• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กระดูกคุณงอกได้จริงหรือ

กระดูกคุณงอกได้จริงหรือ

ตื่นแต่เช้า ออกกำลังกายให้สดชื่น พร้อมเปิดวิทยุ (เมดอินไทยแลนด์) ไปที่คลื่น 864 กิโลเฮิรตซ์สถานี ปชส. 7 รายการ “สุขภาพประจำวัน” เวลา 5.00 น.- 5.15 น. ทุกวันจันทร์ถึงเสาร์ และรายการ “หมอชาวบ้าน” เวลา 4.30-5.00 น. ทุกวันเสาร์

คนสูงอายุบางคนพอปวดหลัง มักจะสำคัญว่าเป็นเพราะกระดูกงอก บางคนชาตามแขนขา ก็นึกว่ากระดูกงอกมาทับเส้นประสาท กระดูกงอกคืออะไร เป็นแล้วมีอาการเช่นไรบ้าง เชิญฟังคำอธิบายของ รศ.นพ.ณรงค์ บุญรัตเวช จากภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล

นพ.วิชานารถ : กระดูกอกเป็นอย่างไรครับ

นพ.ณรงค์ : ก่อนอื่นผมอยากจะชี้แจงให้ทราบว่า การที่เราพูดว่ากระดูกงอก ไม่ได้หมายความว่า อยู่ดีๆ มีกระดูกเกินมาอีกเป็นชิ้นๆ ถ้าใครเคยไปเที่ยวน้ำตกคงจะเคยเห็นหินงอกหรือหินย้อย เป็นลักษณะของธรรมชาติ ร่างกายเราก็มีส่วนที่เกิดขึ้นได้เหมือนกัน กระดูกงอกนี้ก็เป็นพวกหินปูนมาจับตามข้อ ตามเอ็น ทำให้มีก้อนเล็กๆ หรือเป็นหนามแหลมๆ ขึ้นมา อันนี้เป็นธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงตามอายุขัยของร่างกายด้วย และกระดูกงอก เราไม่ได้ หมายถึง เนื้องอกหรือมะเร็งนะครับ

นพ.วิชนารถ : กระดูกงอกนี้เกิดได้กับกระดูกทุกชิ้นของร่างกายไหมครับ

นพ.ณรงค์ : ส่วนใหญ่ก็เกิดได้กับทุกส่วนของร่างกาย แต่ที่พบบ่อยๆ มักอยู่ตามข้อต่อต่างๆ เช่น ข้อเข่า ข้อเท้า ข้อไหล่ และพบตามกล้ามเนื้อที่เกาะกระดูกซึ่งมีการฉีกขาดและทำให้มีหินปูนจับได้

นพ.วิชนารถ : อย่างที่คุณหมอพูดว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงตามอายุขัย หมายความว่าคนแก่เป็นมากกว่าหนุ่มสาวหรือปล่าครับ

นพ.ณรงค์ : คือ โดยแนวโน้มแล้วคนที่สูงอายุร่างกายก็จะมีการเสื่อมลงไป กระดูกก็มีผลเช่นเดียวกันเกิดการสึกหรอและเสื่อมไป ประกอบกับร่างกายไม่สามารถชดเชยส่วนที่เสียไป หรือสึกหรอนั้นได้ จึงมีหินปูนมาจับพอกขึ้น เรียกว่า กระดูกงอกเกิดขึ้น แต่บางครั้งไม่จำเป็นต้องเสื่อมตามอุขัยก็ได้ เช่น จากการบาดเจ็บ เล่นกีฬา ทำงานมาก ทำให้เอ็นที่เกาะกล้ามเนื้อฉีกขาดแล้วก็ไม่ยอมพักหรือไปพบแพทย์ ร่างกายก็พยายามปรับตัว โดยการสร้างหินปูนมาเชื่อมต่อบริเวณที่เกาะนั้นไว้ แต่การสร้างที่เกิดขึ้นนั้นไม่ดี เพราะเป็นของแปลกปลอมเข้ามาอยู่ในเนื้อของเอ็นนั้น ก็ทำให้เกิดอาการอักเสบเรื้อรังที่จุดนั้น และจะมีอาการปวดบวม เป็นต้น

