• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคตับอักเสบ จากเชื้อไวรัส

โรคตับอักเสบ จากเชื้อไวรัส

โรคตับอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัสเป็นโรคที่รู้จักกันมานาน แต่ตัวเชื้อไวรัสต้นเหตุที่เพิ่งค้นพบได้เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2508

ลักษณะอาการของโรคนี้

เริ่มแรกจะมีอาการไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด เจ็บเสียดบริเวณชายโครงขวาซึ่งเป็นตำแหน่งของตับแล้วต่อมาจะมีอาการสำคัญที่บ่งว่าเป็นโรคตับ คือ อาการตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเหลืองเข้มหรือที่เรียกว่า “ดีซ่าน” นอกจากนี้ ถ้าคนไข้ได้รับการเจาะเลือดตรวจจะพบว่า ระดับเอนไซม์ทรานซามิเนส ได้แก่ เอสจีโอที (SGOT) และเอสจีพีที (SGPT) ขึ้นสูงกว่าคนปกติ ทำให้วินิจฉัยได้แน่นอนว่า อาการดีซ่านที่เกิดจากโรคตับนั้น เป็นโรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัส

เชื้อไวรัสตับอักเสบที่พบบ่อยไนเวลานี้ แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ ไวรัสตับอักเสบชนิดเอ, ไวรัสตับอักเสบชนิดบี และไวรัสตับอักเสบที่ไม่ใช่เอและบี

การติดต่อ

ไวรัสตับอักเสบชนิดเอ ติดต่อกันทางการกิน เชื้อถูกขับถ่ายออกมากับอุจจาระ อาจแปดเปื้อนปนกับน้ำดื่ม น้ำใช้ อาหาร ทำให้เกิดโรคระบาดได้

ไวรัสตับอักเสบชนิดบี ติดต่อโดยทางการให้เลือดหรือฉีดยา เชื้อไวรัสจะอยู่ในเลือดเป็นจำนวนมากและยังพบอยู่ในน้ำลาย, น้ำนม, น้ำอสุจิ แต่น้อยกว่าในเลือด เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้โดยทางบาดแผล, มีเพศสัมพันธ์ หรือการสัมผัสในครอบครัวเดียวกัน โอกาสที่เชื้อไวรัสจากเลือดหรือสารคัดหลั่ง (น้ำมูกน้ำลายฯลฯ) ต่างๆ จากผู้ที่เป็นพาหะ(1) จะติดต่อมาจึงมีมากขึ้น การฉีดวัคซีนให้กับนักเรียนหรือกองทหารจำนวนมาก, การสัก, การเจาะหู, การทำฟัน, โดยไม่ใช่เข็มหรือเครื่องมือที่ผ่านการฆ่าเชื้อที่ได้มาตรฐาน วิธีเหล่านี้จะทำให้เชื้อไวรัสตับอักเสบติดต่อถ่ายทอดจากผู้มีเชื้อไวรัส (โดยไม่แสดงอาการ) มาสู่ผู้ที่ยังขาดภูมิคุ้มกันได้

ไวรัสตับอักเสบที่ไม่ใช่ทั้งเอหรือบี เป็นกลุ่มของไวรัสที่เราไม่ทราบคุณสมบัติแน่นอน แต่เชื่อว่าติดต่อกันได้โดยทางการกินเช่นเดียวกับไวรัสตับอักเสบชนิดเอ และติดต่อทางการสัมผัสใกล้ชิดได้เช่นเดียวกับไวรัสตับอักเสบชนิดบี

เชื้อไวรัสตับอักเสบเอ จะมีระยะฟักตัว (ระยะเวลานับแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งปรากฏอาการของโรค) ประมาณ 1 เดือน เข้าใจว่าเชื้อไวรัสที่เข้าสู่ร่างกายทางการกินผ่านกระเพาะอาหาร เพิ่มจำนวนครั้งแรกในเยื่อบุลำไส้ แล้วเข้าสู่กระแสเลือด ผ่านไปยังตับ เชื้อไวรัสเข้าไปเพิ่มจำนวนในเซลล์ตับ ทำให้แสดงอาการตับอักเสบ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบนี้มีชุกชุมในบ้านเรา จึงพบได้บ่อยในเด็ก และวัยหนุ่มสาว ในผู้ที่อายุเกินกว่า 30 ปี ถ้าเป็นตับอักเสบจากเชื้อไวรัส มักจะไม่ได้เกิดจากเชื่อไวรัสตับอักเสบ

การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ ในคนส่วนมากไม่แสดงอาการเจ็บป่วยแต่อย่างไร บางรายอาจมีอาการไข้ อ่อนเพลีย ปวดท้อง แต่ไม่พบอาการดีซ่าน มีเฉพาะบางรายเท่านั้นที่แสดงอาการตับอักเสบจากเชื้อไวรัส ชัดเจน ดังที่กล่าวในตอนต้น

โรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัสเออาการมักไม่รุนแรง เป็นเร็วหายเร็ว ไม่ใคร่พบที่เป็นโรคตับอักเสบเฉียบพลันรุนแรงถึงตาย

สำหรับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี มีระยะฟักตัวนานกว่าชนิดเอ พบตั้งแต่ 3 สัปดาห์ถึง 6 เดือนหรือประมาณ 3 เดือน เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังที่มีบาดแผล, รอยทิ่มแทง, รอยถลอก หรือทางเยื่อเมือกบริเวณทางเดินอาหาร, อวัยวะสืบพันธุ์ รวมทั้งทวารหนัก เชื้อผ่านเข้าสู่กระแสเลือดเพิ่มจำนวนเซลล์ตับ และกลับออกสู่กระแสเลือด การเกิดตับอักเสบเข้าใจว่าเกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายที่พยายามจะกำจัดเชื้อไวรัสที่อยู่ในเซลล์ตับ เซลล์ของระบบอิมมูนจะทำลายเซลล์ตับที่ติดเชื้อ ทำให้เซลล์ตับเกิดอาการอักเสบขึ้น ถ้ามีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีตั้งแต่ระยะแรกเกิด โดยได้รับเชื้อจากแม่ที่เป็นพาหะ ทารกพวกนี้จะติดเชื้อ มีไวรัสอยู่ในเลือดและออกมาจากสารตัดหลั่งต่างๆ เป็นเวลานานนับปี ติดต่อไปสู่ผู้อื่นได้ แต่ตัวทารกเองจะไม่แสดงอาการตับอักเสบ ทั้งนี้เพราะในระยะทารกเซลล์ของระบบอิมมูนยังไม่เจริญเต็มที่ จึงไม่แสดงปฏิกิริยาต่อต้านทำลาย

ในผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ส่วนใหญ่จะติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการ มีเพียงบางรายที่แสดงอาการจากเชื้อไวรัส โรคมักจะดำเนินไปช้าๆ และกินเวลานานเป็นเดือนกว่าระดับเอนไซม์จะกลับเป็นปกติ บางรายจะแสดงตับอักเสบรุนแรงถึงแก่ชีวิต และบางรายเมื่อหายแล้ว จะยังคงมีการติดเชื้อเรื้อรังกลายเป็นพาหะ

ผู้ป่วยตับอักเสบจากเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ประมาณร้อยละ 5-10 อาจโชคร้ายเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรังกลายเป็นตับแข็ง และโรคมะเร็งตับตามมา

ผู้ป่วยเชื้อไวรัสตับอักเสบที่ไม่ใช่เอและไม่ใช่บี อาจจะแสดงอาการและการติดต่อคล้ายกับเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ หรือเชื้อไวรัสตับอักเสบบี แต่เมื่อตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการแล้วพบว่า ไม่ได้เกิดจากเชื้อไวรัสเอหรือบีที่เรารู้จักแล้ว จึงรวมกลุ่มไว้เป็นไวรัสกลุ่มใหม่ที่เรายังไม่รู้จัก

การดูแลรักษา

ผู้ป่วยโรคตับอักเสบไวรัสส่วนมากมักมีอาการไม่รุนแรง แม้ไม่ได้รับการดูแลรักษาเป็นพิเศษก็หายได้เอง ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ คือ ผู้ที่มีอาการอ่อนเพลียมาก รับประทานอาหารไม่ได้ คลื่นไส้อาเจียนมาก ปวดท้องมาก ตัวเหลืองจัด ปวดมึนศีรษะรุนแรง พูดไม่รู้เรื่อง หรือไม่รู้สึกตัว รวมทั้งหญิงมีครรภ์และผู้ป่วยที่เป็นโรคอื่นอยู่เดิม

