• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กวัยขวบครึ่งถึงสองขวบ

เด็กวัยขวบครึ่งถึงสองขวบ

สภาพปกติ

281. อาเจียน

เวลาเด็กในวัยนี้อาเจียน เราต้องสังเกตว่าเด็กอาเจียนในสภาพเช่นไร

ถ้าเด็กมีไข้สูงและอาเจียนออกมา สาเหตุมักเกิดจากโรคที่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองในลำคอ อาจเป็นโรคปากอักเสบ (หรือโรคตุ่มเม็ดพองในปาก ดูหัวข้อ 185 มชบ.ฉบับที่ 47) หรือต่อมทอนซิลอักเสบเนื่องจากเชื้อไวรัส หรือคออักเสบเนื่องจากเชื้อแบคทีเรีย ผู้ที่จะตัดสินว่าเด็กเป็นโรคอะไรคือแพทย์ เพราะฉะนั้นเวลาเด็กมีไข้และอาเขียนต้องพาไปให้หมอตรวจรักษา

หากเด็กมีอาการไออย่างรุนแรง และมีอาเจียนออกมาด้วย มักจะเกิดจาก “โรคหลอดอักเสบคล้ายหืด” เด็กที่มีเสมหะมากเป็นปกติธรรมดา ร่าเริงดี ไม่มีไข้ ก็ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนพาไปหาหมอ แต่ถ้าเด็กไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันไอกรนเอาไว้ และไอรุนแรงทุกคืนจนหน้าแดงก่ำพร้อมทั้งอาเจียน เด็กอาจเป็นโรคไอกรนก็ได้ โรคนี้ต้องรีบพาไปหาหมอรักษา

ถ้าเด็กอาเจียนและมีอาการท้องเสียร่วมด้วย อาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (เช่น โรคท้องร่วง) ซึ่งมักเกิดในช่วงฤดูร้อน ต้องรีบพาไปหาหมอโดยเร็วที่สุด หรือเด็กอาจจะเป็นโรคที่เรียกกันทั่วไปว่า “หวัดลงกระเพาะ” ท้องเสียเพราะเชื้อไวรัส ซึ่งมักเป็นในช่วงอากาศเย็น

ในกรณีที่ไม่มีไข้แต่เด็กมีอาการปวดท้องรุนแรง และอาเจียน เด็กอาจจะเป็นไส้เลื่อนติดค้าง (incarcerated hernia) ดูหัวข้อ 246 หมอชาวบ้านฉบับที่ 68 สำหรับโรคลำไส้กลืนนั้นเกือบไม่พบในเด็กวัยนี้

เด็กวัยขวบครึ่งจนถึงวัยก่อนเข้าโรงเรียนประถมนี้ มีอาการอาเจียนในลักษณะพิเศษอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่มีไข้ เด็กมักจะอาเจียนและอ้าปากหาวบ่อยๆ อาการเช่นนี้จะเกิดในวันรุ่งขึ้นหลังจากที่เด็กเหนื่อยมากๆ โรคนี้มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่เป็น แต่ไม่มีชื่อเรียกเฉพาะในภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ หมอญี่ปุ่นเรียกโรคนี้ว่า “อาการเป็นพิษในตัว” และหมอเยอรมันเรียกว่า “อาการอาเจียนเป็นระยะ” เนื่องจากอาการเช่นนี้พบบ่อยในเด็ก จึงอยากอธิบายโดยละเอียดไว้ในหัวข้อถัดไป

282. อาการอาเจียนเป็นระยะ (อาการเป็นพิษในตัว)

อาการเช่นนี้มักเกิดตอนเช้าวันจันทร์ โดยเฉพาะหลังจากที่ทั้งครอบครัวไปเที่ยวสนุกกันมาในวันอาทิตย์ หรือมีญาติพี่น้องมาเที่ยวที่บ้านและเด็กได้เล่นสนุกสนานทั้งวัน

เช้าวันรุ่งขึ้นเมื่อเด็กตื่นนอนจะแสดงอาการไม่ค่อยสดใสเหมือนเช่นเคย เวลากินอาหารเช้าท่าทางไม่ค่อยอยากกิน พอกินไปได้ครึ่งเดียวก็เลิก และไม่นานนักแกจะอาเจียนเอาของที่กินเข้าไปออกมาหมด เมื่อให้ดื่มน้ำก็อาเจียนออกมาอีก เด็กแสดงอาการอ่อนเพลียหมดแรงและหาวบ่อยๆ พอพาไปนอนแกจะผล็อยหลับไปหน้าตาดูซีดเซียว แต่วัดไข้ดูกลับไม่มีไข้ คุณแม่อาจสงสัยว่าอาจกินอาหารเป็นพิษเข้าไปเมื่อวาน และสวนอุจจาระดู อุจจาระก็ปกติ แต่เด็กยังอาเจียนอยู่

เมื่อพาเด็กไปหาหมอ หมอที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับโรคนี้จะรู้ทันที เมื่อซักถามอาการ และทราบว่าเมื่อวานเด็กตื่นเต้นเล่นสนุกทั้งวัน หมอคงแนะนำให้เด็กนอนพักผ่อน ถ้าได้นอนพักอย่างสบายสัก 2-3 ชั่วโมงเด็กจะมีอาการดีขึ้น

