• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กระดูกหักกระดูกปลายแขนหัก

กระดูกหักกระดูกปลายแขนหัก


⇒ ทำไมกระดูกหักต้องเลือกอายุ ?
เราเคยได้คุยกันถึงเรื่อง “กระดูกต้นแขนส่วนปลายหักชนิดไม่ผ่านเข้าข้อศอก” ซึ่งพบได้บ่อยในเด็กวัยเข้าโรงเรียน คราวนี้จะมากล่าวถึงกระดูกหักอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งพบได้บ่อยทั้งในวัยเด็กและผู้ใหญ่ คือ กระดูกที่ “ปลายแขน”หัก นั่นเอง
ท่านผู้อ่านอาจข้องใจว่าทำไมจะต้องมีการกำหนดว่ากระดูกหักพบบ่อยในช่วงอายุเท่านั้นเท่านี้ด้วย ? เหตุผลมีอยู่ที่ว่าความแข็งแรงตรงตำแหน่งต่าง ๆ ของกระดูกแต่ละชิ้นนั้น เปลี่ยนแปลงไปได้ตามสังขารที่หักง่ายในวัยหนึ่ง อาจหักยากในอีกวัยหนึ่ง หกล้มเอามือยันพื้นเหมือนกันแต่การบาดเจ็บอาจเกิดขึ้นในตำแหน่งที่ต่างกันก็ได้....

 



⇒ มารู้จักกระดูกปลายแขนกันก่อน
กระดูกปลายแขนของคนเรามีทั้งหมด 2 ชิ้น คล้ายปาท่องโก๋ คือมีลักษณะกลมยาวและยึดอยู่ด้วยกันโดยเอ็นและพังผืด (รูปที่1 ) ชิ้นที่อยู่ทางด้านนิ้วหัวแม่โป้งนั้น เรียกตามนักกายวิภาคว่า “กระดูกเรเดียส” สามารถหมุนรอบคู่ของมัน ที่เรียกว่า “กระดูกอัลน่า” ซึ่งจะทำให้ฝ่ามือคว่ำหงายได้
กระดูกเรเดียสนั้น ปลายบนจ่ออยู่กับปลายกระดูกต้นแขนเฉย ๆ มีหน้าที่ป้องกันไม่ให้ปลายแขนโยกไปทางด้านข้างได้ ส่วนปลายล่างนั้นมีความสำคัญมากว่าปลายบน เพราะเป็นตัวต่อกับกระดูกเล็ก ๆ ของข้อมือโดยตรง
สำหรับกระดูกอัลน่า ทำหน้าที่เป็นแกนอยู่ทางด้านนิ้วก้อย มีแอ่งเว้าประกบพอดีกับปลายนูนของกระดูกต้นแขนที่ข้อศอก เพื่อทำหน้าที่เหยียดงอได้ในแนวระนาบ คล้ายบานพับและจะล็อคกันพอดีเมื่อเหยียดข้อศอกออกเต็มที่

โดยสรุปแล้วก็คือว่า กระดูกคู่นี้เป็นคู่สร้างคู่สมกันจริง ๆ แบ่งหน้าที่กันคนละปลาย ไม่เอาเปรียบกันและกัน จะตัดสินว่าชิ้นไหนสำคัญกว่านั้นเห็นทีต้องวางปากกาเถียงกันหน่อยครับ
ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งเบื่อหน่ายกับเนื้อหาวิชาทางกายวิภาคศาสตร์ที่เล่ากันมาตั้งยาวเหยียด ก็ลองคิดดูว่า ช่างเครื่อง ถ้าไม่รู้จักส่วนประกอบของเครื่องดี จะซ่อมเครื่องให้หายพิการได้อย่างไร


⇒ลักษณะของผู้ป่วยปลายแขนหักเป็นอย่างไร ?
ตอนที่ผมเป็นแพทย์ประจำบ้านทั้งสามปีนั้น กระดูกหักที่พบได้บ่อย ๆ ชนิดหนึ่งก็คือ กระดูกปลายแขนหัก ในพวกคนไข้เด็ก ๆ มักเกิดจากความซน ไปปีนที่สูง ๆ แล้วตกลงมา เอามือยันหรือฟาดกับพื้น ส่วนคนไข้ผู้ใหญ่นั้น ถ้าไม่ใช่ผู้แก่เฒ่าชราแล้วเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมักจะรุนแรงกว่าในเด็ก เช่น จากการถูกของแข็งทุบตี อุบัติเหตุรถคว่ำหรือถูกกระสุนปืนยิง เป็นต้น