ถ้าผู้ที่มีอาการเหลืองไม่มาก กินอาหารได้ คำแนะนำโดยทั่วไป เพียงแต่ให้พักผ่อนตามสมควร แต่ไม่จำเป็นต้องอยู่บนเตียงตลอดเวลา ให้มีกิจกรรมในชีวิตประจำวันตามธรรมดาได้ ถ้ารู้สึกท้องอืด แน่นท้องควรลดอาหารมัน อาหารประเภททอด อาหารที่เหมาะสมสำหรับคนไข้โรคตับอักเสบไวรัสคือ อาหารที่มีพวกแป้งและน้ำตาล เช่น ผู้ป่วยดื่มน้ำหวานบ่อยครั้งขึ้น

โรคนี้ยังไม่มียารักษาที่จำเพาะ ส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ ไม่ว่าเชื้อไวรัสต้นเหตุจะเป็นเชื้อตัวใดก็ตาม

การป้องกันและการควบคุมโรค

การควบคุมการระบาดของโรคไวรัสตับอักเสบเอ ก็คือ การมีน้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาด ปราศจากอุจจาระปน และการสุขาภิบาลที่ส้วมที่ถูกสุขลักษณะ จากการสอบสวนการระบาดของไวรัสตับอักเสบเอในประเทศไทยที่ผ่านมา พบว่า เป็นการระบาดในโรงเรียน มักเป็นหน้าฝน มีน้ำท่วม น้ำจากส้วมหรือท่อระบายไหลเข้าแปดเปื้อนลงบ่อน้ำใช้ หรือเข้าท่อประปาที่แตกรั่ว

นอกจากนี้การระวังรักษาอนามัยส่วนบุคคล ได้แก่ ล้างมือหลังจากเข้าส้วม ก่อนปรุงอาหาร และก่อนกินอาหารเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเป็นไปได้น้ำ ควรเป็นน้ำต้มสุกแล้ว ภาชนะที่ใช้ควรล้างและตากแดด หรือเช็ดด้วยหน้าสะอาดให้แห้งก่อนนำมาใช้ ผักสดที่กินเป็นอาหาระต้องล้างด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง

เวลานี้ยังไม่มีวัคซีนใช้ทั่วไปเนื่องจากโรคนี้อาการไม่รุนแรง ความสำคัญในด้านการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคจึงน้อยกว่าไวรัสตับอักเสบบี

การควบคุมไวรัสตับอักเสบบีในประเทศที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจและเป็นแดนระบาด เช่น ประเทศไทยเป็นเรื่องที่ทำได้ยากในปัจจุบันนี้ ประชากรในโชกประมาณ 200 ล้านคนเป็นพาหะของโรคตับอักเสบบี, ประมาณ 170 ล้านคนเป็นชาวเอเชีย และในประเทศไทยมีพาหะประมาณ 2.5 ล้านคน การติดต่อส่วนใหญ่เป็นการติดต่อถ่ายทอดจากแม่สู่ทารก และการสัมผัสใกล้ชิดในครอบครัว, ในโรงเรียน, ในสถานเลี้ยงเด็ก การติดต่อทางการให้เลือดและการฉีดยาพบได้ แต่น้อยกว่า

การป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี จึงเป็นได้ 2 ทาง คือ ระมัดระวังตนเองไม่ให้ได้รับเชื้อจากผู้ที่เป็นพาหะซึ่งทำได้ยาก เพราะมักจะไม่ทราบว่าเพื่อนสนิทคนใกล้ชิดเราเป็นหรือไม่ นอกจากจะตรวจเลือดดู หรือถ้าเราตรวจเลือดแล้วพบว่า ตนเองเป็นพาหะ ก็พยายามหลีกเลี่ยงที่จะแพร่เชื้อไปยังคนใกล้ชิดเท่าที่จะทำได้

วิธีป้องกันการติดเชื้อที่น่าจะทำได้ ได้แก่ รับประทานอาหารร่วมกันโดยใช้ช้อนกลาง ไม่ใช้แก้วน้ำร่วมกัน ไม่ใช้เครื่องใช้ส่วนตัว เช่น แปรงสีฟัน ผ้าเช็ดตัว มีดโกนหนวดร่วมกัน ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เชื้อในน้ำลาย หรือในเลือดที่อาจซึมออกมา เข้าสู่ร่างกายทางเยื่อเมือก หรือทางบาดแผลเล็กๆ น้อยๆ

การป้องกันการติดต่อจากการให้เลือด ทำได้โดยปฏิเสธเลือดที่ตรวจพบเชื้อไวรัส, ไม่นำไปใช้กับคนไข้ ในเรื่องเข็มฉีดยาหรือเครื่องมือแพทย์ทำได้โดยการใช้เข็มหรือเครื่องมือที่ผ่านการฆ่าเชื้อที่ได้มาตรฐาน ที่จริงเชื้อไวรัสตับอักเสบบีถูกทำลายได้โดยไม่ยาก แม้กระทั่งแอลกอฮอล์ที่ใช้ทำแผลก็ทำลายเชื้อนี้ได้

