• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หน้าธาลัสซีเมีย

หน้าธาลัสซีเมีย

 



 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ภาพที่ 1 และภาพที่ 2
หน้าธาลัสซีเมีย : จมูกแบน หน้าผากโหนกชัน ลูกตาอยู่ห่างกันมากกว่าคนปกติ

คุณผู้อ่านครับ คนไข้ในภาพที่ 1 และภาพที่ 2 แท้จริงไม่ได้เป็นพี่น้องหรือมีความเกี่ยวดองทางสายเลือดแต่แอย่างใด แต่ดูลักษณะหน้าตาแล้วมีอะไรที่ละม้ายคล้ายคลึงกันมาก

ลองสังเกตดูดี ๆซิครับว่า มีอะไรคล้ายกันบ้าง ?
สิ่งที่คล้ายกันได้แก่ จมูกที่แบน หน้าผากที่โหนกชัน และลูกตาที่อยู่ห่างกันมากกว่าคนปกติ
หน้าตาแปลก ๆ แบบนี้แหละที่หมอเราเรียกว่า “หน้าธาลัสซีเมีย” บางทีเรียกว่า “หน้ามงโกลอยด์” เพราะลักษณะเหมือนหน้าตาของชาวมองโกเลีย
หน้าตาแบบนี้ เป็นลักษณะเฉพาะของโรคเลือดชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ธาลัสซีเมีย (Thalassemmia)
ผู้ที่เป็นโรคนี้ จะมีอาการซีดเหลืองมาตั้งแต่เกิด มักเจ็บออด ๆ แอด ๆ ขี้โรคและตัวเล็กกว่าอายุ
อาการซีดเหลือง รักษาอย่างไรก็ไม่เคยหาย

ดังนั้น คนที่มีอาการซีดเหลืองมาตั้งแต่เกิด แล้วมีหน้าตาแบบนี้เรามักจะเดาได้ทันทีเลยว่า เป็นโรคธาลัสซีเมีย คนที่เป็นโรคนี้ จะมีตับม้ามโตมาตั้งแต่กำเนิดด้วย ในคนปกติธรรมดาจะคลำไม่พบตับม้าม
แต่คนที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย ตับม้ามจะโตจะคลำได้ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ม้ามจะโตย้อยเข้าหาสะดือ คลำได้เป็นก้อนกลม ๆ แข็ง ๆ อยู่ทางด้านซ้ายของหน้าท้อง (ใต้ชายโครงซ้าย)
อาการม้ามโต ชาวบ้านเราเรียกว่า ป้าง หรือ อุปถัมภ์ม้ามย้อย ซึ่งนอกจากพบในคนที่เป็นโรคนี้แล้ว ยังพบในผู้ป่วยด้วยโรคมาลาเรีย มาลาเรียเรื้อรัง และโรคเลือดชนิดอื่นๆ ได้ แต่พบในคนไข้ธาลัสซีเมียมากกว่าสาเหตุอื่นๆ

ธาลัสซีเมีย เกิดจากความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ นั่นคือคนไข้จะเป็นโรคนี้ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่เลยทีเดียว
ทำให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงที่ผิดรูปผิดร่าง ซึ่งแตกสลาย (ถูกทำลาย) เร็วกว่าเม็ดเลือดแดงที่ปกติ เป็นเหตุให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงไม่พอกับความต้องการกลายเป็นโรคโลหิตจาง มีอาการซีดเหลือง เหนื่อยง่ายขี้โรค ตับม้ามโต และการที่มีหน้าแปลกๆ ก็เนื่องจาก กระดูกมีการเติบโตหนาตัวขึ้นผิดปกติ เพื่อให้ไขกระดูกสามารถสร้างเม็ดเลือดแดงขึ้นชดเชยกับส่วนที่แตกสลายไป คนที่จะเป็นโรคนี้ได้ จะต้องมีเชื้อกรรมพันธุ์มาจากพ่อกับแม่เลยทั้ง 2 คน โดยที่พ่อกับแม่อาจไม่มีอาการของโรคนี้เลยก็ได้ เพราะทั้งพ่อกับแม่มีเชื้อกรรมพันธุ์ของโรคนี้เพียงครึ่งเดียว เมื่อลูกรับเชื้อกรรมพันธุ์ครึ่งหนึ่งมาจากพ่อและอีกครึ่งมาจากแม่ครบองค์พอดี ก็เลยกลายเป็นโรคขึ้นมา โรคนี้พบได้บ่อยมากในบ้านเรา โดยเฉพาทางภาคเหนือและภาคอีสาน


         
( ภาพแสดงอาการตับ ม้าม โต )


การรักษา ถ้าสงสัย ควรไปพบแพทย์ที่อยู่ใกล้บ้าน และติดต่อรักษากับแพท์ผู้นั้นเป็นประจำอย่าเปลี่ยนหมอเปลี่ยนโรงพยาบาลบ่อย โรคนี้เป็นเรื้อรังตลอดชีวิตยังไม่มีทางหายขาด ควรกินอาหรพวกโปรตีนเช่น อาหารพวกเนื้อนมไข่ให้มาก ๆ หมออาจให้ยาเม็ดโฟเลต (เม็ดละ 5 มิลลิกรัม) กินวันละครึ่ง ถึงหนึ่งเม็ดตลอดไป ห้ามซื้อยาบำรุงเลือดที่เข้าเหล็ก เช่น เฟอรัสซัลเฟต มากินเพราะร่างกายคนไข้ไม่ได้ขาดเหล็กแต่จะมีปริมาณของเหล็กสะสมอยู่ร่างกายมากเกินความต้องการอยู่แล้ว ถ้าขืนกินสารเหล็กเข้าไปอีก อาจทำให้เป็นพิษต่อร่างกายได้ คนไข้มักมีโรคแทรกซ้อนได้ง่าย เช่น เป็นไข้ เจ็บคอบ่อยๆ หมออาจให้ยาเม็ดเพนวี (ขนาด 2 แสนยูนิต ) กินเช้าเม็ดเย็นเม็ดทุกวัน

พ่อแม่ที่มีลูกเป็นโรคนี้ ควรคุมกำเนิด ถ้าทำได้ เพราะลูกคนต่อไปอาจเป็นธาลัสซีเมียได้อีก โอกาสเสี่ยงนั้นสูงถึง 1 ใน 4 ทีเดียว ไม่ควรเสี่ยงให้ลูกเกิดมารับความลำบาก (ทั้งลูกและพ่อแม่) เลย ใช่ไหมครับ ?

 

ข้อมูลสื่อ

44-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 44
ธันวาคม 2525
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