• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาหยอดตา

ยาหยอดตา

เรื่องการซื้อยามาหยอดตาตามทที่เห็นทางโทรทัศน์หรือได้ยินทางวิทยุเป็นเรื่องที่ท้าทายและน่าลิ้มลอง เพราะสรรพคุณที่แจ้งหรือนัยหนึ่งชวนเชิญให้ใช้มีอิทธิพลโข ยาที่โฆษณาส่วนใหญ่นั้น ไม่มีอันตรายกับตาเท่าไรนัก การซื้อมาหยอดกับการไม่ได้หยอด ก็ไม่ทำให้มีความแตกต่างในทางพยาธิสภาพของตาผู้นั้นไม่ เว้นบางคนอาจแพ้ยาชนิดนั้นได้เท่นั้นเอง ยาพวกนี้เป็นยาชนิดที่ผมอยากจะเรียกว่า หยอดแล้วสบายใจมากกว่า

แต่เรื่องที่ขอได้โปรดให้ความระมัดระวังให้มากสักหน่อย คือ เรื่องซื้อยามาหยอดเองจากร้านขายยาที่ไม่มีเภสัชกรควบคุม หรืออีกนัยหนึ่งยาตามร้านขายยาชั้นสอง หรือยาประเภท ข. หรือ ค. กล่าวง่ายๆ ก็จะว่าร้านขายที่มีหมอตี๋บรรเลงเองนั่นแหละ คนไข้ชอบเข้าไปขอซื้อยารักษาโรคตามแบบต่างๆ โดยเล่าอาการให้ฟัง เขาจะจัดยาหรือหยิบยามาให้ ถ้าเป็นโรคเยื่อยาอักเสบธรรมดาคงไม่มีอะไรรุนแรง เผอิญเป็นโรคตาชนิดที่ไม่ใช่ตาแดงธรรมดา มีอันถึงทำให้ตาบอดได้เร็วยิ่งขึ้น

การจะใช้ยาหยอดตา หรือป้ายตา จึงควรระวังเพราะโรคตาแต่ละโรคไม่เหมือนกัน แม้โรคเยื่อตาอักเสแบบธรรมดาๆ หรือที่เรียกว่า “โรคตาแดง” แบบติดเชื้อก็ยังอาจเลือกใช้ยาแบบต่างๆ กันได้ออกไปอีกหลายชนิด ผมจึงขอให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่จะใช้ยาหยอดตา แก้ตาอักเสบเป็นหลักคร่าวๆ ดังนี้

1. ถ้ามีอาการระคายเคืองเหมือนมีฝุ่น ผง เข้าตาหลังจากที่มีพายุพัดมาอย่างแรง หรือเดินผ่านบริเวณที่เชื่อแน่ว่ามีฝุ่นละอองปลิวกระจาย อยู่ท่านสามารถล้างตาได้ด้วยน้ำยาบอริก 3% ขององค์การเภสัชที่มีประจำบ้าน ถ้าไม่หายควรไปให้แพทย์ตรวจดูว่ามีผงติดอยู่หรือเปล่า ห้ามขยี้เด็ดขาด

2. ถ้ามีอาการตาแดง น้ำตาไหล คันตา ตื่นเช้ามาขี้ตาติดขอบตาทั้งบนล่างสองข้าง ให้เช็ดตาด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำยาบอริก 3% จนขี้ตาหมดแล้วหยอดด้วยตาแอลลูซิด 10% ซึ่งเป็นยาพวกซัลฟา ยาสามัญประจำบ้านหยอดบ่อยๆ วันละ 4-5 ครั้ง ประมาณ 3-4 วัน นอกจากแอลลูซิด 10% แล้วอาจจะใช้ยาปฏิชีวนะชนิดอื่น เช่น เทอร์รามัยซิน เพนิซิลลินป้ายตา (Terramycin) ป้ายวันละ 3 ครั้ง หรืออาจเป็นคลอแรมฟินิคอลหยอดตา หยอดวันละ 4-5 ครั้ง ติดต่อกัน 4-5 วัน เช่นเดียวกับแอลลูซิด 10% ก็ได้

ถ้าใช้ยาสามัญประจำบ้านดังกล่าวข้างบน อาการไม่ทุเลาให้รีบหยุดยาทันที แล้วไปปรึกษาแพทย์ที่อยู่ใกล้ท่านมากที่สุด เพื่อการตรวจและวินิจฉัยที่ถูกต้อง เป็นโรคตาชนิดไหนแน่ อย่าใช้หมอพื้นเมือง (หมอเถื่อน) เสกเป่าล่ะครับ จะไปกันใหญ่!

