• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กวัยขวบครึ่งถึงสองขวบ

เด็กวัยขวบครึ่งถึงสองขวบ

การเลี้ยงดู

272. อาหารของเด็กวัยนี้

เมื่อเด็กกินข้าวเป็นอาหารหลัก บางฤดูเด็กอาจจะกินข้าวมาก บางฤดูก็กินน้อย โดยทั่วไปเด็กจะกินข้าวได้มากในช่วงอากาศเย็น และกินน้อยในช่วงฤดูร้อน

สำหรับเด็กที่กินเก่งทุกฤดูกาลและน้ำหนักมาก เกินกว่า 13 กิโลกรัม ในช่วงอายุเท่านี้ ควรให้กินผักและผลไม้มากขึ้น และให้โยเกิร์ตแทนนม

อาหารของเด็กธรรมดาซึ่งกินไม่มากหรือน้อยเกินไปในวัยนี้ มีตัวอย่างหนึ่ง คือ

  • 8.30 น. โยเกิร์ต ขนมปัง 1 แผ่น หรือข้าว 1/3 ชาม เด็กผสมแกงจืดผัก
  • 10.00 น. นม 1 ขวด (180 ซีซี) ผลไม้
  • 13.30 น. ข้าว 1/2 ชาม ปลาหรือไข่ฟองครึ่ง ผัก
  • 15.00 น. นม 1 ขวด ขนมปังกรอบ
  • 18.30 น. ข้าว 1/3 ชามปลา (ปริมาณเกือบเท่าผู้ใหญ่) หรือเนื้อ (1/3 ของผู้ใหญ่) ผัก
  • ก่อนนอน นม 1 ขวด

เด็กคนนี้พอจะจับช้อนกินเองได้ช่วง 5 นาทีแรกจะตักข้าวกินเอง แต่หลังจากนั้นแกจะเลิกไม่ยอมกินเอง แม่ต้องป้อนอาหารที่เหลือให้ เพราะถ้าไม่ป้อนแกจะเลิกกินไปเลย สำหรับเด็กอายุเท่านี้ แม่ยังต้องช่วยป้อนบ้าง การให้เด็กกินเองทั้งหมดโดยคุณแม่ยอมอดทนเฝ้าดูอยู่เป็นชั่วโมง ไม่ควรทำ ควรจัดการให้เด็กกินแต่ละมื้อให้เรียบร้อยภายในครึ่งชั่วโมง เด็กจะได้มีเวลาเล่นอิสระมากขึ้น

การแก้นิสัยเลือกกินโดยวิธีบังคับให้กิน มิฉะนั้นจะไม่ยอมลุกจากโต๊ะกินข้าวนั้น จะทำให้เด็กวิ่งหนีเมื่อถึงเวลานั่นโต๊ะกินข้าว เด็กที่กินข้าวได้มื้อละ 1 ชาม เราจะให้นมเพียงวันละ 2 ขวดก็ได้ แต่ไม่ควรงดนมทั้งหมดด้วยจุดประสงค์ที่จะให้เด็กกินข้าวมากขึ้น เด็กวัยนี้ควรกินนมอย่างวันละ 2 ขวด

สิ่งสำคัญที่สุดเวลากินข้าว คือ ให้เด็กกินอย่างมีความสุข อย่าบังคับให้กินโน่นกินนี่ หรือจับมือเด็กตลอดเวลา เพื่อหัดวิธีจับช้อนที่ถูกต้อง เพราะจะทำให้เด็กหมดความอยากอาหาร

เด็กที่ถนัดมือซ้าย ถ้าเราพยายามเปลี่ยนช้อนให้แกจับมือขวาอยู่เสมอ เด็กจะเลิกกินอาหารเองไปเลย ปล่อยให้เด็กทำตามถนัดจะดีกว่า

273. การนอนตอนกลางคืน

ถ้าคุณแม่คิดว่าเมื่อลูกโตขึ้นอายุเกือบจะสองขวบอยู่แล้ว คงจะเอาเข้านอนได้ง่ายขึ้น ก็นับว่าคิดผิดถนัด เมื่อเด็กโตขึ้น วิธีการเรียกร้องความสนใจจากคุณแม่จะพัฒนาขึ้นมาตามอายุของเด็กด้วย

เด็กที่นอนหลับปุ๋ยทันทีที่หัวถึงหมอนนั้น แทบจะหาไม่ได้ในโลกนี้เวลาง่วง เด็กจะกลับไปสู่สภาพดั้งเดิมของตน แม้แต่เด็กที่ไม่ค่อยติดแม่ตอนกลางวัน พอตกกลางคืนแกจะอ้อนหาแม่ เด็กส่วนใหญ่จะให้แม่อยู่ด้วยระหว่าง 10-15 นาทีก่อนที่แกจะหลับ ครอบครัวโดยทั่วไปจะตระหนักถึงธรรมชาติของเด็กในข้อนี้ดี แม่จึงเป็นผู้เอาลูกเข้านอน

