• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การป้องกันแผลกดทับ

การป้องกันแผลกดทับ

แผลกดทับ หมายถึง การฉีกขาดของผิวหนัง หรือแผลที่เกิดขึ้นเนื่องจากบริเวณนั้นต้องถูกกดอยู่นานๆ ทำให้มีเลือดมาเลี้ยงได้น้อยกว่าปกติผิวหนังจะขาดอาหารและออกซิเจนจนในที่สุดเนื้อเยื่อจะตายเกิดเป็นแผล

แผลกดทับ เกิดได้กับบุคคลที่นอนอยู่ในท่าเดียวนานๆ เช่น ผู้ป่วยอัมพาต ผู้ป่วยที่อ่อนเพลียมากๆ ผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัว นอกจากนี้ยังพบได้บ่อยในผู้ที่ขาดอาหาร และผู้ป่วยที่การไหลเวียนของโลหิตไม่ดี บริเวณที่เกิดแผลกดทับได้บ่อย ได้แก่ บริเวณที่มีหนังหุ้มกระดูก ตามปุ่มกระดูก เช่น ผู้ที่นอนหงายท่าเดียวนานๆ จะพบแผลกดทับที่บริเวณ กระดูกส้นเท้า กระดูกก้นกบ ข้อศอก สะบัก เป็นต้น หรือผู้ที่นอนตะแคงท่าเดียวนานๆ จะพบแผลกดทับที่ตุ่ม สันตะโพก ต้นแขน หู เป็นต้น

แผลกดทบหายยากมาก ดังนั้นการป้องกันจึงมีความสำคัญที่สุด ด้วยการปฏิบัติดังนี้

1. เปลี่ยนท่านอนให้ผู้ป่วยบ่อยๆ ในรายที่ไม่รู้สึกตัวหรือช่วยตัวเองไม่ได้

2. ในรายที่ช่วยตัวเองได้บ้าง อธิบายให้เข้าใจถึงผลเสียของการที่อยู่ในท่าเดียวนานๆ สอนให้และช่วยเหลือให้เปลี่ยนท่า

3. ใช้วัสดุนุ่มๆ รองบริเวณหนังหุ้มกระดูก หรือปุ่มกระดูกเพื่อลดการกดทับ

4. ทำความสะอาดผิวหนัง เช็ดให้แห้ง โรยแป้ง ไม่ปล่อยให้ผู้ป่วยนอนแช่ปัสสาวะ ถ้าเปื้อนต้องเช็ดด้วยน้ำสะอาด โรยแป้ง

5. พยายามให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนทั้ง 5 หมู่และเพียงพอ เพื่อมิให้เนื้อเยื่อและผิวหนังอ่อนแอ อาหารที่สำคัญ คือ โปรตีนและวิตามิน

6. สังเกตลักษณะเริ่มแรกของแผลกดทับคือ ผิวหนังแดงหรือม่วงหรือดำ ต้องคอยเปลี่ยนท่ามิให้บริเวณนั้นถูกกดทับอีก

การป้องกันมิให้เกิดแผลกดทับเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะแผลกดทับหายยากมาก

ข้อมูลสื่อ

82-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 82
กุมภาพันธ์ 2529
พยาบาลในบ้าน
ดร.จริยาวัตร คมพยัคฆ์