• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กดจุดเลิกบุหรี่ อดเหล้า เลิกยา

กดจุดเลิกบุหรี่ อดเหล้า เลิกยา

แปลและเรียบเรียงจากหนังสือ The Acupressure Book โดย Frank Bahr.M.D.

ความรู้เรื่องการกดจุดเป็นของเก่าแก่และมีมานานหลายพันปีซึ่งเป็นที่ยอมรับของชาวจีน ศาสตร์แห่งการกดจุดได้แพร่หลายไปทั่วโลก ทั้งในอเมริกาและยุโรป โดยเฉพาะในยุโรป Dr.Frank Bahr ท่านเป็นแพทย์ชาวเยอรมัน เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการกดจุดโดยเฉพาะ ท่านได้ศึกษาและเขียนตำราการกดจุดไว้ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ามีประโยชน์ เหมาะสำหรับนำมาเผยแพร่แก่ประชาชนในการดูแลสุขภาพ เพราะกดจุดก็คือ ศาสตร์แขนงเดียวกับการฝังเข็มที่เราๆ ท่านๆ รู้จักกันดี แต่การกดจุดเป็นการฝังเข็มโดยไร้เข็ม ทั้งยังไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดเข็มเหมือนฝังเข็ม และไม่มีอันตรายใดๆ ต่อผู้ทำ ถ้าท่านกดถูกวิธีและมีประสิทธิภาพก็จะได้ผลในการรักษาทั้งยังช่วยเสริมการรักษาของแพทย์ให้หายเร็วขึ้น แต่ถ้าท่านทำแล้วไม่ได้ผล ก็ไม่มีข้อเสียหายอะไร

สิ่งเสพติดที่จะกล่าวต่อไปนี้ ได้แก่ เหล้า บุหรี่ ยา (ยานอนหลับ ยาม้า ยาขยัน) ผู้ติดสารเหล่านี้จะรู้สึกอยากที่จะเสพสารชนิดหนึ่งชนิดใดอย่างแรง เพื่อระงับความรู้สึกหงุดหงิด ซึมเศร้า

การกดจุดที่ใบหูใช้ได้ผลดีในการรักษาผู้ติดสารเสพติด และยังสามารถกดจุดเพื่อป้องกันการกลับไปติดใหม่อีกด้วย ผู้ที่เพิ่งติดสารเสพติดใหม่ๆ ควรจะได้ผลดีในการรักษาด้วยวิธีกดจุดเพียงอย่างเดียว แต่ต้องใช้เวลานานในการรักษา

อาการ

สุขภาพของผู้ติดสารเสพติดจะดูซูบผอม มีความอยาก กระหายบุหรี่ แอลกอฮอล์ (เหล้า) หรือยาอย่างรุนแรง มีน้อยคนที่สามารถจะเอาชนะความอยากได้ด้วยพลังจิตของตนเอง มันเป็นสิ่งที่ยากมากที่จะเลิกได้ จนบางรายต้องหันกลับไปเสพมันอีก

ลักษณะที่พบร่วมในผู้ติดสารเสพติด คือ

1. ผู้ป่วยจะต้องเพิ่มปริมาณยาที่ใช้ขึ้นเรื่อยๆ

2. มีความต้องการสุดจะอดกลั้น จะต้องหายานั้นมาให้ได้ไม่ว่าโดยวิธีใดก็ตาม

3. ถ้าหยุดยาจะเกิดอาการขาดยา

สาเหตุ

บางรายต้องกลายมาติดสารเสพติด บางอย่างโดยไม่รู้ตัว เช่น รายที่ใช้ยานอนหลับ เพื่อรักษาการนอนไม่หลับพร่ำเพรื่อจนเกินไป ในที่สุดก็กลายเป็นผู้ติดยาได้ เมื่อไม่ได้ยาจะนอนไม่หลับ ในรายอื่นๆ อาจติดยาเสพติด เพราะมีปัญหาทางด้านจิตใจ ซึ่งมาจากปัญหาทางครอบครัว โดยเฉพาะเด็กที่ถูกทอดทิ้ง ในที่สุดเด็กเหล่านั้นจะหันไปพึ่งยาเสพติด การกดจุดจะไปช่วยลดปฏิกิริยาของร่างกาย เมื่อหยุดยาทำให้รู้สึกไม่ทรมานมาก และยังป้องกันไม่ให้กลับไปติดใหม่อีกครั้ง

ตำแหน่งที่กดจุด

จุดบนร่างกาย : จะได้ผลในการรักษาน้อยกว่ากดจุดที่ใบหู

1.จุด “จู๋ซานหลี่” (tsu-san-li)

วิธีหาจุด :

จุดนี้เมื่อวางฝ่ามือบนหัวเข่ากางนิ้วมือออก จุดจะอยู่ที่ปลายสุดของนิ้วนาง

วิธีนวด :

นวดลง

 

 

2. จุด “จิวอุ่ย” (chin-wei)

วิธีหาจุด :

อยู่กึ่งกลางของลำตัว ในระดับเดียวกับใต้ราวนม

วิธีนวด :

นวดขึ้นบน

 

 

3. จุด “โห้วติ่ง” (hon-ting)

วิธีหาจุด :

เป็นแอ่งเล็กๆ อยู่บนศีรษะ อยู่กึ่งกลางระหว่างหู

วิธีนวด :

นวดเข้าหาหน้าผาก

 

 

กดจุดที่ใบหู

การกดจุดที่อยู่บนใบหูจะได้ผลดี สำหรับการรักษาผู้ติดยาเสพติด

หูขวา :

