• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อวัยวะสำหรับการเคลื่อนไหว


คุณเคยสงสัยบ้างไหมว่า ในขณะที่เรากำลังเดิน วิ่ง ถีบจักรยานว่ายน้ำ ร่างกายของเราทำอย่างไรจึงเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้โดยมีท่วงท่าที่คล่องแคล่วไม่เคอะเขินสะดุด การเคลื่อนไหวของคนเราต้องการการทำงานร่วมกันของอวัยวะในร่างกายหลายอย่างคือกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ ที่ทำหน้าที่ของมันอย่างประสานและต่อเนื่อง ยิ่งเป็นนักกีฬายิมนาสติกที่กระโดดตีลังกาได้กลางอากาศ เขาจะต้องมีกล้ามเนื้อและกระดูกที่แข็งแรงที่ได้รับการฝึกมาอย่างดีแล้ว

โครงร่างของเราประกอบด้วยกระดูก กระดูกอ่อน เนื้อเยื่อที่เราเรียกว่าเอ็นหรือเส้นเอ็นซึ่งเชื่อมกระดูกกับกระดูก เชื่อมกล้ามเนื้อกับกระดูก
ร่างกายของเราประกอบด้วยกระดูก 206 ชิ้น กล้ามเนื้อ 650 มัด กระดูกและกล้ามเนื้อประกอบกันเป็นตัวเราเป็นรูปร่างของเรา ถ้าไม่มีกระดูกและกล้ามเนื้อ ตัวเราก็จะเหลวเป็นวุ้นเหมือนแมงกะพรุน
กล้ามเนื้อทำหน้าที่เป็นเครื่องจักรของร่างกายเรา กล้ามเนื้อขาช่วยเราในการวิ่ง กล้ามเนื้อทรวงอกช่วยในการหายใจ กล้ามเนื้อในกระเพาะอาหารช่วยในการคลุกเคล้าอาหารให้เข้ากับน้ำย่อย กล้ามเนื้อใบหน้าใช้ในการแสดงสีหน้า หัวใจก็เป็นก้อนกล้ามเนื้อที่ทำงานตลอดเวลาเพื่อสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงร่างกายโดยไม่มีวันหยุดพัก

กล้ามเนื้อแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด ตามลักษณะที่เห็นในกล้องจุลทรรศน์คือ กล้ามเนื้อลาย กล้ามเนื้อเรียบ และกล้ามเนื้อหัวใจ

กล้ามเนื้อลาย เป็นกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเคลื่อนไหวร่างกายของเราทั้งหมดเช่น กล้ามเนื้อแขน ขา กล้ามเนื้อทรวงอกเป็นต้น เป็นกล้ามเนื้อที่แข็งแรงที่สุด และเป็นส่วนใหญ่ที่สุดของร่างกายเรา การทำงานของกล้ามเนื้อชนิดนี้คือดึงรั้งกระดูกให้มีการเคลื่อนไหวตามที่ใจเราต้องการ

กล้ามเนื้อเรียบ เป็นกล้ามเนื้อที่ประกอบขึ้นเป็นอวัยวะภายในของร่าง เช่น กล้ามเนื้อที่หลอดลมปอด กล้ามเนื้อในกระเพาะอาหารและลำไส้เป็นต้น กล้ามเนื้อชนิดนี้ผิดกับกล้ามเนื้อลายที่มีลักษณะเรียบเวลามองด้วยกล้องจุลทรรศน์

กล้ามเนื้อหัวใจ เป็นกล้ามเนื้อพิเศษ ซึ่งก็บอกแล้วว่าเป็นกล้ามเนื้อของหัวใจ กล้ามเนื้อชนิดนี้มีลายคล้ายกับกล้ามเนื้อลาย แต่พิเศษกว่าที่มันสามารถทำงานได้เองโดยไม่ต้องฟังคำสั่งจากความนึกคิดของเรา

  

