• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคติดเชื้อ

แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ในสถานบริการสาธารณสุข จะมีการใช้ภาษาที่เข้าใจในหมู่หมอด้วยกันเอง หากได้ทำความรู้จัก “ภาษาหมอ”ก็จะทำให้เราสื่อสารกับหมอได้ดียิ่งขึ้น คอลัมน์นี้จึงขอแนะนำ “ภาษาหมอ” เดือนละคำสองคำ

โรคติดเชื้อ

“เมื่อถูกสุนัขกัด ควรชะล้างแผลด้วยสบู่กับน้ำสะอาดทันที จะช่วยลดการติดเชื้อได้”

“อย่านอนหรืออยู่ใกล้ชิดกับคนที่เป็นไข้หวัดใหญ่ เดี๋ยวจะติดเอาเชื้อไข้หวัดใหญ่มา”

คุณผู้อ่านคงทราบกันดีแล้วว่า มีโรคอยู่มากมายหลายชนิดที่เกิดจากร่างกาไปรับเอาเชื้อโรคมาจากภายนอก เราเรียกโรคเหล่านี้ว่า “โรคติดเชื้อ” (Infectious diseases)

การที่ร่างกายรับเชื้อมาจากภายนอก ก็เรียกว่า “การติดเชื้อ” (Infection) อาทิเช่น

นายมีถูกสุนัขบ้ากัด รับเอาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าเข้าร่างกาย ก็กล่าวได้ว่า “นายมีติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า” ต่อมานายมีก็เกิดอาการแสดงของโรคนี้ก็กล่าวได้ว่า “นายมีป่วยเป็นโรคติดเชื้อ (พิษสุนัขบ้า)”

นางมามีสามีเป็นนักเที่ยว วันหนึ่งสามีเป็นโรคหนองใน นางมาก็พลอยติดเชื้อหนองในจากสามีไปด้วย ต่อมานางมาก็มีอาการตกขาว ขัดเบาและเป็นไข้ กลายเป็นโรคหนองใน (โรคติดเชื้อ)

ป้าแช่มเป็นไข้หวัด มีอาการไอค้อกๆ แค้กๆ หลานๆ ที่นอนอยู่ในห้องเดียวกับป้าแช่ม ก็พลอยติดเชื้อหวัดที่ติดมากับละอองเสมหะที่ป้าแช่มไอออกมา ต่อมาก็กลายเป็นไข้หวัด (โรคติดเชื้อ) กันทุกคน

โรคติดเชื้อสามารถติดต่อให้คนข้างเคียงได้ บางครั้งเราเรียกว่า โรคติดต่อ (Communicable diseases)

การติดต่อของโรค (การติดเชื้อ) เป็นไปได้หลายทาง เช่น

ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หัด อีสุกอีใส คางทูม วัณโรคปอด ปอดบวม ไอกรน คอตีบ ต่อมทอนซิลอักเสบ ติดต่อโดยการไอจาม หรือหายใจรดกัน (ทางเดินหายใจ)

บิด อหิวาต์ ไทฟอยด์ ตับอักเสบจากไวรัส (โรคดีซ่าน) พยาธิลำไส้ต่างๆ ติดต่อโดยทางอาหารและน้ำดื่ม (ทางเดินหายใจ)

โรคผิวหนัง เช่น ฝี พุพอง หิด เหา กลากเกลื้อน เริม งูสวัด ติดต่อโดยการสัมผัสโดยตรง หรือใช้ของใช้(เช่น เสื้อผ้า ที่นอน ผ้าเช็ดตัว) ร่วมกัน

บาดทะยัก โรคพิษสุนัขบ้า ติดต่อทางบาดแผล

มาลาเรีย ไข้เลือดออก ติดต่อโดยการถูกยุงกัด

กามโรค เช่น หนองใน หนอในเทียม ซิฟิลิส แผลริมอ่อน ฝีมะม่วง ติดต่อโดยเพศสัมพันธ์

ถ้าเราไม่อยากเป็นโรคติดเชื้อก็ต้องพยายามหลีกเลี่ยงจากการติดเชื้อ เช่น ไม่นอนหรืออยู่ใกล้กับคนที่เป็นหวัด ไอ หรือป่วยด้วยโรคของระบบทางเดินหายใจ กินอาหารและดื่มน้ำที่สุกและสะอาด ปราศจากแมลงวันตอม มีส้วมที่ถูกสุขลักษณะใช้ อย่าอยู่ใกล้ชิดกับคนที่เป็นโรคผิวหนัง หรือใช้ของใช้ร่วมกับคนที่เจ็บป่วย ระวังอย่าให้ถูกยังก้นปล่องหรือยุงลายกัด ทำลายยุง แมลง ที่เป็นตัวนำ

โรคสุดท้ายก็คือ อย่าลืมฉีดวัคซีนสำหรับโรคต่างๆ ที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน และหมั่นรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ

ข้อมูลสื่อ

83-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 83
มีนาคม 2529
พูดจาภาษาหมอ
ภาษิต ประชาเวช