แม้ว่า เด็กจะเริ่มแสดงความเป็นตัวของตัวเอง เช่น กินข้าวได้เอง ถอดกางเกงได้เอง ฯลฯ แต่ในส่วนลึกของหัวใจนั้นเด็กยังมีความรักและความผูกพันอยู่กับแม่ ต้องการดึงแม่ให้มาอยู่ใกล้ตน การที่คุณแม่ปฏิเสธ และดุให้ลูกนอนคนเดียวนั้น จะเป็นการช่วยสร้างนิสัยให้ลูกรู้จักพึ่งตนเองกระนั้นหรือ?

ความโกรธที่ฝังลึกอยู่ในใจเด็ก เมื่อถูกคุณแม่ปฏิเสธตัวเขานั้น รุนแรง เรื้อรัง และมีปัญหามากกว่าการที่เด็กยังสวมรองเท้าเองไม่ได้เสียอีก ความโกรธฝังใจนี้จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูกเลวลง ทำให้เด็กไม่อยากร่วมมือกับแม่ และไม่ยอมหัดนิสัยพึ่งตนเอง

หากลูกต้องการให้คุณแม่อยู่ด้วยก่อนนอน จงปฏิบัติตามด้วยความยินดี เด็กจะรู้สึกสบายใจ และนอนหลับง่าย ถ้าเด็กได้อาบน้ำอุ่นก่อนนอนแล้ว รู้สึกสบายตัว นอนหลับดี ก็ควรอาบน้ำให้

มีเด็กจำนวนมากที่ชอบดูดนิ้วมือก่อนนอน ถ้าตอนเริ่มทำคุณแม่อยู่กับลูกก่อนนอนและจับมือลูกเอาไว้ จะแก้นิสัยนี้ได้ แต่เด็กส่วนใหญ่ติดนิสัยดูดนิ้วมือเพราะถูกบังคับให้นอนคนเดียว และเมื่อเด็กติดนิสัยเสียแล้ว อย่าถือเป็นเรื่องใหญ่โตและประสาทกับเรื่องนี้นัก ถ้าคุณแม่อยู่ด้วยตอนนอน เด็กจะหลับเร็วเวลาที่ดูดนิ้วก็สั้นลงด้วย

วันไหนเด็กนอนกลางวันมาก ตอนกลางคืนจะง่วงนอนช้าลง เพราะฉะนั้นไม่ควรเอาเข้านอนเร็ว เพราะถ้าเด็กยังไม่ง่วงและอยู่ในที่นอนนานๆ แกจะดูดนิ้วบ้าง ดูดหมอนบ้าง หรือดูดผ้าห่ม ตามถนัด รอให้เด็กง่วงมากๆ เสียก่อน จึงเอาเข้านอนจะดีกว่า

สำหรับเด็กที่เลี้ยงมาตลอดด้วยนมแม่ หากยังไม่ยอมหย่านมกลางคืน ก่อนนอนถ้าให้ดูดนมสัก 5-10 นาทีแล้ว เด็กนอนหลับง่าย ก็ให้นมแม่ได้ไม่มีโทษอะไร การให้นมแม่จะมีปัญหาทางโภชนาการเฉพาะสำหรับเด็กที่ไม่ยอมอาหารอื่น จะดูดแต่นมแม่ทั้งกลางวันและกลางคืน ซึ่งจะทำให้เด็กในวัยนี้ขาดธาตุอาหาร

การหย่านมแม่สำหรับเด็กซึ่งรักและผูกพันกับแม่ โดยถือเอานมแม่เป็นสัญลักษณ์นั้น เราควรทำเมื่อไร ด้วยวิธีการเช่นไร ขึ้นอยู่กับอุปนิสัยและสภาพแวดล้อมของเด็กคนนั้น การหย่านมควรระวังให้มีผลกระทบทางด้านจิตใจน้อยที่สุด

274. ฝึกขับถ่าย

เด็กเมื่ออายุเกินขวบครึ่ง เราเริ่มฝึกนิสัยการขับถ่ายของเด็กอย่างจริงจังได้ แต่ทั้งนี้ต้องสังเกตอุปนิสัยของลูก และความถี่ในการถ่ายปัสสาวะด้วย เด็กที่ดื่มน้ำเก่งและฉี่บ่อยมากนั้น คุณแม่กะเวลาให้ได้ยาก ส่วนเด็กที่ฉี่แต่ละครั้งระยะห่างเกินกว่า 1 ชั่วโมง คุณแม่สามารถกะเวลาให้ฉี่ได้ และถ้าทดลองสักระยะหนึ่งได้ผลดี เด็กก็ไม่จำเป็นต้องใส่ผ้าอ้อมตอนกลางคืนอีกต่อไป