1. จุดอยู่บริเวณติ่งหูบนและล่าง

วิธีนวด :

นวดลงล่าง

2. จุดอยู่บริเวณส่วนโค้งของขอบหู

วิธีนวด :

นวดขึ้นบน

 

 

หูซ้าย :

1.จุดอยู่บริเวณสันหูโผล่ขึ้นมาจากแอ่งหู

วิธีนวด :

นวดเฉียงไปด้านหลัง

2. จุดที่อยู่บริเวณหน้าหูติดกับแอ่งหูส่วนล่าง

วิธีนวด :

นวดลงล่าง

 

ในระยะเพิ่งเลิกยาเสพติด (บุหรี่ เหล้า ยา) ควรทำการกดจุดที่หู วันละ 2-5 ครั้ง นวดนานครั้งละ 5 นาที หลังจากนั้น เมื่ออาการเริ่มดีขึ้น คุณสามารถเปลี่ยนมานวดจุดที่ร่างกายและใบหูสลับวันกันได้ การกดจุดเพื่อป้องกันการกลับไปติดยาใหม่ คือ คุณควรจะนวดต่อไปอีกอาทิตย์ละ 1-2 ครั้ง เป็นเวลา 3-5 เดือน

จุดที่ใช้รักษาเพื่อเลิกเหล้า เลิกบุหรี่นี้ มีนักกดจุดบางรายได้นำมาใช้ประโยชน์ในการลดความอยากอาหารนั่นก็คือ นำมาใช้ลดความอ้วนในบรรดานักกินที่ชอบกินทุกอย่างที่ขวางหน้า คุณผู้อ่านลองนำไปปฏิบัติดูก็ได้ไม่เสียหายอะไร ได้ผลดีอย่างไรอย่าลืมเขียนมาเล่าสู่กันฟังบ้าง

ข้อแนะนำทั่วไปก่อนกดจุด

1. นั่งหรือนอนในท่าที่สบาย มือที่จะกดจุดไม่ควรจะเย็น ถ้าเย็นควรทำมือให้อุ่นก่อนโดยแช่ในน้ำอุ่น หรือใช้ผ้าห่มมือไว้

2. ถ้าท่านมีผิวหนังที่แพ้ง่าย อาจจะโลชั่นหรือแป้งฝุ่นทาบริเวณที่จะกดจุดก่อนลงมือกดจุด

3. ระหว่างทำการกดจุด บางรายอาจมีเหงื่ออกมาก ควรให้พักระหว่างการกดจุดได้

4. ในวันที่อากาศหนาวเย็น เมื่อกดจุดเสร็จเรียบร้อย ก่อนออกไปนอกบ้านควรสวมเสื้อให้อบอุ่น

ข้อแนะนำก่อนกดจุด

1. การกดจุด หมายถึง การนวดจุดนั้นๆ โดยใช้ปลายนิ้วมือที่เล็บสั้น

2. อ่านและดูรูปทีแสดงตำแหน่งการกดจุดให้เข้าใจ แล้วลองกดจุดที่อยู่บนร่างกาย สำหรับจุดที่อยู่บนใบหูแจจะใช้กระจกส่องช่วยหาจุด หรือวานให้ใครคนใดคนหนึ่งดูจุดนั้นในรูปแล้วชี้ตำแหน่งให้

3. เมื่อท่านกดถูกจุดๆ นั้นจะให้ความรู้สึกได้ดีกว่าบริเวณรอบๆ และควรกดจุดให้แรงพอ

4. นิ้วมือที่นิยมใช้กดจุด มักใช้นิ้วชี้ โดยให้ปลายนิ้วตั้งฉากกับผิวหนัง และนวดไปตามทิศทางที่ลูกศรชี้ในภาพ นวด (ถู) ออกไปเป็นระยะทาง 1 นิ้ว การนวดควรนวดประมาณ 30 ครั้งต่อ10 วินาที หรือ 70-100 ครั้งต่อนาที

5. จุดบนใบหูอาจจะใช้ปลายนิ้วก้อยหรือปลายดินสอ, ปากกามนๆ นวดได้ เพราะบริเวณใบหูเล็กและแคบกว่าร่างกาย

6. การกดจุดตามหลักของจีนได้กำหนดเวลาในการกดจุดแต่ละครั้งไว้ ดังนี้

  • เด็กอายุ 0-3 เดือน ใช้เวลากดทั้งหมด ½ -3 นาที
  • เด็กอายุ 3-6 เดือน ใช้เวลากดทั้งหมด 1-4 นาที
  • เด็กอายุ 6-12 เดือน ใช้เวลากดทั้งหมด 1-5 นาที
  • เด็กอายุ 1-3 ปี ใช้เวลากดทั้งหมด 3-7 นาที
  • เด็กโตตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ใช้เวลากดทั้งหมด 5-10 นาที
  • ผู้ใหญ่ ใช้เวลากดทั้งหมด 5-10-15 นาที

7. จุดที่กดอยู่บนร่างกาย ควรกดหรือนวดทั้ง 2 ข้างของลำตัว (ร่างกายจะแบ่งเป็น 2 ข้าง คือ ข้างขวาและซ้าย)

8. ระยะต่างๆ ที่ใช้ในการวัด จะวัดจากความกว้างของนิ้วของผู้กดจุดเอง

ข้อมูลสื่อ

77-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 77
กันยายน 2528
ลลิตา อาชานานุภาพ