อาการตอนที่ผู้ป่วยมาหาก็แตกต่างกันในสองอายุนี้ กล่าวคือ ถ้าเด็กชายปุ้มหรือเด็กหญิงปุ้ยมาหา จะสังเกตได้ว่า ปลายแขนมักมีการหักงอผิดปกติ แต่ถึงจะดูน่ากลัว ก็ไม่ค่อยเจ็บปวดนัก ถ้าหากไม่ไปจับต้องบริเวณนั้นแรงๆผิดกับของผู้ใหญ่ทั่วไป ซึ่งมักจะเจ็บปวดโอดโอยถึงแม้จะเป็นเพียงการขยับส่วนนั้นเบาๆก็ตาม อย่าไปหาว่าพี่แกขี้แยกว่าเด็กทั้งนี้เพราะว่ากระดูกของเด็กนั้นเหนียวเหมือนกิ่งไม้สด ไม่ค่อยจะ
หักขาดสะบั้นเหมือนกระดูกแข็งแต่เปราะของพวกผู้ใหญ่ (รูปที่ 2)

 


กระดูกหักแล้วที่มันปวดมาก ก็เพราะว่าปลายหักมันขัดสีกัน ถ้ามันยังไม่หักขาดจากกันอย่างสมบูรณ์ก็ปวดไม่มากในกรณีเช่นนี้ ถ้าไม่มีการหงิกงอผิดรูปให้เห็นก็อาจหลงหูหลงตาได้บ่อย ๆพอปล่อยกลับบ้านไปไม่ระวังเกิดเหตุอีกครั้ง ก็หักสะบั้นมาเรียบร้อยโรงเรียนจีนจริง ๆ ดังนั้นถ้ามีเหตุให้สงสัยว่ากระดูกมันน่าจะหักแล้วละก็อย่ามัวลังเล ให้รีบถ่ายภาพเอกซเรย์ดู ถ้าทำไม่ได้ก็ดามไว้ก่อนจนกว่าจะหายปวด สิ่งที่ฉุกใจให้สงสัยว่ากระดูกน่าจะหักหรือร้าว ก็คือประวัติของการบาดเจ็บที่คิดว่ารุนแรงพอ และการตรวจร่างกายตามวิธีที่ผู้เขียนได้เคยเล่าให้ฟังมาแล้ว (ลงใน “หมอชาวบ้าน” ฉบับที่ 15) ก็ขอแนะนำให้ทบทวนอ่านดูอีกที

ความจริงกระดูกหักที่ปลายแขนนั้น มีการหักด้วยกันมากมายหลายชนิดทั้งหักชิ้นเดียว , หัก 2 ชิ้น หรือหักชิ้นเดียวอีกชิ้นหนึ่งหลุดจากข้อศอกหรือข้อมือก็ได้ (รูปที่ 3 ) นอกจากนี้การหักที่ระดับต่างๆ กัน ก็มีความหมายในการรักษาไม่เหมือนกัน ที่แย่ที่สุดก็คือ การหักที่เกี่ยวข้องกับข้อต่อทั้ง 2 ปลาย ซึ่งถ้ารักษาไม่ดี มักจะมีผลแทรกซ้อนทำให้แขนข้างนั้นเหยียดงอไม่ได้เต็มที่ เบา แค่ข้อศอกงอไม่เข้าก็เอาข้าวเข้าปากไม่ถึง หวีผมไม่ไหว สุภาพสตรีปลดตะข้อเสื้อข้างหลังไม่ได้ สนุก(น้อย)เสียเมื่อไร เพราะฉะนั้นถ้าพบว่ารอยหักอยู่ใกล้ ๆ ข้อศอกหรือข้อมือ ก็ต้องพิถีพิถันรักษากันหน่อยสำหรับระดับอื่น ๆนั้น รักษาไปกระดูกอาจไม่ติดหรือต่อผิดรูปผิดร่างใช้งานไม่ได้เต็มที่ แต่ยังพอผ่าตัดแก้ไขกันได้ภายหลัง

มาถึงตอนนี้ อยากขอถือโอกาสทำความเข้าใจกับ “หมอชาวบ้าน” ทั้งหลายว่า วิชาการต่าง ๆที่เล่าสู่กันมาให้ฟังนั้น ถึงแม้ว่าบางอย่าง ท่านอาจเอาไปใช้รักษาคนอื่นไม่ได้ แต่ถ้าท่านทราบไว้ เผื่อ
ต้องโดนกับตัวเองจะได้เข้าใจว่าที่เขามารักษาท่านนั้น เขากำลังทำอะไรอยู่ นี่ไม่ใช่แช่งให้กระดูกหักนะครับ ร่างกายของเราจะให้ใครเขามาจัดการโดยที่เราไม่รู้เรื่องเอาเลยคงไม่ดีแน่