การป้องกันการติดต่อจากแม่มายังลูก หรือการติดต่อระหว่างคู่สมรส หรือบุคคลในครอบครัวเดียวกัน คงจะทำได้ยาก อาจต้องใช้การฉีดวัคซีนให้สำหรับผู้ที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน เนื่องจากวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีมีราคาแพงมาก ประมาณ 750 บาทถึง 2,250 บาท จึงไม่สามารถแนะนำให้ใช้ได้สำหรับประชาชนทั่วไป นอกจากผู้ที่มีอัตราเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสนี้สูง และอยู่ในฐานะที่จะจัดหาวัคซีนได้ ถ้าในกรณีผู้ที่ขาดภูมิคุ้มกันได้รับเชื้อแล้วการฉีดวัคซีนอย่างเดียวอาจป้องกันไม่ทัน จำเป็นต้องให้เซรุ่มร่วมด้วย เซรุ่มนี้ก็มีราคาแพงมากเช่นกัน

การป้องกันทารกที่เกิดจากแม่ที่เป็นพาหะไม่ให้ทารกติดเชื้อ ก็คือ จะต้องให้เซรุ่มและวัคซีนตั้งแต่ระยะแรกคลอดจนครบชุด

ผู้ที่เป็นพาหะตรวจพบว่ามีเชื้ไวรัสตับอักเสบบีในเลือด ควรคำนึงถึงปัญาในการปฏิบัติ 2 ด้าน คือ การป้องกันไม่ให้เชื้อในตัวเองแพร่ไปสู่ผู้อื่น และการปฏิบัติระวังรักษาสุขภาพของตนเองไม่ให้เป็นโรคแทรกซ้อนรุนแรงตามมา

วิธีป้องกัน

อาจแบ่งเป็น 2 วิธีตามฐานะทางเศรษฐกิจ ถ้าบุคคลใกล้ชิดสามารถจัดหาวัคซีนได้ ควรเจาะเลือดเจาะดูว่า มีภูมิคุ้มกันหรือไม่ ถ้ามีแล้วก็ไม่ติดเชื้ออีก ถ้ายังไม่มีภูมิคุ้มกันแนะนำให้ฉีดวัคซีน ถ้าอยู่ในฐานะที่บุคคลใกล้ชิดไม่สามารถจัดหาวัคซีนได้ ก็อาจจะต้องป้องกันโดยวิธีทั่วไปดังกล่าววข้างต้น และรอเวลาที่วัคซีนจะมีราคาถูก และคุณภาพดีกว่าวัคซีนที่มีใช้ในขณะนี้

วิธีปฏิบัติตัวเพื่อรักษาสุขภาพของผู้ป่วยเป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี ได้แก่ วิธีปฏิบัติที่ทราบกันในสุขศึกษา ได้แก่ การพักผ่อนและออกกำลังกายพอสมควร ไม่ควรออกกำลังกายหักโหม หลีกเลี่ยงสารที่ทำอันตรายต่อตับ เช่น ไม่ดื่มสุรา รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และตรงตามมื้อ ตรวจดูเชื้อไวรัส และหน้าที่ของตับเป็นระยะทุก 6 เดือนถึง 1 ปี

การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีในพาหะ ไม่ได้ผล

ข้อสำคัญ คือ ต้องพยายามตัดความวิตกกังวลในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น และพยายามป้องกันเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากความรู้เรื่องเชื้อไวรัสตับอักเสบ เพิ่งจะทราบกันมาเพียง 20 ปี แต่ก็ได้พัฒนาจนถึงมีวัคซีนใช้ทั่วโลกในปัจจุบัน

ดังนั้น จึงคาดหวังไว้ว่า ในอนาคตอันใกล้เราจะมีวัคซีนที่มีคุณภาพดีกว่านี้ ราคาถูกกว่านี้ และมีมาตรการอื่นๆ ที่จะได้ผลในการควบคุมการติดเชื้อ การดูแลรักษาผู้ป่วย ตลอดจนผู้ที่เป็นพาหะ

ข้อมูลสื่อ

81-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 81
มกราคม 2529
โรคน่ารู้
รศ.พญ.จันทพงษ์ วะสี