• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

จะทำอย่างไร เมื่อเกิดแผลกดทับ

จะทำอย่างไร เมื่อเกิดแผลกดทับ

หลังจากที่ได้พยายามป้องกันเพื่อมิให้เกิดแผลกดทับกันอย่างเต็มความสามารถแล้ว แต่ไม่สามารถป้องกันได้ จะทำอย่างไรกับแผลกดทับนั้น?

แผลกดทับที่เกิดกับผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวจะรักษายากกว่าผู้ที่ขยับตัวได้เปลี่ยนท่าได้ และผู้ที่รู้สึกเจ็บ ทั้งนี้เพราะผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัว มักมีโอกาสที่แผลจะเปรอะเปื้อนอยู่กับอุจจาระและปัสสาวะตลอดเวลา และยังไม่มีความรู้สึกเจ็บ จึงทำให้แผลลุกลามเป็นบริเวณกว้างขึ้น โดยเฉพาะถ้าเป็น “ผู้ป่วยเบาหวาน” อาจมีเชื้อโรคตัวอื่นผสมรอยกลายเป็นแผลที่ดูแลรักษายากขึ้นอีก

การดูแลแผลกดทับส่วนใหญ่ต้องดูแลที่บ้านอยู่แล้ว นอกจากเป็นแผลลึกขยายกว้างมาก หรือมีการติดเชื้อแทรกจะต้องปรึกษาแพทย์

การดูแลแผลกดทับ

1. อย่าให้ผู้ป่วยนอนทับบริเวณนั้นอีก โดยเปลี่ยนท่า แต่ในรายผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวทำได้ค่อนข้างยาก ให้ใช้ “ห่วงยาง” หรือ “ฟองน้ำอย่างแข็ง” ตัดเป็นรูปวงกลมหุ้มด้วยผ้านิ่มๆ ขนาดพอเหมาะกับบริเวณที่วางกระดูกลงไป มิให้แผลกระทบกับพื้น เช่น บริเวณก้นกบให้สอด “ห่วงยาง” ขนาดที่เด็กเล็กใช้ว่ายน้ำเข้าไปบริเวณนั้น ให้แผลอยู่ตรงกลาง วางตะโพกลง หรือที่ส้นเท้าอาจใช้ “หมอนรอง” ส่วนที่เหนือขึ้นมา เพื่อมิให้บริเวณส้นต้องวางลงไปบนพื้น เป็นต้น

2. เมื่อผิวหนังเริ่มแดง หรือรู้สึกปวดแสบปวดร้อน ให้ใช้แอลกอฮอล์ 10% ผสมกับซิงค์ออกไซด์ (Zine oxide) ทาบริเวณนั้นๆ และหมั่นเปลี่ยนท่า

3. ถ้าผิวหนังพอง ให้เช็ดด้วยแอลกอฮอล์ 70% แล้วใช้เข็มเย็บผ้าลนไฟเจาะผิวหนังที่ฐานบริเวณที่พอง รีดเบาๆ เอาน้ำออกอย่าให้หนังถลอก ทาด้วยยาแดง ทิ้งไว้จนยาแดงแห้ง อย่าให้แผลกระทบพื้น

4. ถ้าผิวหนังถลอก ต้องใส่ยาแดง และปิดแผลเพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าแผล (ระวังผู้ป่วยแพ้ปลาสเตอร์อีก)

5. ถ้าแผลลึกหรือขยายกว้างขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งที่สะดวกและเหมาะสมแต่ละรายไป

ขอย้ำอีกครั้งว่า แผลกดทับ “รักษายากมาก การป้องกันเท่านั้นสำคัญที่สุด” ผู้ป่วยที่รู้สึกตัว การทำแผลแต่ละครั้งมีความเจ็บปวดทรมานมาก

ข้อมูลสื่อ

83-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 83
มีนาคม 2529
พยาบาลในบ้าน
ดร.จริยาวัตร คมพยัคฆ์