⇒แนวการรักษากระดูกปลายแขนหัก
ถ้าจะเอาปลายแขนหักทุกชนิดมาว่ากันให้หมด บางทีอาจเขียนเป็นตำราน้อย ๆ ได้เล่มหนึ่ง จึงต้องเลือกกล่าวเฉพาะบางชนิด ที่พอจะเป็นตัวอย่างของชนิดอื่นให้ทราบพอสังเขป เราพอจะสรุปแนวการรักษาทั่วๆ ไปได้ดังนี้
1.ถ้ารอยหักผ่านเข้าข้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ข้อศอก มีแนวโน้มที่จะรักษาด้วยการผ่าตัดใส่เครื่องยึดดามความเหมาะสม เพื่อให้รอยหักหายในลักษณะที่ใกล้ปกติและสามารถใช้ข้อนั้นได้เร็วที่สุด ก่อนที่มันจะฝืดแข็ง ช่วยอะไรไม่ได้ สำหรับวิธีการยืดดามกระดูกนั้น กำลังคิดว่าจะหาโอกาสคุยกับท่านผู้อ่านในฉบับต่อไปเพราะมีผู้สงสัยมากว่าเขาเอาอะไรมาดามแล้วก็ดามกันอย่างไร
 

2.กระดูกหักในเด็ก มีแนวโน้มที่จะไม่ทำการผ่าตัด (เว้นแต่จะหักเข้าข้อ) เพราะการผ่าตัดอาจมีผลการรบกวนการเจริญเติบโตของกระดูกจนทำให้ยาวขึ้นหรือสั้นลงกว่าปกติได้
 

3.กระดูกของเด็กสามารถมีการปรับตัวให้มีรูปทรงลักษณะกลับคืนสู่สภาวะใกล้เคียง ธรรมชาติได้ดีกว่าผู้ใหญ่...”ไม้อ่อนดัดง่าย”ดังนั้นในการรักษาถึงแม้ว่าจะจัดกระดูกไม่เข้าที่สนิทนัก ก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับเด็ก แต่มักจะเป็นปัญหาสำหรับผู้ปกครองและผู้รักษากว่าจะอธิบายกันรู้เรื่องต้องกินเวลาหลายปี คือ ต้องรอเวลาให้เด็กโตขึ้นอีกหน่อย ผลงานจึงค่อยปรากฏออกมาเองแหละครับ

4.ในพวกผู้ใหญ่นั้น ถ้ารอยหักเคลื่อนที่หลุดออกจากกันทั้ง 2 ปลาย รักษาด้วยการใส่เฝือกไป อาจต้องลงเอยด้วยการผ่าตัดก็ได้ ทั้งนี้เพราะว่าการใช้เฝือกพยุงกระดูกเล็กๆ สองชิ้นที่หักขนานกันอยู่ โดยไม่ให้ปลายที่จัดไว้ให้ต่อกันเคลื่อนหลุดไปอีกนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายนัก ยิ่งถ้าหลุดใหม่หลังจากที่มันได้หักไปนานวันแล้ว โอกาสที่จะจัดให้เข้าที่อีกครั้งด้วยการดึงก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก ถ้าปล่อยทิ้งไว้ให้ติดตามธรรมชาติ สมรรถภาพของแขนข้างนั้นก็มักจะสูญเสียไปไม่มากก็น้อย วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด จึงน่าจะเป็นการผ่าตัดเข้าไปจัดและดามรอยหักโดยแต่เนิ่นๆ ถ้าคาดว่าการใส่เฝือกอย่างเดียวจะไม่สัมฤทธิ์ผลดังที่ต้องการ


⇒ดึงอย่างไรให้รอยหักเข้าที่ ?

สำหรับในเด็กๆ ที่รอยหักไม่ขาดสมบูรณ์นั้น เพียงแค่เอามือจับหักทวนมุมโก่งทีสองทีก็มักจะเข้าที่ดี วิธีง่าย ๆ อาจทำได้โดยการให้แขนเด็กวางราบบนพื้นโต๊ะ ให้มุมโก่งอยู่ด้านบน แล้วใช้แรงกดมันให้แนบกับพื้นโต๊ะ เนื่องจากส่วนของกระดุกที่ยังเชื่อมคาอยู่นั้น มีคุณสมบัติคล้ายสปริง ในที่นี้เยื่อหุ้มกระดูก เป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญมากในการยึดกระดูกโดยตรง ดังที่ได้เคยเล่าให้ฟังแล้ว นับว่าธรรมชาติเข้าข้างเด็กพอสมควร ผู้ใหญ่ทั้งหลายอย่าได้อิจฉาให้ป่วยการเลย

