• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

พริกไทย : อาหารยา

พริกไทย : อาหารยา

อาหารสมุนไพรที่ใช้รักษาอาการหรือโรคที่นำมาเสนอนี้ เป็นการศึกษาของประเทศจีน หากท่านผู้อ่านท่านใดได้เคยใช้ในการรักษาอาการ หรือโรคใดและได้ผล กรุณาแจ้งมายัง “หมอชาวบ้าน” เพื่อรวบรวมไว้เป็นข้อมูลศึกษาและเผยแพร่เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป

พริกไทยจัดเป็นเครื่องเทศปรุงรสชนิดหนึ่ง ซึ่งให้กลิ่นหอมชวนรับประทาน

แหล่งกำเนิดพริกไทย คือ ประเทศอินเดีย นอกจากนี้พริกไทยยังเป็นพืชที่ปลูกแพร่หลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม ไทย เป็นต้น

ชื่อวิทยาศาสตร์ Piper nigrum L.วงศ์ Piperaceae

พริกไทยมี 2 ชนิด คือ พริกไทยดำและขาว ความจริงทั้งสองอย่างเป็นชนิดเดียวกัน เพียงแต่พริกไทยดำคือ พริกไทยที่ยังไม่แก่หรือตกลงมาเองจากต้น หรือเป็นเมล็ดที่ได้รับความเสียหายอื่นๆ ไม่ได้ผ่านกรรมวิธีในการลอกเปลือกออก หลังจากที่เมล็ดแห้ง เปลือกจะเหี่ยวและกลายเป็นสีดำ สำหรับรสนั้น พริกไทยดำมีรสเผ็ดร้อนน้อยกว่าพริกไทยขาว และราคาถูกกว่า

สรรพคุณ

พริกไทยมีคุณสมบัติร้อน (จัดเป็นหยาง) มีรสเผ็ด แก้เสมหะ (ไม่ใช่ติดเชื้อ) ปวดท้อง (เวลาใช้ถุงน้ำร้อนวางบนบริเวณท้องจะรู้สึกสบาย) แก้อาเจียน ท้องเสีย

ตำรับยา

1. โรคกระเพาะอาหาร (เวลาจับบริเวณท้องจะรู้สึกเย็น หรือเมื่อใช้ถุงน้ำร้อนจะรู้สึกสบาย) ใช้พริกไทย 10 กรัม ใส่เข้าไปในกระเพาะอาหารหมูซึ่งล้างทำความสะอาดแล้ว ใช้ด้ายผูกหัวและท้ายของกระเพาะอาหารหมู ต้มให้สุก นำเมล็ดพริกไทยตากให้แห้งแล้วบดเป็นผงกิน สำหรับกระเพาะอาหารหมูให้หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ กินกับน้ำแกงขณะอุ่นๆ

2. เด็กท้องเสีย ใช้เมล็ดพริกไทย (ตามอายุโดยใช้ขวบละ 1 เม็ด) ใช้พลาสเตอร์ปิดบริเวณสะดือเด็ก

3. อาหารไม่ย่อยในเด็กหรือผู้ใหญ่ ใช้ผงพริกไทย 0.4 กรัม โรยบริเวณสะดือ แล้วใช้พลาสเตอร์ปิด

4. ปอดบวม (เนื่องจากเย็นจัด) ใช้พริกไทย 10% เหล้าขาว 90% เอาเมล็ดพริกไทยแช่เหล้า 7 วัน แล้วเอาเฉพาะเหล้าทาบริเวณที่เป็น วันละ 1 ครั้ง

5. ตะขาบกัด ใช้ผงพริกไทยโรยบริเวณแผลที่โดนกัด

สารเคมีที่พบ

ในพริกไทยมี Piperine, Chavicine, Piperanine ในน้ำมันหอมระเหยของพริกไทยมี Piperonal, Dihydrocaveol, Caryophyllene oxide, Cryptone ฯลฯ เป็นต้น

ผลทางเภสัชวิทยา

ผลการทดลองกับคนปกติ 24 ราย โดยให้อมพริกไทย 0.1 กรัม แล้ววัดความดันโลหิตและการเต้นของชีพจร ความดันโลหิตของผู้ถูกทดลองสูงขึ้นโดยเฉลี่ย ความดันตัวบน 13.1 มม. ปรอทและความดันตัวล่าง 18.1 มม. ปรอทจะออกฤทธิ์อยู่นาน 10-15 นาที หลังจากนั้นก็จะลดลงสู่ปกติ แต่ไม่มีผลต่อการเต้นของชีพจร

ผู้ที่ถูกทดลองส่วนใหญ่นอกจากรู้สึกเผ็ดร้อนบริเวณปลายลิ้นแล้ว จะรู้สึกร้อนทั้งตัวและศีรษะ ฤทธิ์ของพริกไทยคล้ายกับพริก แต่มีฤทธิ์อ่อนกว่า ใช้ภายในจะมีสรรพคุณขับลม ทำให้เจริญอาหาร ถ้าใช้ภายนอกจะมีฤทธิ์กระตุ้น ทำให้เลือดบริเวณที่ทาพริกไทยไหลเวียนดีขึ้น

รายงานทางคลินิก

เด็กท้องเสีย (อาหารไม่ย่อย)

ก. ใช้ภายใน : ใช้ผงพริกไทยขาว 1 กรัมผสมกับกลูโคส 9 กรัม เด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ ใช้ครั้งละ 0.3-0.5 กรัม ต่ำกว่า 3 ขวบ 0.5-1.5 กรัม โดยทั่วไปใช้ไม่เกิน 2 กรัม วันละ 3 ครั้ง ระยะการรักษา 1-3 วัน ถ้าเสียน้ำมาก ควรให้น้ำเกลือในการใช้กับผู้ป่วยเด็ก 20 ราย หายขาด 18 ราย ดีขึ้น 2 ราย

ข. ใช้ภายนอก : ใช้ผงพริกไทยโรยบริเวณสะดือ แล้วใช้พลาสเตอร์ติดนาน 24 ชม. ถ้าไม่หายให้ใช้ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ในการทดลองกับผู้ป่วยเด็ก 40 ราย ทุกรายหายเป็นปกติ

ค. ยาฉีด : ยาฉีดที่สกัดจากพริกไทย 50% ฉีดจุดที่ใช้ปักเข็มเด็กใช้ 0.2 มล. ผู้ใหญ่ใช้ 0.5 มล. ใช้กับผู้ป่วย 42 ราย หลักฉีด 1-5 ครั้ง (โดยทั่วไปฉีด1-3ครั้ง) ทุกรายหายเป็นปกติ

ข้อควรระวัง

ผู้ที่มีอาการท้องผูก คอแห้ง เจ็บคอ ไม่ควรกินพริกไทย

ข้อมูลสื่อ

82-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 82
กุมภาพันธ์ 2529
อาหารสมุนไพร
วิทิต วัณนาวิบูล