นพ.วิชนารถ : แล้วถ้าเกิดกระดูกงอกบริเวณข้อต่อจะทำให้เกิดผลอย่างไร

นพ.ณรงค์ : ผลจากกระดูกงอกที่เกิดขึ้นกับข้อต่อ จะทำให้ข้อนั้นใช้งานได้ไม่เต็มที่ เราพบเสมอที่ข้อเข่า ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถนั่งส้วมหรือนั่งพับเพียบได้ ก็จะมีอุปสรรคในการใช้งานของข้อต่อนั้น ถ้าหากเกิดขึ้นกับกระดูกสันหลัง ก็จะเกิดการกด อาจจะกดเส้นประสาทหรือกดไขสันหลังได้ ทำให้มีการชาปวดหรือเป็นอัมพาต อันนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของมัน อีกอย่างที่พบบ่อยเกิดที่บริเวณส้นเท้า ผู้ที่มีกระดูกงอกบริเวณส้นเท้าจะมีอาการปวดส้นเท้า เวลายืน เดิน ต้องลำบากในการเดินไปเดินมา

นพ.วิชนารถ : กระดูกงอกนี้อยากทราบว่ามันเป็นกรรมพันธุ์หรือเปล่าครับ

นพ.ณรงค์ : แนวโน้มทางกรรมพันธุ์เรายังไม่มีการยืนยันที่แน่นอน ที่แน่นอนก็คือเกิดขึ้นเนื่องจากสาเหตุที่กล่าวมาแล้ว เช่น จากอุบัติเหตุ หรือใช้งานมากไป จนกระทั่งข้อต่อนั้นเกิดการเสื่อมสึกหรอ หรือการที่เราปล่อยตัวให้มีน้ำหนักมากเกินไปคืออ้วนก็มีผล จะทำให้เกิดกระดูกงอกได้มากกว่าคนผอม

นพ.วิชนารถ : การรักษาเราจะปฏิบัติได้อย่างไรครับ จะต้องผ่าตัดหรือมิวิธีใดที่รักษาง่ายๆ ไหมครับ

นพ.ณรงค์ : ถ้าอาการไม่รุนแรงทางแพทย์นิยมรักษาโดยไม่ผ่าตัด จะให้ยาระงับการอักเสบและให้พักผ่อน แล้วแก้ที่สาเหตุ ถ้าอ้วนเราก็จะแนะนำให้ลดน้ำหนักตัวลง แต่ถ้ารุนแรงมากถึงขั้นต้องผ่าตัด ก็หมายความว่า เกิดจากกระดูกไปกดทับเส้นประสาท และแนวโน้มจะเป็นอัมพาต

นพ.วิชนารถ : แล้วตรงคอนี้จะเกิดกระดูกงอกได้อย่างไร

นพ.ณรงค์ : บริเวณกระดูกข้อต่อของคอเป็นบริเวณที่มีกระดูกงอกได้พอสมควร โดยทั่วไป คนอายุสัก 40 ปีไปแล้วกระดูกคอเริ่มเสื่อมแล้ว จะมีหินปูนมาจับ ถ้าไปฉายภาพรังสีหรือที่เรียกว่า เอกซเรย์ เราจะพบว่า มีหนามแหลมๆ ตามขอบกระดูกปล้องคอ ก็ไม่ต้องตกใจอะไร ถ้ามีอาการปวดต้นคอ ชาแล้วก็ปวดร้าวมาที่แขน ต้นแขน หรือถึงปลายนิ้วมือ ก็ถือว่าเป็นอาการที่กระดูกงอกต้นคอเริ่มจะไม่ค่อยดี การรักษาก็โดยการไปดึงคอ หรือทำกายภาพบำบัด เป็นการรักษาชนิดที่ยังไม่ต้องผ่าตัด

นพ.วิชนารถ : กระดูกเป็นแคลเซียมอย่างหนึ่ง แล้วการที่เราฉีดยาลดแคลเซียมเข้าไปมากๆ จะมีผลเสียต่อร่างกายได้ไหมครับ

นพ.ณรงค์ : การรักษาโดยฉีดยาอย่างที่ทั่วๆ ไป บางคนเข้าใจว่าการฉีดยาจะไปละลายกระดูกที่งอก ยาประเภทนี้ไม่มี ต้องเข้าใจว่าบริเวณที่มีกระดูกงอกจะมีการอักเสบเกิดขึ้นเหมือนกับเราเป็นฝีตามผิวหนัง เราใช้ยาฉีดเข้าไปในจุดที่มีการอักเสบโดยเป็นยาลดการอักเสบ ทำให้ลดอาการปวดบวม คนไข้ไม่ทรมาน แต่ถ้าเผื่อไปเอกซเรย์ดูกระดูกก็คงยาวเหมือนกันไม่ได้ลดหายไป

นพ.วิชนารถ : แล้วถ้าเราเกิดมีกระดูกงอกขึ้นมาไม่ว่าส่วนใดของร่างกาย เราจะทราบได้ไหมว่า เกิดมีอาการผิดปกติแล้ว จะถือว่าอาการอย่างไรเป็นข้อบ่งชี้