หลังจากนั้นให้ลองให้อมลูกอมหรืออมก้อนน้ำแข็ง ถ้าเด็กยินดีอมและไม่เกิดอาการอาเจียนอีกก็ให้น้ำผลไม้หรือน้ำหวาน หากเด็กไม่อาเจียนหลังจากกินน้ำเข้าไป อาการของแกจะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว และสามารถดื่มนมหรือกินขนมปังหรือข้าวต้มได้ พอตกเย็นเด็กก็หายเป็นปกติ

อาการอาเจียนเป็นระยะนี้จะเกิดในวันรุ่งขึ้นหลังจากที่เด็กเล่นมากเกินไป แสดงว่าสาเหตุคือความเหนื่อยล้านั่นเอง เพราะเมื่อให้เด็กนอนหลับสบายสักพักอาการก็หายไปเอง แต่เนื่องจากเด็กอาเจียนเป็นระยะ และแสดงอาการอ่อนเพลียหมอแรงพับไป คุณแม่จึงมักตกใจคิดว่าลูกเป็นโรคอะไรร้ายแรง พาลูกไปหาหมอ หากโชคร้ายไปพบหมอที่ไม่ชักถามเรื่องรายโดยละเอียด เด็กอาจจะถูกจับขึงพืดฉีดยาสารพัด เด็กอ่อนเพลียหนักอยู่แล้ว ยิ่งมาเจอกับของเจ็บๆ อาการยิ่งทรุดลงไปอีก อาการอาเจียนจึงไม่ยอมหยุดง่ายๆ ระบบขับถ่ายของเสียเกิดอลเวง ทำให้ Ketone body ปรากฏตัวในปัสสาวะขึ้นมา ตัวเด็กเองก็หมดสติ

เมื่อถึงขั้นนี้ หมอคงตกใจส่งเด็กเข้าโรงพยาบาล เด็กอยู่ในสภาพหมอสติและอ่อนแรงเต็มที่ หมอทางโรงพยาบาลสงสัยว่าคงเกิดอาการเป็นพิษอะไรสักอย่าง รีบตรวจหาเชื้อต่างๆ แต่ไม่พบ หมอญี่ปุ่นจึงเรียกโรคนี้ด้วยชื่อประหลาดว่า “อาการเป็นพิษในตัว”

หมอทางโรงพยาบาลนั้นหากได้เห็นอาการตั้งแต่แรก อาจทราบว่าเด็กอาเจียนเพราะเหนื่อยเกินไป แต่เนื่องจากมาเห็นเด็กในขณะที่อาการทรุดมากแล้ว จึงหลงคิดว่าเกิดอาการเป็นพิษ ทำให้โรคนี้พลอยมีชื่อประหลาดไปด้วย

เด็กที่มีอาการเช่นนี้ และถูกฉีดยาเพราะความเข้าใจผิดจนอาการทรุดลงนั้น กว่าจะฟื้นคืนมาเหมือนเดิมอีกครั้งต้องใช้เวลา 3-4 วัน ทำให้คุณแม่ยากที่เชื่อว่า โรคนี้สามารถหายได้ภายในไม่กี่ชั่วโมงหากเด็กได้นอนพักผ่อนตั้งแต่ตอนแรก ชื่อโรค “อาการเป็นพิษในตัว” ก็ฟังดูน่ากลัวเสียด้วยที่หมอเยอรมันเรียกชื่อโรคนี้ว่า “อาการอาเจียนเป็นระยะ” เพราะเด็กที่เคยเป็นโรคนี้ครั้งหนึ่งมักจะเป็นอีกบ่อยๆ

อาการนี้มักเริ่มตั้งแต่เด็กอายุ 2-3 ขวบปีหนึ่งจะเป็นสัก 4-5 ครั้ง และหายไปเมื่อเด็กเข้าโรงเรียนอนุบาล แต่เด็กบางคนก็มีอาการนี้จนกระทั่งถึงชั้นประถมสอง โดยเฉพาะเด็กที่มีอารมณ์ละเอียดอ่อนมีอาการโรคนี้ได้ง่าย แต่ไม่เป็นปัญหาทางด้านบุคลิกภาพแต่อย่างใด

โรคนี้ไม่มียาป้องกัน วิธีเดียวที่ทำได้ คือ พยายาม “เบรก” ลูกเอาไว้บ้าง เวลาไปเที่ยวหรือเล่นกับเพื่อนมิให้เหนื่อยจนเกินไป อย่าถึงกับห้ามเล่นกับเพื่อนหรืองดเที่ยววันอาทิตย์ไปเลย น่าจะสนับสนุนให้เด็กได้เล่นนอกบ้าน เป็นการสร้าง “ภูมิต้านทาน” ขึ้นในตัว

เด็กที่เคยแสดงอาการอาเจียนเป็นระยะสักครั้งสองครั้ง และผู้เป็นแม่รู้ว่าเกิดจากความอ่อนเพลีย จึงให้ลูกนอนพักผ่อน ท่าทีของแม่ต่อลูก เช่นนี้มีผลมากต่ออาการของโรค แม่ที่มั่นใจตนเอง และสั่งให้ลูกนอน จะช่วยให้ลูกเกิดความสบายใจ แต่ถ้าหากผู้เป็นแม่เกิดความหวั่นกลัว เอะอะโวยวาย พาลูกวิ่งไปหาหมอทุกครั้ง จะทำให้เด็กขากความมั่นใจ เกิดความรู้สึกว่าตนเป็นคนอ่อนแอขี้โรค กลายเป็นคนหมกตัวอยู่กับบ้าน และร่างกายยิ่งอ่อนแอมากขึ้น

ข้อมูลสื่อ

82-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 82
กุมภาพันธ์ 2529