• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กุ้งยิง ฝี พุพอง

กุ้งยิง ฝี พุพอง


                               

 “คอลัมน์นี้จะช่วยให้ผู้อ่านรู้จักอาการและโรคต่าง ๆ รวมทั้งวิธีตรวจร่างกายด้วยตนเอง ซึ่งจะนำมาเสนอเป็นประจำทุกฉบับ”

 

  

 

คุณผู้อ่านครับ ภาพทางขวามือ เมื่อมองปั๊บคงทราบใช่ไหมครับว่าเป็นโรคอะไร

รูปที่ 1
ตุ่มฝีเล็ก ๆขึ้นที่ขอบตา ชาวบ้านเราเรียกว่า กุ้งยิง (ทำไมเรียกแบบนี้ ใครทราบช่วยบอกด้วยครับ) ใครที่เป็นกุ้งยิง จะรู้สึกขวยเขิน เพราะกลัวจะถูกผู้คนทักว่าไปแอบดูใคมา ความจริงไม่เกี่ยวกันครับ
กุ้งยิงเกิดจากมีเชื้อแบคทีเรียเข้าไปในต่อมขับไขมันรอบ ๆขนตา แล้วเกิดการอักเสบเป็นฝีเล็ก ๆ ขึ้นมา มักจะเป็นเวลาที่ร่างกายทรุดโทรม อดหลับอดนอนหรือขาดการรักษาความสะอาด
มักจะเป็น ๆ หาย ได้บ่อยหรือเป็นสลับข้างไปมา

รูปที่ 2
ฝี ขึ้นเป็นไตแข็งและปวดร้อน ไม่กี่วันต่อมาจะนุ่มบางครั้งแตกเอง เกิดจากการอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียเช่นกัน

รูปที่ 3
พุพอง ขึ้นเป็นตุ่มหนองเล็ก ๆ หลาย ๆ ตุ่ม ถ้าขึ้นที่ศีรษะ เรียกว่า ชันนะตุ อาจขึ้นที่แขน ขา และลำตัว มักพบในเด็กที่ชอบเล่นตามดินทรายที่สกปรก เกิดจากการอักเสบของเชื้อแบคทีเรียเช่นเดียวกัน


⇒การรักษา

ทั้ง 3 โรคนี้ มีสาเหตุแบบเดียวกัน เพราะให้การรักษาคล้ายกันคือ
เมื่อเริ่มเป็นใหม่ ๆ ให้กินยาปฏิชีวนะ เช่น เพนวี ผู้ใหญ่ใช้ชนิด 4 แสนยูนิต เด็กใช้ชนิด 2 แสนยูนิต กินครั้งละ 1 เม็ด วันละ 4 ครั้ง นาน 5-7 วัน
สำหรับ พุพอง อาจใช้ยาใส่แผลสด (ยาน้ำสีแสด) หรือ เจนเชี่ยนโอเล็ต (ยาน้ำสีม่วง) ทาป้ายวันละ 2-3 ครั้ง ร่วมด้วย
สำหรับกุ้งยิงและฝี ถ้ากินยา 5-7 วัน ยังไม่ยุบ หรือเริ่มรู้สึกนุ่ม ควรให้หมอผ่าเอาหนองออก


⇒ การป้องกันไม่ให้เป็นกุ้งยิง ฝี พุพอง
ก็คือ การรักษาความสะอาด อาบน้ำฟอกสบู่ทุกวัน อย่าให้เด็กวิ่งเล่นตามดินทรายหรือที่สกปรกหมั่นตัดเล็บให้สั้น
ในผู้ใหญ่ ถ้าพบว่าเป็นกุ้งยิง ฝี หรือพุพอง บ่อยๆ ควรปรึกษาแพทย์ตรวจดูว่าเป็นโรคเบาหวานหรือไม่เพราะโรคเหล่านี้อาจพบได้บ่อยในคนที่เป็นเบาหวาน.
 

ข้อมูลสื่อ

39-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 39
กรกฎาคม 2525
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