• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

จะนอน จะนั่ง จะยืน จะทำงาน ท่าไหนดี

จะนอน จะนั่ง จะยืน จะทำงาน ท่าไหนดี

มีอาการเจ็บปวดหรือโรคหลายชนิดที่สามารถป้องกันได้ ถ้าเราสนใจท่าทางต่างๆ ของเราเองในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างเช่น
อาการปวกต้นคอ
อาการปวดหลัง
การปวดร้าวลงมาที่แขนและขา
ข้อไหล่ติดขัด
ข้อเท้าแพลง
อาการเสื่อมของข้อสะโพกและข้อเข่า
การฉีกขาดของเส้นเอ็นตามข้อต่าง


อาการเหล่านี้มีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากท่าทางที่ผิดปกติทั้งนั้น ซึ่งทำให้ต้องเสียเวลานอนพักหรือไม่สามารถทำงานได้ในระยะเวลาหนึ่ง ทั้งเสียเงินทองที่จะต้องหายามาทา ถู กิน เพื่อลดอาการเจ็บปวด แต่แล้วเนื่องจากไม่ได้แก้ไขที่ต้นตอ อาการต่าง ๆ จึงไม่ได้หายไปและมักจะเป็นมากขึ้น ทั้งยังมีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นจากการกินยาอย่างพร่ำเพรื่อ ทำให้เป็นโรคกระเพาะหรือเกิดอาการแพ้ยาอื่นๆ รวมทั้งการทำลายข้อต่อต่าง ๆ จากผลของยาเหล่านี้

ทางที่ดีเราจึงควรรักษาสุขภาพของเราเอง โดยป้องกันอาการที่อาจเกิดจากท่าทางที่ไม่ถูกต้อง
ฉบับที่แล้วได้กล่าวถึง “ท่านั่ง” และ “ท่ายืน” ไปแล้ว ฉบับนี้ก็จะขอกล่าวถึง “ท่าเดิน” และ “ท่าทำงาน” ว่าจะเดินจะทำงานท่าไหนจึงจะดี

   


ท่าเดิน

การเดินก็เช่นเดียวกับท่ายืนต้องให้ศีรษะและลำตัวอยู่ในแนวเดียวกัน ไม่ควรใส่รองเท้าส้นสูง แต่ก็ไม่ควรเดินด้วยเท้าเปล่า เพราะนอกจากอาจจะได้รับอันตรายจากวัตถุแหลมคมแล้ว การเดินบนพื้นที่ชื้นและเย็น จะทำให้ความร้อนจากฝ่าเท้าลดลง ทำให้ส้นเท้าเจ็บปวดหรือเป็นตะคริวได้
เมื่อต้องหิ้วของหนัก ควรจะแยกของออกเป็น 2 ถุง(ให้มีน้ำหนักเกือบเท่ากัน) เพื่อหิ้วทั้งสองมือ (ดูรูปที่ 1 ) หรือใช้คานหาบของ(ดูรูปที่ 2) ซึ่งนอกจากจะช่วยทุ่นแรงแล้ว ยังป้องกันการปวดหลังได้อีก
ในบางคนอาจใช้ศีรษะทูนของไว้ แต่ต้องเป็นของที่ไม่หนักเกินไปมิฉะนั้นอาจทำให้ปวดคอได้

การเดินที่ถูกต้อง ควรจะให้ส้นเท้าแตะลงกับพื้นก่อนปลายเท้าและอย่าก้าวเท้ายาวเกินไป แต่การเดินเร็วมีประโยชน์มาก เป็นวิธีการบริหารที่ดีและเหมาะสำหรับคนทุกวัย
สำหรับคนที่มีอาการเจ็บปวดที่หัวเข่า ควรจะหลีกเลี่ยงการขึ้นลงบันได หรือเดินบนพื้นที่ขรุขระมาก
การวิ่งช้า ๆ เป็นการบริหารชนิดหนึ่ง แต่ไม่ควรวิ่งเร็วหรือนานเกินไปในวัยกลางคน หรือผู้ที่มีอาการปวดเข่าหรือหลัง
 

