• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กล่องเสียง

กล่องเสียง


 


กล่องเสียง
เป็นอวัยวะที่เป็นทางผ่านของอากาศและช่วยในการออกเสียง ประกอบด้วยกระดูกอ่อนหลายชิ้นยึดต่อกันด้วยเอ็น ได้แก่ กระดูกอ่อนธัยรอยด์ (Thyroid cartilage) , ไครคอยด์ (Cricoid cartilage), อรีทีนอยด์ (Arytenoid cartilage)และกระดูกเล็ก ๆ อีกหลายชิ้น

ที่ส่วนต้นของกล่องเสียงมีกระดูกอ่อนอิปิกล๊อตติส (Epiglottis) หรือที่เราเรียก ลิ้นไก่ล่าง เป็นฝาปิดกล่องเสียง เพื่อไม่ให้อาหารตกลงไปในหลอดลม
ในผู้ชาย กระดูกธัยรอยด์ทางด้านหน้าจะยื่นออกมามากและแหลมกว่าของผู้หญิงที่เราเรียกว่า ลูกกระเดือก (Adam’s apple)

ภายในกล่องเสียงมีแผ่นเอ็นหรือที่เรียกว่าสายเสียง (Vocal cord) สามารถเปิดปิดได้ โดยอาศัยกล้ามเนื้อขยับกระดูกอ่อนทำให้แผ่นเอ็นนี้เปิดปิดได้ตามต้องการ ขณะที่มีการพูดออกเสียงแผ่นเอ็นนี้จะขยับเข้ามาใกล้กัน ทำให้เป็นช่องแคบ ๆ เมื่อลมกระทบกับแผ่นเอ็นนี้จะเกิดการสั่นสะเทือน และเกิดเป็นเสียงขึ้น เมื่อเสียงนี้มากระทบกับลิ้น ฟัน และริมฝีปาก จะเกิดเป็นเสียงพูดจา เพศชายจะมีเสียงใหญ่กว่าเพศหญิง เพราะว่ามีกล่องเสียงขนาดใหญ่กว่า

นอกจากนี้ แผ่นเอ็นที่กล่องเสียงยังช่วยปิดหลอดลมขณะกลืนอาหาร เพื่อไม่ให้เศษอาหารผ่านกล่องเสียงเข้าสู่หลอดลม เมื่อเกิดอุบัติเหตุมีการพูดคุยขณะกำลังกลืนอาหารจะทำให้เศษอาหารผ่านกล่องเสียงเข้ามาจะทำให้มีการสำลักเพื่อให้เศษอาหารหลุดออกมาโดยการบังคับของระบบประสาท
แต่ถ้าเศษอาหารไม่ผ่านออกมา จำเป็นต้องไปหาหมอช่วยเอาออกอาจจะต้องผ่าตัดช่วยแล้วแต่กรณีเพราะถ้าเศษอาหารไปอุดหลอดลมไว้จะทำให้การหายใจไม่สะดวก.
 

   


1.หลอดอาหาร ( Esophagus)
2. หลอดลม ( Trachea )
3.กระดูกอ่อนหลอดลมคอ ( Tracheal caritlage)
4.กระดูกอ่อนธัยรอยด์ (Tyroid cartilage )
5.ต่อมธัยรอยด์ ( Tyroid gland )
6.ลิ้นไก่ล่างหรือฝาปิดกล่องเสียง ( Epiglottis)
7. อาหาร ( Food )
8.ลิ้น ( Tongue )
9. เพดานอ่อน ( Soft palate)

รูป ก. และ ข.แสดงการกลืน
หลังจากที่อาหาร( 7 ) ถูกเคี้ยวและบดภายในปาก ก็จะถูกผลักโดยลิ้น ( 8 ) เข้าไปยังบริเวณคอหอย เพดานอ่อน ( 9 ) บริเวณคอหอยจะกลั้นไม่ให้อาหารทะลักขึ้นไปทางจมูกส่วนลิ้นไก่ล่าง ( 6 ) จะกระดกลงปิดหลอดลมไว้เพื่อไม่ให้อาหารตกลงไปในหลอดลม ( 2 ) อาหารจะตกลงไปยังหลอดอาหาร ( 1 ) และถูกรีดให้ลงไปสู่กระเพาะอาหารต่อไป



 

 

 

 

 

 

ข้อมูลสื่อ

40-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 40
สิงหาคม 2525
ดร.นที คัคนานตดิลก