”

กลไกที่เส้นใยไปช่วยลดอุบัติการณ์ของโรคหลอดเลือดหัวใจยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าไม่ได้เป็นผลจากการช่วยลดระดับไขมันในเลือดลงเพียงอย่างเดียว กลไกอื่นๆ ที่อาจอธิบายได้ เช่น (เส้นใย) ช่วยลดระดับอินซูลินในเลือด ช่วยลดแรงดันเลือดลงบ้างเล็กน้อย และไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการแข็งตัวของเลือด ฯลฯ

ช่วยลดความดันโลหิตสูงลงได้

อาหารเส้นใยมีผลต่อแรงดันเลือด ในพวกมังสวิรัติ ซึ่งบริโภคเส้นใยมากกว่าคนทั่วไป 2 เท่า มีความดันเลือดโดยเฉลี่ยต่ำกว่าคนอื่นๆ

ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม ประชาชนมีความดันเลือดเพิ่มตามอายุ แต่ในกลุ่มประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งมีการบริโภคอาหารเส้นใยมากกว่า ประชากรสามารถรักษาความดันเลือดค่อนข้างต่ำไว้ได้ตลอดชีวิต

ข้อมูลเหล่านี้ จูงใจให้มีผู้ทำการศึกษาผลของการเพิ่มเส้นใยในอาหาร ปรากฏว่าทั้งในคนที่มีความดันเลือดในเกณฑ์ปกติและคนที่มีความดันเลือดสูง เมื่อกินอาหารที่มีเส้นใยเพิ่มขึ้น ความดันเลือดจะลดลงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

อย่างไรก็ดี เนื่องจากการให้อาหารเส้นใยสูงทำควบคู่ไปกับการลดไขมันในอาหาร การควบคุมปริมาณอาหารและเกลือที่กิน อีกทั้งส่งเสริมให้มีการออกกำลังกายเป็นประจำ ดังนั้น จึงยังพูดไม่ได้เต็มปากว่าความดันเลือดที่ลดลงในการศึกษาเหล่าเป็นผลมาจากเส้นใย

ป้องกันมะเร็งของลำไส้ใหญ่ได้นะจ๊ะ

แล้วก็มาถึงโรคของท่านประธานาธิบดีโรนัลด์ รีแกน การกินอาหารเส้นใยสูง อาจช่วยป้องกันโรคมะเร็งของลำไส้ใหญ่ ในประเทศอูกันดา มีคนเป็นมะเร็งของลำไส้ใหญ่น้อยกว่าชาวอเมริกันถึง 16 เท่า ท่านอาจคิดว่าเป็นที่ความแตกต่างกันของเผ่าพันธุ์ การศึกษาในชนเชื้อชาติเดียวกันที่อพยพไปอยู่ต่างถิ่น พบว่าอัตราการเป็นมะเร็งลำไส้ต่างกันออกไปด้วย

กล่าวคือ กลุ่มที่อพยพไปอยู่ถิ่นใด ก็จะมีอัตราการเป็นโรคมะเร็งเหมือนกับชาวพื้นเมืองของถิ่นนั้น แสดงว่ากรรมพันธุ์หรือพันธุกรรมมิใช่สาเหตุสำคัญ ปัจจัยอยู่ที่สิ่งแวดล้อม ชาวอูกันดา ในประเทศอูกันดา กินอาหารที่มีเส้นใยสูงกว่าชาวอเมริกา แม้ในหมู่ชาวอเมริกันเอง กลุ่มไหนที่กินอาหารเส้นใยมากจะเป็นมะเร็งของลำไส้ใหญ่น้อยกว่ากลุ่มที่กินเส้นใยน้อย การศึกษาในประเทศอังกฤษก็ให้ผลคล้ายคลึงกัน

ชาวดัทช์ที่อาศัยอยู่ในนครโคเปนเฮเกน เป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่าชาวฟินแลนด์ที่อาศัยอยู่ในชนบท 3 เท่า ชาวเมืองโคเปนเฮเกนกินอาหารเส้นใย วันละ 17 กรัม ในขณะที่ชาวนาชนบทของฟินแลนด์กินกันวันละ 31 กรัม

อะไรที่ทำให้เส้นใยในอาหารมีบทบาทในการป้องกันมะเร็งของลำไส้ใหญ่

กลไกที่ได้รับการเสนอ เช่น

- การช่วยดูดซึมสารพิษที่เป็นตัวก่อกำเนิดมะเร็ง และ/หรือช่วยเจือจางสารพิษนั้น เป็นเหตุให้สารพิษโอกาสสัมผัสกับผิวของลำไส้ใหญ่

- ร่นเวลาการขับถ่ายของอุจจาระ นี่ก็ช่วยให้สารพิษมีโอกาสสัมผัสผิวลำไส้น้อยลงเช่นกัน

- มีฤทธิ์ต่อต้านสารพิษทั้งที่ทำให้เกิดมะเร็งโดยตรงและโดยอ้อม

เป็นต้น

เส้นใยกับการเมือง

จะเห็นได้ว่า เส้นใยซึ่งไม่ใคร่มีใครใยดีว่ามีบทบาทสำคัญ ในการป้องกันโรคหลายชนิดนี้ อาจพลิกโฉมหน้าของการเมืองได้ ลองคิดกันเล่นๆ ว่า ถ้าเกิดประธานาธิบดีโรนัลด์ รีแกน มีอันเป็นไปจากมะเร็งของลำไส้ใหญ่ การเมืองระหว่างประเทศจะปั่นป่วนเปลี่ยนแปลงแค่ไหน ทั้งนี้โรคที่ท่านเป็น อาจป้องกันได้โดยมาตรการง่ายๆ เช่น กินเส้นใยเพิ่ม

เห็นหรือยังครับว่า เส้นใยผู้ต่ำต้อยก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองระดับสูงสุดได้ แล้วยังจะดูถูกอีกหรือครับ ว่ามันเป็นเพียงกากเดนของอาหาร

ข้อมูลสื่อ

77-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 77
กันยายน 2528
เรื่องน่ารู้
นพ.กฤษฎา บานชื่น