ท่าทำงาน
ไม่ว่าจะทำงานในท่ายืนหรือท่านั่ง จงพยายามหลีกเลี่ยงการก้มลง
ถ้าจำเป็นต้องหยิบของบนพื้นหรือหยิบของในลิ้นชักที่อยู่ต่ำมากควรย่อตัวลงนั่งยอง ๆ (ดูรูปที่3) แล้วหยิบ การใส่รองเท้าหรือผูกเชือกรองเท้า ควรจะยกเท้าวางไว้บนที่ที่มีระดับสูงกว่าแทนที่จะก้มตัวลง
(ดูรูปที่4) การหิ้วน้ำก็เช่นเดียวกัน อย่าก้มลงหิ้วถังน้ำซึ่งมีน้ำหนักมากควรคุกเข่าข้างหนึ่งลงและงอเข่าข้างที่อยู่ใกล้ถังน้ำให้เป็นมุมฉาก (ดูรูปที่ 5) แล้วหิ้วขึ้นมา พยายามหิ้วถังน้ำให้ชิดลำตัว

   
 

การอุ้มเด็กต้องนั่งยอง ๆ ลงก่อน เพื่อจับตัวเด็กให้กระชับเข้ากับลำตัวก่อที่จะอุ้มขึ้นมา
การทำงานทุกชนิด จำเป็นจะต้องให้หลังอยู่ในท่าตรงเสมอ มิฉะนั้นแล้วโอกาสที่หลังจะบาดเจ็บจะมีมาก


 

การยกกล่องจากพื้น ต้องนั่งยอง ๆ ลงและอุ้มกล่องให้ชิดกับลำตัว(ดูรูปที่ 6) แต่ถ้ากล่องนั้นหนักเกินไปจำเป็นต้องยกกัน 2 คน ควรเป็นคนที่มีความสูงไล่เลี่ยกัน(ดูรูปที่ 7)
การยกของขึ้นรถหรือขึ้นที่สูงต้องมีคนช่วยอยู่บนรถ ในขณะที่คนยกช่วยดันอยู่ข้างล่าง (ดูรูปที่ 8 ) ถ้ารถสูงเกินไป ก็จำเป็นจะต้องมีเก้าอี้หรือกล่องไม้สำหรับเหยีบขึ้นไปเพื่อให้ตัวสูงขึ้น ไม่ควรพยายามแอ่นหรือยืดตัว (ดูรูปที่ 9) เพราะนอกจากจะทำให้ไม่มีแรงแล้ว ยังจะทำให้หลังบาดเจ็บได้ง่าย

ปัญหาในท่าทำงานที่พบบ่อยคือ ท่าเกี่ยวข้าวและดำนา ซึ่งจำเป็นต้องก้มลง และอยู่ในท่าก้มเป็นเวลานาน ทำให้ปวดหลังมาก วิธีการทำนาจึงอาจต้องปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพขึ้น โดยใช้รถเกี่ยวข้าวหรือต่อเคี่ยวให้ด้ามยาวขึ้น เลือกพันธุ์ข้าวที่ไม่เตี้ยเกินไป หรือนั่งยอง ๆ แทนที่จะก้มลง
ถ้าหลีกเลี่ยงการก้มไม่ได้ก็ควรจะยืดตัวให้ตรงทุกครึ่งชั่วโมง แล้วบิดตัวไปมา เพื่อให้กล้ามเนื้อและไขข้อกระดูกสันหลังมีโอกาสพักผ่อนได้
 

จะนอน จะนั่ง จะยืน จะเดิน จะทำงาน ท่าไหนดี ? ก็ขอจบลงเพียงเท่านี้ครับ

ข้อมูลสื่อ

38-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 38
มิถุนายน 2525
รศ.ประโยชน์ บุญสินสุข