ทีนี้มาถึงพวกผู้ใหญ่ การดึงก็ใช้หลักเกณฑ์ที่เคยว่าไว้อย่างละเอียดแล้วใน “หมอชาวบ้าน” ฉบับที่ 16 โดยสรุปก็คือ ต้องมี 3 ขั้นตอน...ดึงให้กล้ามเนื้อยืด...เพิ่มมุมโก่ง แล้วกดให้ขอบของรอยหักด้านหนึ่งชนกัน...และลดมุมโก่งลงจนกว่ารอยหักจะประกบกันพอดี


ในกรณีที่ “หมอชาวบ้าน” ทั้งหลายไม่สามารถใช้ยาชาได้นั้น การจัดกระดูกแบบนี้เป็นเรื่องที่จะก่อให้เกิดความเจ็บปวดรวดร้าวแก่คนไข้เป็นอย่างยิ่ง บางครั้งยิ่งปวด กล้ามเนื้อก็ยิ่งเกร็ง ทำให้การดึงยิ่งไม่ได้ผล วิธีการที่พอจะหลีกเลี่ยงความทารุณเช่นนี้ได้ก็คือ กรใช้น้ำหนักค่อยๆถ่วงเอา(รูปที่ 4) จนกว่ารอยหักจะเข้าที่ (อาจต้องมีการช่วยกดบ้าง) วิธีการถ่วงแบบนี้ยังมีประโยชน์หลายอย่างคือ ไม่ต้องใช้แรงงานเยอะ และสะดวกต่อการเฝือกด้วย



⇒ใส่เฝือกแบบไหนดี?
เฝือกที่ใช้สำหรับดามปลายแขนนั้น ถ้าต้องการให้ได้ผลดี ควรหยุดการเคลื่อนไหวตรงรอยหักอย่างเต็มที่ ต้องใส่เป็นเฝือกยาวตั้งแต่ฝ่ามือจนถึงใต้รักแร้ ในท่าที่ข้อศอกงอเป็นมุมฉากสำหรับฝ่ามือจะหงายหรือจะคว่ำนั้นขึ้นอยู่กับระดับของรอยหัก ถ้าอยู่ตรงระดับภายใน 1/3(หนึ่งในสาม) ของช่วงใกล้ข้อศอก ควรใส่เฝือกในท่าฝ่ามือหงาย ถัดลงมาอยู่น่ากึ่งหงายกึ่งคว่ำ จนกระทั่งในช่วง 1/3 ของปลายล่าง บางท่านนิยมใส่เฝือกในท่ามือคว่ำ ผู้อ่านอาจข้องใจว่า ทำไมต้องหงายๆคว่ำ ก็ต้องขออนุญาตขมวดปมไว้ตรงนี้สักปมหนึ่ง ท่านผู้ใดสนใจถามมามีเวลาก็จะตอบไปให้ เพราะต้องใช้หน้ากระดาษยืดยาวและต้องอาศัยความรู้ทางกายวิภาคอยู่ไม่น้อยด้วย ถ้าขืนอธิบายไว้ตรงนี้บางท่านก็อาจเซ็งเสียก่อน


⇒ถอดเฝือกตอนไหนดี ?
ปัญหาที่ผู้เขียนพบบ่อย ๆ อีกข้อหนึ่งก็คือ ชอบมีการต่อรองจากผู้ป่วย เพื่อผ่อนปรนให้ใส่เฝือกขนาดสั้นลงเพียงระดับใต้ศอกบ้าง ใส่เฝือกให้หลวมๆเพื่อให้เกาคันได้บ้าง ขอให้ตัดเฝือกก่อนครบกำหนดที่กระดูกควรจะติดบ้าง ขอเอายาสมุนไพรมาทาสมานกระดูกบ้าง ถ้าท่านผู้อ่านย้อนกลับไปอ่านหลักเกณฑ์ในการใส่เฝือกที่เคยเขียนลง “หมอชาวบ้าน” ดู(หมอชาวบ้าน ฉบับที่ 18 ) จะพบว่าการต่อรองเช่นนี้ควรจะไปต่อรองกับธรรมชาติและตัวผู้ป่วยเองถึงจะถูก กระดูกมันติดของมันเองตามธรรมชาติอยู่แล้วไม่มียาสมุนไพรใดๆไปเร่งมันให้ได้ผลเร็วขึ้นนักหนาหรอก ผู้ป่วยเองถึงจำมีสิทธิ์ที่จะเลือกวิธีรักษาได้โดยเสรี แต่จะติดดีหรือไม่ดีนั้น ต้องขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกฝ่าย ผู้รักษาเป็นเพียงผู้คอยประคับประคองให้กระดูกมันติดอยู่ในตำแหน่งที่ยอมรับได้เท่านั้น ถ้าผู้ป่วย (และหมอ) ยอมรับความพิการที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ทั้งที่ป้องกันได้แล้วละก็เฝือกหรืออะไรก็ไม่มีความหมายทั้งนั้น...