ระหว่างที่พาลูกไปปัสสาวะควรย้ำกับลูกว่า“ไปฉี่กันนะ” “ฉี่เสียลูก” “ฉี่เสร็จแล้วใช่ไหม” เพื่อให้เด็กเข้าใจคำว่า “ฉี่” และถ้าลูกของคุณเอ่ยคำว่า“ฉี่” ขึ้นมาเมื่อไร ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังปัสสาวะ คุณแม่ต้องเอ่ยชมให้กำลังใจ

ถ้าหากลูกของคุณสามารถบอกฉี่ได้ก่อนเวลาแล้วสักระยะหนึ่ง และเลิกใช้ผ้าอ้อมตอนกลางวันไปแล้ว แต่วันหนึ่งซึ่งบังเอิญแกบอกไม่ทัน คุณแม่ไม่ควรดุแกว่า“จะฉี่ทำไมไม่บอกล่ะลูกเลอะเทอะหมดแล้วเห็นมั้ย!” และฟาดก้นแกไปหนึ่งป้าบ เพราะถ้าทำเช่นนี้ เด็กส่วนใหญ่จะมีปฏิกิริยาและเลิกบอก“ฉี่” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

สำหรับเด็กที่ปัสสาวะไม่บ่อยนัก และคุณแม่ฝึกในฤดูที่อากาศไม่หนาว ประกอบกับสภาพจิตอารมณ์ของเด็กไม่มีปัญหาอะไร การฝึกหัดขับถ่ายจะทำสำเร็จได้ภายในระยะเวลาเพียง 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือน เด็กทุกคนสามารถฝึกการขับถ่ายได้ เพราะฉะนั้นถ้าเริ่มฝึกแล้วเด็กมีปฏิกิริยาต่อต้าน ไม่ควรดึงดันทำต่อไป ควรหยุดไปสักระยะหนึ่ง แล้วค่อยเริ่มใหม่

เด็กบางคนเวลาปัสสาวะแล้วรู้สึกปวดอุจจาระด้วย จะร้องว่า“อึ..อึ..” แต่เด็กส่วนใหญ่จะบอก“อึ” ได้ทีหลัง“ฉี่” นอกจากเด็กบางคนซึ่งถ่ายอุจจาระเป็นเวลา และจะเริ่มถ่ายอุจจาระทุกครั้งที่คุณแม่จับนั่งกระโถนตามเวลานั้น

ส่วนการขับถ่ายตอนกลางคืน เด็กส่วนใหญ่ในวัยนี้ยังบอกไม่ได้ ต้องใช้ผ้าอ้อม มีเด็กบางคนที่ฉี่ก่อนนอนแล้ว จะอยู่ได้จนถึงเช้า แต่ถ้าอากาศหนาวก็อยู่ไม่ถึง ต้องใช้ผ้าอ้อมเช่นกัน

275. การใช้กระโถน

ไม่มีข้อกำหนดว่า อะไรเด็กควรใช้กระโถนตั้งแต่อายุเท่าใด เด็กบางคนก็โตขึ้นมาโดยไม่ต้องใช้กระโถนเลย เด็กบางคนซึ่งคุณแม่ขยัน อาจนั่งกระโถนตั้งแต่อายุแค่เดือนเดียว แต่เด็กส่วนใหญ่จะนั่งกระโถนได้เองเมื่ออายุเกินขวบครึ่งขึ้นไป เพราะเด็กวัยนี้เริ่มเข้าใจถึงความหมายของการนั่งกระโถนถ่ายนั่นเอง

ก่อนหน้านั้นแม้ว่าเด็กจะถ่ายในกระโถน แต่ก็เป็นการจับให้ถ่ายใส่กระโถนเท่านั้น เวลาเด็กฉี่จะไม่ค่อยมีปัญหา เพราะระยะเวลาสั้น คุณแม่ควรจับลูกให้ถ่ายอุจจาระในกระโถนได้ ส่วนการถ่ายอุจจาระนั้นกินเวลานาน ถ้าเด็กไม่ยอมนั่งกระโถนเอง คุณแม่คนทนจับอยู่ไม่ไหว จึงต้องหัดเมื่อเด็กพูดรู้เรื่อง และเด็กจะยอมนั่งกระโถนนานขึ้นถ้ากระโถนนั่นนั่งสบาย

เพราะฉะนั้นเวลาซื้อกระโถนควรเลือกให้ดีด้วย

ข้อมูลสื่อ

80-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 80
ธันวาคม 2528