• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคไข้เลือดออก

 

 

                

ขณะนี้เป็นฤดูฝนข้าพเจ้าได้ขึ้นไปดูผู้ป่วยตามตึก พบว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่มีอาการขาดน้ำ ทำให้มีอาการช็อกคือชีพจรเบา กระสับกระส่าย ผิวหนังและริมฝีปากแห้ง จำเป็นต้องให้น้ำเกลือทางเส้นเลือด บางรายมีเลือดออกร่วมด้วย เช่นอาเจียนเป็นเลือด เลือดออกใต้ผิวหนัง จำเป็นต้องให้เลือด บางรายเป็นหนักมากต้องรับไว้ในห้องบำบัดผู้ป่วยหนัก (I.C.U.)เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด


⇒ สาเหตุ โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส 2 ชนิดคือ
1.เชื้อเดงกี่ (Dengue)
2.เชื้อชิกุนคุนย่า (Chigunkunya)
พาหะที่สำคัญของเชื้อไวรัส คือยุงลายที่มีชื่อว่า Aedes aegypti ฉะนั้นโรคนี้จึงมีมากในฤดูฝนเนื่องจากมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงเพิ่มขึ้น ยุงชนิดนี้มักออกหากินในเวลากลางวัน ชอบเพาะพันธุ์ในแหล่งน้ำค่อนข้างสะอาดซึ่งขังอยูในภาชนะต่าง ๆ เช่น ตุ่ม ไห หม้อ กระป๋อง ขวด กะลา ยางรถยนต์ และอื่น ๆ
โรคนี้เป็นกันมากและเมื่อเป็นครั้งหนึ่งแล้วก็อาจเป็นได้อีก เพราะไม่มีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ แต่ส่วนใหญ่ที่เป็นมักจะไม่มีอาการรุนแรง มีแต่เพียงไข้ขึ้นสูงทันที ไข้จะสูงลอยอยู่ประมาณ 3-4 วัน เด็กจะมีอาการเบื่ออาหาร อาเจียน มีผื่นตามตัวคล้ายหัด หรือบางทีมีจุดเล็ก ๆ ตามผิวหนัง ถ้าให้การรักษาอย่างถูกต้องจะหายได้โดยไม่ต้องรับไว้ในโรงพยาบาล ประมาณ 10% เท่านั้น ที่มีอาการหนักอาจจะมีอันตรายถึงชีวิตได้ จำเป็นต้องรับไว้ในโรงพยาบาล เด็กพวกนี้จะมีอาการช็อก คือมือเท้าเย็น กระสับกระส่ายตลอดเวลา ชีพจรเบา ปัสสาวะน้อยมาก และในบางรายมีเลือดออกเป็นจำนวนมาก เช่นออกในกระเพาะอาหาร อาเจียนเป็นเลือด หรืออุจจาระดำ โรคนี้มักเป็นในเด็กอายุระหว่าง 2-10 ปี การวินิจฉัยโรคในกรณีที่ยังไม่มีอาการช็อกหรือเลือดออกทำได้ยาก เพราะไข้บางอย่างเช่นไข้หวัดใหญ่ ไข้ทัยฟอยด์ ไข้มาเลเรีย ก็มีอาการคล้ายคลึงกัน การทดสอบบางอย่างอาจช่วยได้เช่น การทดสอบทูร์นิเก้ (Tourniguet test) จะมีประโยชน์มากในการวินิจฉัยโรค ถ้ามีผลบวกจะสนับสนุนโรคไข้เลือดออก อย่างไรก็ตามไข้อย่างอื่นก็อาจให้ผลลวกได้แต่น้อยกว่าไข้เลือดออก การวินิจฉัยที่แน่นอนคือการตรวจสอบทางไวรัสซี่งทำได้เฉพาะสถาบันใหญ่ ๆ เท่านั้น


⇒ วิธีทดสอบทูร์นิเก้
ใช้สายยางหรือเครื่องวัดความดันโลหิตพันรองท่อนแขนในส่วนบน ให้เส้นเลือดดำที่ต่ำจากบริเวณรัดโป่งพอง แต่ไม่รัดแรงเกินไปจนกระทั่งคลำชีพจรไม่ได้ รัดสายยางไว้ 5 นาที แล้วดูผิวหนังด้านท้องแขนต่ำกว่าข้อพับประมาณ 1 นิ้วอย่างละเอียด ถ้ามีจุดเลือดออกเกินกว่า 5 จุด ต่อเนื้อที่วงกลมซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว (เท่ากับเหรียญบาทอย่าเล็ก) แสดงว่าการทดสอบได้ผลบวก การทดสอบนี้ควรทำโดยเจ้าที่สาธารณสุข


⇒ การรักษา
โรคนี้ส่วนใหญ่จะไม่มีอันตราย เวลานี้ยังไม่มียาที่สามารถฆ่าเชื่อไวรัสได้ ฉะนั้นการรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการ เช่นมีไข้สูงก็ให้พักผ่อนให้มากในที่มีอากาศปลอดโปร่งให้ดื่มน้ำมาก ๆ อาจให้ดื่มน้ำเกลือ โอ-อาร์-เอส ขององค์การเภสัชกรรมที่ใช้สำหรับท้องร่วง จะมีประโยชน์ในการทดแทนน้ำและเกลือแร่ ให้เช็ดตัวบ่อย ๆ ด้วยน้ำอุ่นโดยเฉพาซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ เพราะเป็นที่อับ จำเป็นต้องระบายความร้อนออกจากร่างกายเป็นพิเศษ ยาลดไข้ควรให้พาราเซตามอล ไม่ควรให้แอสไพริน เพราะแอสไพริน อาจจะทำให้กระเพาะอาหารเป็นแผลหรือทำให้เลือดออกได้
อาหารควรเป็นอาหารอ่อน ในผู้ป่วยที่มีอาการอาเจียน การให้น้ำเกลือโอ-อาร์-เอส อาจช่วยลดการอาเจียนได้ แต่ถ้าดื่มน้ำหรือน้ำเกลือไม่ได้เลย และมีอาการอาเจียนตลอดเวลา ควรต้องนำส่งโรงพยาบาล เพื่อแพทย์จะได้พิจารณาให้น้ำเกลือทดแทนทางเส้นเลือด หรือผู้ป่วยที่มีอากาช็อกมือเท้าเย็น กระสับกระส่ายหรือมีเลือดออกเช่นมีจุดเล็ก ๆ ที่ผิวหนัง อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระเป็นเลือด ก็ต้องรีบส่งโรงพยาบาลโดยด่วน


⇒ การป้องกัน ที่สำคัญมี 2 ประการคือ
1.ระวังอย่าให้ยุงกัด ต้องให้เด็กนอนในมุ้งทั้งกลางวันและกลางคืน
2.ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ทุกแห่ง แหล่งเพาะพันธุ์ยุงที่สำคัญเป็นแหล่งซึ่งคนทำขึ้น เพราะยุงลายชอบอาศัยอยู่ในน้ำสะอาด ในภาชนะดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ฉะนั้นจึงต้องปิดฝาโอ่งให้มิดชิดอย่าให้ยุงลายวางไข่ได้และทำลายกระป๋อง กะลาให้หมดอย่าทิ้งไว้ให้น้ำขังได้ ใส่น้ำมัน เกลือ หรือยาฆ่าแมลงลงในน้ำหล่อขาตู้กับข้าวเพื่อกำจัดยุงลาย

โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน
 

ข้อมูลสื่อ

64-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 64
สิงหาคม 2527
นพ.ปรีชา วิชิตพันธ์