• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กวัยขวบครึ่งถึงสองขวบ

เด็กวัยขวบครึ่งถึงสองขวบ

ลักษณะของเด็ก

271. ลักษณะของเด็กวัยขวบครึ่งถึงสองขวบ

นอกจากออกกำลังกายแล้ว กำลังสมองก็ต้องฝึกด้วย เด็กอายุขวบครึ่งขึ้นไปชอบถามซ้ำซากว่า “นี่อะไร ?” เด็กรู้ว่าเมื่อถามคำถามนี้แล้วคุณแม่จะหันมาพูดกับตน เด็กจึงถามบ่อยๆ และคุณแม่ควรตอบคำถามของแกเสมอ เด็กอยากคุยกับคุณแม่และเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากบทสนทนากับคุณแม่นี้เอง

คุณแม่ไม่ควรตอบคำถามลูกอย่างนักปราชญ์ผู้รอบรู้สารานุกรมทั้งชุด แต่น่าจะตอบอย่างนักประพันธ์หรือกวีให้ลูกนำไปคิดเองด้วย

ลักษณะเด่นของแต่ละบุคคลปรากฏชัดตั้งแต่วัยนี้แล้ว เด็กที่ชอบดนตรีพอได้ยินเสียงเพลงจากวิทยุหรือโทรทัศน์เป็นหูกางโยกตามทันที เด็กที่ชอบวาดรูปนั้น ขอให้มีกระดาษและดินสอหรือสีเทียนเถอะ แกละเลงได้ไม่รู้เบื่อ เด็กที่ชอบหนังสือแกจะนั่งดูหนังสือภาพอย่างดูดดื่ม พวกที่ชอบออกกำลังกายกระโดดโลดเต้นทั้งวัน พวกนายช่างเก่ากลับชาติมาเกิดก็จะรื้อของมาแกะสำรวจตรวจวิเคราะห์ บางทีก็หมุนหมุดโต๊ะ เก้าอี้ ถอดออกมาดูหมด

การที่ได้ทำในสิ่งที่ตนชอบคือเวลาที่มีความสุขและสนุกที่สุด พ่อแม่ควรช่วยลูกในเรื่องนี้ เด็กที่ชอบดนตรีพ่อแม่ก็น่าจะร่วมร้องเพลงด้วย ถ้าลูกชอบวาดรูป ก็ควรหากระดาษแผ่นใหญ่ๆ ให้ ลูกชอบหนังสือก็พาไปร้านหนังสือเลือกซื้อหนังสือภาพด้วยกัน ลูกชอบออกกำลัง ก็ซื้อรถสามล้อเล็กให้ สำหรับนายช่างน้อย ก็ซื้อของเล่นที่แกะได้ ประกอบได้ให้ลูกเล่น

ระยะเวลานอนตอนกลางคืนจะยาวหรือสั้น ขึ้นอยู่กับความว่องไวของเด็ก เด็กที่ซนมักจะนอนดึกและตื่นเช้า เด็กที่มีนิสัยเงียบเฉยนั้นนอนเร็วและนอนนาน เวลานอนตอนกลางวันก็เช่นเดียวกัน เด็กซนมากนอนน้อยเด็กซนน้อยนอนมาก บางคนนอนนานกว่า 2 ชั่วโมง ก่อนนอนตอนกลางคืน ควรหัดให้เด็กเปลี่ยนชุดนอนเอง โดยคุณแม่ช่วยปลดและติดกระดุมให้เท่านั้น

ฟันของเด็กวัยนี้ นอกจากฟันหน้าบนล่างอย่างละ 4 ซี่แล้ว ยังมีเขี้ยวและฟันกรามขึ้นแล้วรวมเป็น 16 ซี่ ก่อนนอน หัดให้ลูกแปรงฟันเองและคุณแม่ดูแลให้สะอาดอีกครั้ง อาหารของเด็กวัยนี้ คือ อาหารหลัก 3 มื้อ ขนม 2 มื้อ และนม 2-3 ขวด อาหารเช้า เด็กมักไม่ยอมกิน บางคนกินแต่ขนมปังนิดหน่อย หรือไข่ต้ม หรือนมขวดเดียวเท่านั้น

เด็กวัยนี้กินข้าวไม่มาก แต่ละมื้อเด็กกินข้าวไม่ถึงหนึ่งชามเป็นส่วนใหญ่ บางคนรวม 3 มื้อแล้วกินข้าวเพียงชามเล็กๆ ชามเดียว แต่ถ้าเด็กกินปลากินไข่ด้วยก็ไม่เป็นไร เด็กบางคนข้างไม่ค่อยกิน กับข้าวก็ไม่ค่อยกิน แต่กินนมวันละ 4-5 ขวด ถึงจะเป็นเช่นนี้ก็พอเพียงสำหรับเด็กวัยขวบครึ่งถึงสองขวบ ไม่มีปัญหาอะไรในอนาคต