เวลาที่กระดูกปลายแขนจะติดนั้นไม่แน่นอน ทั่วๆไปก็ประมาณ 6 อาทิตย์ ถึง 3 เดือน สำหรับเด็กๆ ก็ครึ่งราคา...เอ๊ย...ครึ่งเวลา คนชราก็อาจจะนานกว่านี้ บุรุษหรือสตรี ไม่มีความแตกต่างกันในเชิงสถิติ การที่ผู้รักษาจะตัดสินใจว่าควรจะถอดเฝือกได้แล้วหรือยังนั้น ที่สำคัญและง่ายที่สุดก็คือ การหายปวดตรงบริเวณรอยหัก และผู้ป่วยขยับอวัยวะนั้นได้ดีพอสมควร ถ้าจะให้มั่นใจกว่านี้ ก็ต้องถ่ายภาพเอกซเรย์ดูว่า รอยเสี้ยนของเนื้อกระดูก มันเชื่อมเป็นเนื้อเดียวกันจริงๆนั่นแหละ จึงจะปลอดภัยจากการถอดเฝือกที่สุด


⇒การบริหารควรทำอย่างไรบ้าง ?
การบริหารอวัยวะที่ถูกจำคุกด้วยเฝือกนั้น ควรจะเริ่มต้นตั้งแต่วินาทีแรกที่เฝือกเริ่มแข็ง สำหรับกระดูกปลายแขนหักนั้น เฝือกที่ดีควรจะตรึงเฉพาะข้อมือและข้อศอกเท่านั้น นิ้วหัวแม่มือและข้อโคนนิ้ว จะต้องอิสระพอที่จะเคลื่อนไหวได้ปกติ ซึ่งเป็นธุระของผู้ป่วยเอง ที่จะต้องคอยกำและแบมือบ่อย ๆ เพื่อไม่ให้ข้อเหล่านี้ฝืดติดและช่วยในการลดบวมไปในตัวด้วย (วันแรก ๆ ต้องยกปลายแขนให้อยู่เหนือระดับหัวใจร่วมด้วย) อีกข้อหนึ่งที่คนมักลืมนึกถึงคือ ข้อไหล่ก็ต้องหมั่นเคลื่อนไหวในทุกทิศทางให้สุดแนวนั้นด้วยเช่นกัน (รายละเอียดจะเล่าให้ฟังในโอกาสหน้า ที่พูดถึงข้อไหล่)


หลังจากถอดเฝือกแล้ว ข้อที่ต้องหมั่นกู้อิสรภาพให้เต็มที่คือ ข้อศอกกับข้อมือ ขอแนะนำให้ใช้แขนข้างดีของตนเอง หรือถ้าซวยจริง ๆ หักทั้งสองข้าง ก็ยืมของเพื่อน ๆ มาเปรียบเทียบดูว่า ปกติมันมีช่วงการเคลื่อนไหวเท่าใด ต้องพยายามเองเพื่อให้มีสมรรถภาพเต็มที่ได้เท่านั้น อาจใช้วิธีแช่น้ำอุ่นหรือเอาผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นพอหมาด ๆ มาประคบที่ข้อ เพื่อช่วยให้การเคลื่อนไหวดีขึ้น และลดปวดด้วยก็ได้ ช่วงการเคลื่อนไหวของข้อศอก คือ การเหยียด-งอ และคว่ำมือ-หงายมือ ส่วนของข้อมือคือการกระดกขึ้น-คว่ำลง การบิดไปด้านข้างทั้งสองข้าง และการควงหมุน ซึ่งต้องอาศัยการเคลื่อนไหวทั้งหมดของข้อนี้




อย่าหาว่ามาบอกเรื่องกล้วยๆให้ฟังเลยครับ ถึงเวลาจริงๆท่านจะแปลกใจว่าแขนของเราเอง

แท้ ๆ แต่ลืมไปได้ว่ามันเคยทำงานอย่างไร ?
 

ข้อมูลสื่อ

38-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 38
มิถุนายน 2525
อื่น ๆ
นพ.วิรุฬห์ เหล่าพัทรเกษม