• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปวดเข่า

ปวดเข่า

แปลและเรียบเรียงจากหนังสือ The Acupressure Health Book โดย Frank Bahr.M.D.

ความรู้เรื่องการกดจุดเป็นของเก่าแก่และมีมานานหลายพันปีซึ่งเป็นที่ยอมรับของชาวจีน ศาสตร์แห่งการกดจุดได้แพร่หลายไปทั่วโลก ทั้งในอเมริกาและยุโรป โดยเฉพาะในยุโรป Dr.Frank Bahr ท่านเป็นแพทย์ชาวเยอรมัน เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการกดจุดโดยเฉพาะ ท่านได้ศึกษาและเขียนตำราการกดจุดไว้ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ามีประโยชน์ เหมาะสำหรับนำมาเผยแพร่แก่ประชาชนในการดูแลสุขภาพ เพราะกดจุดก็คือ ศาสตร์แขนงเดียวกับการฝังเข็มที่เราๆ ท่านๆ รู้จักกันดี แต่การกดจุดเป็นการฝังเข็มโดยไร้เข็ม ทั้งยังไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดเข็มเหมือนฝังเข็ม และไม่มีอันตรายใดๆ ต่อผู้ทำ ถ้าท่านกดถูกวิธีและมีประสิทธิภาพก็จะได้ผลในการรักษาทั้งยังช่วยเสริมการรักษาของแพทย์ให้หายเร็วขึ้น แต่ถ้าท่านทำแล้วไม่ได้ผล ก็ไม่มีข้อเสียหายอะไร

อาการปวดเข่าพบได้บ่อยในผู้ที่มีน้ำหนักมากเกินไป และในคนสูงอายุ เพราะว่าในขณะที่เดินหัวเข่าจะเป็น ส่วนที่รับน้ำหนักทั้งหมดของร่างกายเปรียบได้กับเสาเรือน ถ้าร่างกายอ้วนมาก น้ำหนักที่มากก็จะไปลงที่หัวเข่า จึงเกิดอาการปวดเข่าได้

อาการ

ระยะแรกจะรู้สึกปวดทั่วๆ ไปบริเวณเข่า ต่อมาจะปวดไปที่บริเวณขาส่วนล่าง และจะพบว่ามีอาการบวมรอบๆ ข้อเข่าได้

สาเหตุ

ภายในข้อเข่าจะมีกระดูกอ่อนรูปครึ่งวงกลมอยู่ 2 อัน อยู่ที่ด้านนอกและด้านในของหัวเข่า กระดูกอ่อนอันนี้มีหน้าที่ป้องกันการเสียดสี และป้องกันข้อไม่ให้หลวม กระดูกอ่อนรูปครึ่งวงกลมนี้อยู่ระหว่างกระดูกต้นขากับกระดูกส่วนล่าง ถ้าเกิดการอักเสบบริเวณนี้ก็เรียกว่า “ข้อเข่าอักเสบ” สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดเข่ามีด้วยกันหลายอย่าง เช่น

1. เกิดจาดอุบัติเหตุ เล่นกีฬา หกล้ม หรือได้รับแรงกระแทกรุนแรง

2. ข้อเข่าเสื่อมมักพบในวัยกลางคนและน้ำหนักมากเกินไป อาจมีสาเหตุร่วม เช่น หกล้ม นั่งคุกเข่า หรือยืนนานเกินไป เดินทางไกล เป็นต้น

เมื่อท่านเกิดปัญหาเรื่องปวดเข่า ควรจะไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง แพทย์อาจจะให้ยามารับประทานหรือฉีดยาเข้าข้อ การกดจุดจะช่วยบรรเทาอาการปวด และทำให้อาการต่างๆ หายเร็วขึ้นขณะที่ท่านรักษากับแพทย์ ในรายที่น้ำหนักมากเกินไป เมื่อท่านลดน้ำหนักได้ อาการปวดเข่าจะหายไปได้

ตำแหน่งที่กดจุด

จุดที่กดบนร่างกาย

1. จุด “จู๋ซานหลี่” (tsu-san-li)

 

วิธีหาจุด:

วางฝ่ามือของผู้ถูกนวดลงบนหัวเข่า กางนิ้วออกเล็กน้อย และที่ปลายสุดของนิ้วนาง คือ ที่ตั้งของจุด

วิธีนวด:

นวดลงล่าง

 

2. จุด “หยางหลิงฉวน” (yang-ling-ch’uan)

 

วิธีหาจุด:

อยู่เหนือจุดที่ 1 และจุดอยู่หน้ากระดูกขา (Fibula) ต่ำกว่ากระดูกขาเล็กน้อย

วิธีนวด:

นวดลงล่าง

 

3. จุด “อุ่ยจง” (wei-chung)

 

วิธีหาจุด:

อยู่บริเวณกึ่งกลางของข้อพับขา

วิธีนวด:

นวดลงล่าง

 

4. จุดที่หัวเข่า 4 จุด

 

 

วิธีหาจุด:

อยู่ที่เหนือหัวเข่า 2 จุด ซ้าย-ขวา และต่ำกว่าหัวเข่า 2 จุด ซ้าย-ขวา เช่นกัน

วิธีนวด:

จุดที่อยู่เหนือเข่า นวดขึ้นบนเฉียงออก

จุดที่อยู่ต่ำกว่าหัวเข่า นวดลงล่าง เอียงออก

 

จุดที่ใบหู

หูขวา

จุดที่ 1 อยู่ที่สามเหลี่ยมแอ่งเล็กๆ บนแผ่นหู

วิธีนวด:

นวดขึ้นบน

จุดที่ 2 อยู่ที่สันหู ส่วนที่โผล่ออกมาจากสันหู

วิธีนวด:

นวดขึ้น เอียงไปด้านหน้าเล็กน้อย (จุดที่ 2 ควรจะนวดให้แรงๆ )

หูซ้าย

นวดแบบเดียวกันกับหูขวา ทิศทางตรงข้ามกับหูขวา

การรักษา

กดจุดที่ใบหูและร่างกาย ควรจะทำสลับวันกัน ความถี่ห่างในการกดจุดขึ้นอยู่กับอาการมากหรือน้อย และอาจจะแตกต่างกันประมาณ 1-3 ครั้งต่อวัน นวดนานครั้งละ 5-10 นาที กดจุดไปจนกว่าอาการจะดีขึ้น ในไม่ช้าท่านจะสามารถลดการรับประทานยาของแพทย์ได้ แต่ท่านต้องปรึกษาแพทย์ก่อนลดยา

อย่าลืม ผู้ที่มีน้ำหนักมาเกินไป ต้องพยายามลดน้ำหนักส่วนเกินนั้น แล้วอาการปวดเข่าจะหายเร็วขึ้น

ข้อแนะนำทั่วไปก่อนกดจุด

1. นั่งหรือนอนในท่าที่สบาย มือที่จะกดจุดไม่ควรจะเย็น ถ้าเย็นควรทำมือให้อุ่นก่อนโดยแช่ในน้ำอุ่น หรือใช้ผ้าห่มมือไว้

2. ถ้าท่านมีผิวหนังที่แพ้ง่าย อาจจะโลชั่นหรือแป้งฝุ่นทาบริเวณที่จะกดจุดก่อนลงมือกดจุด

3. ระหว่างทำการกดจุด บางรายอาจมีเหงื่ออกมาก ควรให้พักระหว่างการกดจุดได้

4. ในวันที่อากาศหนาวเย็น เมื่อกดจุดเสร็จเรียบร้อย ก่อนออกไปนอกบ้านควรสวมเสื้อให้อบอุ่น

ข้อแนะนำก่อนกดจุด

1. การกดจุด หมายถึง การนวดจุดนั้นๆ โดยใช้ปลายนิ้วมือที่เล็บสั้น

2. อ่านและดูรูปทีแสดงตำแหน่งการกดจุดให้เข้าใจ แล้วลองกดจุดที่อยู่บนร่างกาย สำหรับจุดที่อยู่บนใบหูแจจะใช้กระจกส่องช่วยหาจุด หรือวานให้ใครคนใดคนหนึ่งดูจุดนั้นในรูปแล้วชี้ตำแหน่งให้

3. เมื่อท่านกดถูกจุดๆ นั้นจะให้ความรู้สึกได้ดีกว่าบริเวณรอบๆ และควรกดจุดให้แรงพอ

4. นิ้วมือที่นิยมใช้กดจุด มักใช้นิ้วชี้ โดยให้ปลายนิ้วตั้งฉากกับผิวหนัง และนวดไปตามทิศทางที่ลูกศรชี้ในภาพ นวด (ถู) ออกไปเป็นระยะทาง 1 นิ้ว การนวดควรนวดประมาณ 30 ครั้งต่อ10 วินาที หรือ 70-100 ครั้งต่อนาที

5. จุดบนใบหูอาจจะใช้ปลายนิ้วก้อยหรือปลายดินสอ, ปากกามนๆ นวดได้ เพราะบริเวณใบหูเล็กและแคบกว่าร่างกาย

6. การกดจุดตามหลักของจีนได้กำหนดเวลาในการกดจุดแต่ละครั้งไว้ ดังนี้

  • เด็กอายุ 0-3 เดือน ใช้เวลากดทั้งหมด ½ -3 นาที
  • เด็กอายุ 3-6 เดือน ใช้เวลากดทั้งหมด 1-4 นาที
  • เด็กอายุ 6-12 เดือน ใช้เวลากดทั้งหมด 1-5 นาที
  • เด็กอายุ 1-3 ปี ใช้เวลากดทั้งหมด 3-7 นาที
  • เด็กโตตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ใช้เวลากดทั้งหมด 5-10 นาที
  • ผู้ใหญ่ ใช้เวลากดทั้งหมด 5-10-15 นาที

7. จุดที่กดอยู่บนร่างกาย ควรกดหรือนวดทั้ง 2 ข้างของลำตัว (ร่างกายจะแบ่งเป็น 2 ข้าง คือ ข้างขวาและซ้าย)

8. ระยะต่างๆ ที่ใช้ในการวัด จะวัดจากความกว้างของนิ้วของผู้กดจุดเอง

ข้อมูลสื่อ

84-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 84
เมษายน 2529
ลลิตา อาชานานุภาพ