เมื่อเด็กกินอาหารได้มากประเภทขึ้น ชนิดของกับข้าวก็มากขึ้นและเกิดปัญหา “เลือกกิน”ตามขึ้นมานิสัย เลือกกิน คือ ลักษณะเฉพาะตัวของเด็กในเรื่องรสชาติเท่านั้นเอง การที่เด็กชอบกินสิ่งนี้ไม่ชอบกินสิ่งนั้น ไม่น่าจะถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง คุณแม่คอยดูแลให้ลูกได้อาหารครบตามหลักโภชนาการก็พอแล้ว

เรื่อง “กินน้อย” หรือ “เลือกกิน” ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ สิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือ การฝึกให้เด็กวัยนี้รู้จักกินข้าวด้วยตนเอง สนับสนุนให้เด็กใช้ช้อนตักข้าวป้อนเข้าปากของตนเอง ถือถ้วยดื่มนมหรือน้ำเอง คุณแม่ที่กลุ้มใจกับปัญหาลูกกินน้อยหรือเลือกกิน มักเป็นคุณแม่ที่ชอบป้อนข้าวยัดเยียดให้ลูกกิน การที่เด็กจับช้อนตักข้าวกินเองนั้น เป็นการสร้างความเชื่อมั่นในตนเองและจิตใจที่รักการพึ่งตนเอง ซึ่งสำคัญต่อชีวิตของเด็กมากกว่าข้าวอีกครึ่งชามที่คุณแม่ยัดเยียดป้อนให้เป็นไหนไหน

มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ไม่ชอบกินผัก โดยเฉพาะผักสด แทนที่จะบังคับให้ลูกกินผักสด คุณแม่ปรุงอาหารที่ลูกชอบโดยใส่ผักลงไปด้วย เด็กจะยอมกินและค่อยๆ ชินกับรสชาติของผัก และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือคุณพ่อคุณแม่เองนั่นแหละ ถ้าคุณแม่ไม่ชอบกินผัก เวลากินข้าวกับลูกคุณแม่เขี่ยเอาผักออกในขณะที่ปากพร่ำบอกลูกว่า “หนูต้องทานผักนะจะได้แข็งแรง” เด็กที่ไหนจะเชื่อฟัง

โยเกิร์ตช่วยเด็กที่ท้องผูกง่ายให้ขับถ่ายได้ดีขึ้น และยังเหมาะสำหรับเด็กที่กินเก่ง ข้าวก็กินเยอะ แถมยังดื่มนมอีกวันละ 4-5 ขวด ให้แกกินโยเกิร์ตแทนนมบ้าง เป็นการช่วยลดความ “อ้วนฉุ”

การฝึกให้เด็กรู้จักนั่งกระโถนเองนั้น เริ่มได้แล้วในวัยนี้ แต่อย่าใจร้อน เพราะในเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับนิสัยของเด็ก อย่างไรก็ตาม เด็กทุกคนจะทำได้เองไม่เร็วก็ช้า การขับถ่ายเป็นเรื่องที่เด็กต้องช่วยตนเอง จึงเป็นการสร้างจิตใจรักการพึ่งตนเองอย่างหนึ่ง ถ้าคุณแม่ขยันจับลูกนั่งกระโถน เด็กคงคิดพึ่งคุณแม่เรื่อยไป หรือถ้าแกเป็นคนรักความอิสระมาก แกก็จะต่อต้านคุณแม่ทุกครั้ง เด็กวัยนี้บางคนบอกฉี่ได้แล้วในตอนกลางวัน แต่ตอนกลางคืนมีน้อยคนที่จะบอกได้

เมื่อเด็กโตขึ้น และออกไปเล่นกับเพื่อนๆ นอกบ้านบ่อยขึ้น หรือมีเด็กอื่นๆ มาเล่นด้วยในบ้าน โอกาสที่จะติดโรคติดต่อต่างๆ เช่น หัด หัดเยอรมัน อีสุกอีใส คางทูม ฯลฯ มีมากขึ้นสำหรับ หัด หัดเยอรมัน และคางทูมนั้น ฉีดวัคซีนป้องกันไว้ก่อนได้โดยฉีดรวมกันเข็มเดียว (ตามปกติหมอจะนัดฉีดตอนอายุ 1 ขวบ)

สำหรับวับขวบครึ่งนี้ เด็กจะต้องฉีดวัคซีนป้องกัน คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก รวมทั้งกินวัคซีนป้องกันโปลิโออีกครั้ง เป็นการกระตุ้น อย่างไรก็ตาม โรคที่เด็กวัยนี้เป็นมากที่สุด ก็คือ โรคหวัด จากเชื้อไวรัสแชมป์ตลอดกาลนั่นเอง

ข้อมูลสื่อ

79-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 79
พฤศจิกายน 2528