นพ.ณรงค์ : ก็มีอากรบ่งชี้ง่ายๆ เช่น ถ้าเกิดขึ้นกับข้อต่อจะทำให้ข้อนั้นใช้งานได้น้อยลง ขยับทีจะรู้สึกดังกร๊อบๆ อยู่ในข้อ ถ้าเกิดขึ้นกับกระดูกหลังจะมีอาการปวดหลังปวดต้นคอ แล้วบางครั้งอาจะร้าวลงไปตามแขนหรือขาได้ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของกระดูกงอก อันนี้ก็เป็นการเตือนว่าเริ่มมีกระดูกงอกแล้ว

นพ.วิชนารถ : จากประสบการณ์ของคุณหมอที่รักษามา การเกิดกระดูกงอกพบได้บ่อยแค่ไหน ในคนทั่วไป

นพ.ณรงค์ : การเกิดกระดูกงอกพบได้บ่อยทีเดียว ผู้ป่วยนอกที่โรงพยาบาลศิริราช ส่วนใหญ่มักพบที่เข่า ที่ส้นเท้า กระดูกหลัง กระดูกคอ

นพ.วิชนารถ : วิธีป้องกันอย่างไรที่จะไม่ได้เกิดกระดูกงอกขึ้นมาบ้างครับ

นพ.ณรงค์ : จากประสบการณ์ก็ทำให้เห็นว่าการป้องกันกระดูกค่อนข้างยุ่งยาก แต่ว่าถ้ารู้จักวิธีสักเล็กน้อยก็จะลดอัตราของกระดูกงอกได้ คือ

1. อย่าปล่อยให้น้ำหนักตัวมากเกินไป อันนี้ก็จะมีผลต่อกระดูกงอกของข้อต่อ เฉพาะสะโพก เข่า ข้อเท้า ส้นเท้า

2. จำเป็นจะต้องได้รับอาหารให้ถูกส่วน โดยเฉพาะอาหารประเภทโปรตีน พืชผัก อันนี้เป็นการส่งเสริมให้กระดูกแข็งแรง ไม่เกิดกระดูกงอกได้

3. ให้ออกกำลังกายเป็นประจำ แต่ต้องดูรูปร่าง ลักษณะท่าทางของตัวเองด้วย บางคนอ้วนมากไปออกกำลังกายแบบเต้น ก็อาจส่งเสริมให้กระดูกงอกมากขึ้นก็ได้ เนื่องจากเอ็นในกล้ามเนื้อทำงานมาก และฉีกขาด แล้วไม่ได้พักก็มีหินปูนมาจับบริเวณนั้น ก็เกิดกระดูกงอกได้

นพ.วิชนารถ : การออกกำลังกายโดยการยกแข้งยกขาจะพอไหม ในสมัยนี้เขานิยมวิ่ง การวิ่งนี้จะดีไหมครับ

นพ.ณรงค์ : การวิ่งขึ้นอยู่กับบุคคล สำหรับคนที่ยังไม่เคยวิ่งเลยหรือคนสูงอายุ อยากแนะนำให้เดินเร็วๆ มากกว่าวิ่ง เพราะการวิ่งบางครั้งจะส่งเสริมให้กระดูกงอกในข้อที่ขา ที่เข่าได้ เพราะปกติคนเรายกขาข้างหนึ่ง น้ำหนักตัวเราลงที่เข่าข้างหนึ่ง 3 เท่าของน้ำหนักตัว ทุกครั้งเพราะฉะนั้นถ้าคนน้ำหนักตัวมากหรือคนที่ไม่เคยมาก่อน จะมีปัญหาอย่างยิ่งในเรื่องกระดูกงอกที่ข้อต่างๆ ได้

นพ.วิชนารถ : แล้วอย่าคนอ้วนคุณหมอมีข้อแนะนำง่ายๆ ให้คนอ้วนทำบ้างไหม

นพ.ณรงค์ : คนที่มีน้ำหนักมาก การบริหารก็คือ การเดินเร็วๆ หรือเดินช้าๆ แต่เดินในระยะไกลหน่อย ยกแขน ยกขา แกว่งไปแกว่งมาจนร่างกายมีเหงื่อออก ประมาณ 15 นาที เป็นการช่วยลดน้ำหนักตัวทางอ้อมด้วย

ครับ! ก็คงหายสงสัยกันเสีย ที่ว่ากระดูกงอกนั้นเป็นอย่างไร

ข้อมูลสื่อ

81-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 81
มกราคม 2529
นพ.วิชนารถ เพรชบุตร