3. ถ้ามีอาการตาแดง ระคายเคือง น้ำตาไหล ไม่มีขี้ตา ออกแดดปวดมาก ควรรีบไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว ท่านอาจจะเป็นม่านตาอักเสบแบบเฉียบพลันได้ ต้องใช้ยาเฉพาะโรค มิฉะนั้นตาอาจบอด

4. ถ้ามีอาการตาแดง น้ำตาไหล ตามัว มองเห็นดวงไฟมีลักษณะเหมือนรุ้งกินน้ำ ปวดลูกตามากรับประทานยาแก้ปวดก็ไม่ทุเลา ท่านอาจจะเป็นต้อหินชนิดมุมปิดแบบเฉียบพลันได้ ให้รีบไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว ยาสามัญประจำบ้านไม่ได้ช่วยให้อาการดีขึ้น โรคนี้สายตาจะลดลงอย่างรวดเร็วเป็นสาเหตุให้ตาบอดได้ในที่สุด

5. ถ้ามีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา นับตั้งแต่ฝุ่นละออง ผง เศษดินหรือใบไม้ เศษแกลบ เศษเหล็กเข้าตา มีอาการระคายเคือง ตาแดง น้ำตาไหล ให้ล้างตาด้วยบอริก 3% ก่อน แล้วป้ายตาด้วยเทอร์รามัยซินป้ายตา (หรือออคคิวเล้น-ทีป้ายตา) หรือเพนิซิลลินป้ายตา ป้ายตาข้างนั้น แล้วปิดตาไว้ก่อน ค่อยไปปรึกษาแพทย์

6. ถ้ามีอุบัติเหตุที่ตา เป็นต้นว่า ถูกกระแทกอย่างแรง ถูกตบ ตีโดนของมีคม รถคว่ำ หกล้มกระแทกพื้น แง่หรือเหลี่ยมโต๊ะ ตาเขียวช้ำเป็นจ้ำ ขอแนะนำให้ป้ายตาหรือออคคิวเล้น-ทีป้ายตา หรือเพนิซิลลินป้ายตา ป้ายตาข้างนั้นไว้ก่อนปิดตา แล้วค่อยไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจดูบาดแผลแตกต่อไป

7. ประเภทสุดท้ายที่พึงควรสังวร คือ ยาหยอดตาหรือยาป้ายตา ไม่ว่าชนิดใด แม้จะเป็นยาสามัญประจำบ้าน ควรตรวจดูให้แน่ทุกครั้งก่อนใช้ว่า หมดอายุหรือยัง เพราะยาพวกปฏิชีวนะ หรือยาบางอย่างจะมีฉลากยาปิดไว้ด้านข้างขวดว่า ยาหมดอายุการใช้งานเดือนไหน ปีไหน และที่แน่ๆ คือ ยาหยอดตาที่เปิดจุกใช้แล้วก็จะเสื่อมคุณภาพไปตามวันเวลา จะมีฤทธิ์เต็มที่ภายในหนึ่งเดือนหลังจากเปิดใช้ครั้งแรรกเท่านั้น จากนั้นจะค่อยๆ เสื่อมสภาพลงทีละน้อย

ท่านอาจจะแพ้ยา หรือเอายาหมดอายุมาหยอดตาได้ ถ้าไม่แน่ใจยาตัวใดอย่าใช้เด็ดขาด สังเกตได้ง่ายว่ายาชนิดนั้นจะมีลักษณะ

ก. เปลี่ยนสีไปจากเดิมหรือไม่ ?

ข. มีตะกอนตกที่ก้นขวดหรือเปล่าในกรณีท่าน้ำชนิดนั้นเป็นชนิดน้ำใส

ค. ถ้ายาล้างตามีตะกอนขุ่นข้นเมื่อเขย่าขวด อย่าได้นำมาใช้

สำหรับอาการอื่นๆ ขอโรคตา ผมไม่อยากแนะนำให้ใช้ยาก่อน อาจผิดพลาดหรือแพ้ยาชนิดใดชนิดหนึ่ง จะทำให้การรักษาเนิ่นนานออกไปเปล่าๆ เนื่องจากตาเป็นอวัยวะที่ค่อนข้างไวต่อความรู้สึก และละเอียดอ่อนซับซ้อน ทางที่ดีอย่าเสียงต่อ “การลองยา” เป็นวิธีที่ดีที่สุด พลาดท่าเสียตาไปข้างจะเหลือเพียงข้างเดียวเท่านั้น หรือมิฉะนั้นอาจจะสองข้าง ย่อมแล้วแต่บุญกรรมทำมาแต่ปางก่อน เป็นเรื่องโศกเศร้า หาซื้อมาทดแทนกันไม่ได้ แม้จะมีเงินทองมากมายเท่าใดก็ตาม...

ข้อมูลสื่อ

79-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 79
พฤศจิกายน 2528
อื่น ๆ
นพ.สุรพงษ์ ดวงรัตน์