การทำงานของกล้ามเนื้อก็คือการหดตัว และคลายตัวตามลักษณะการเคลื่อนไหว เมื่อกล้ามเนื้อหดตัวมันจะแข็งและสั้นลง เช่นเวลางอข้อศอกกล้ามเนื้อด้านหน้าของแขนท่อนบนจะแข็งขึ้น แต่กล้ามเนื้อของแขนท่อนบนส่วนหลังจะคลายและยาวออก เมื่อเราเหยียดข้อศอกออกกล้ามเนื้อด้านหน้าดังกล่าวก็จะคลายตัวและนิ่มลง การทำงานของกล้ามเนื้อเรียบและกล้ามเนื้อหัวใจก็ใช้วิธีหดและคลายตัวเช่นเดียวกัน การทำงานของกล้ามเนื้อถูกควบคุมโดยระบบประสาทเพื่อให้กล้ามเนื้อทุกมัดทำงานประสานกันอย่างมีระเบียบ ทำให้ได้การเคลื่อนไหวที่คล่องแคล่วไม่ขัดสะดุด

กระดูกของเราทำหน้าที่เป็นโครงร่างของร่างกาย เมื่อเราเกิดมาใหม่ ๆ กระดูกของเรายังไม่แข็งพอที่จะยืนหรือเดิน แต่กล้ามเนื้อที่ขาของเราสามารถทำหน้าที่ของมันได้แล้ว คุณจะเห็นเด็กเล็ก ๆ เตะถีบขาไปมาได้ กระดูกและกล้ามเนื้อของเราแข็งแรงขึ้นรวดเร็วมาก ภายใน 1 ปี เด็กจะเริ่มยืนและเดินได้ สามารถใช้มือหยิบจับสิ่งของต่างๆ ได้ สามารถป้อนอาหารตัวเอง แต่งตัวเอง และขว้างลูกบอลรับลูกบอลได้เมื่ออายุ 5 ปี ถ้าเราประสบอุบัติเหตุ บริเวณที่บาดเจ็บมีอาการบวมมาก เคลื่อนไหวไม่ได้ เดินไม่ได้ หรือขยับแขนขาไม่ได้ ควรสงสัยว่ากระดูกหักจะต้องไปหาหมอเพื่อเอกซเรย์ ถ้ากระดูกไม่หักเพียงแต่กินยาแล้วนอนพักไม่กี่วันก็จะหาย หากกระดูกหัก หมอจะจัดกระดูกให้เข้าที่แล้วเข้าเฝือกไว้เพื่อให้กระดูกติดดังเดิม ทันทีที่เข้าเฝือกอาการเจ็บก็จะหายไป
โดยธรรมชาติกระดูกที่หักจะติดหรือต่อกันได้เอง นี่เป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่งของร่างกาย ถ้ากระดูกหักแล้วจัดท่ากระดูกไม่ดี กระดูกที่ติดกันก็จะผิดรูปไปจากเดิม แขนอาจจะคด ขาอาจจะยาวไม่เท่ากัน บางคนยังเข้าใจผิดคิดว่าถ้าเสกเป่า เอาน้ำมนต์ น้ำมันมาทา กระดูกจึงจะติดกันและมักจะไม่ยอมใส่เฝือก หรือตัดเอาเฝือกออกหลังจากที่หมอใส่ให้แล้ว กระดูกมันติดกันเองได้อย่างไรเป็นเรื่องที่น่าจะทำความเข้าใจกัน

กระบวนการซ่อมสร้างกระดูกที่หักจะเกิดขึ้นทันทีที่มันหัก เส้นเลือดภายในกระดูกที่ฉีกขาดออกจากกันเป็นสาเหตุให้เลือดไหลเข้าไปยังบริเวณที่กระดูกหัก ภายใน 7 ชั่วโมงหลังจากกระดูกหัก เลือดที่กรังอยู่ในบริเวณนั้นทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันส่วนที่บาดเจ็บ และคอยกระตุ้นการสร้างเซลล์กระดูกขึ้นมาใหม่ สองวันต่อมาบริเวณที่กระดูกหักก็จะมีเนื้อเยื่อแข็งมาหุ้มทำหน้าที่ดามส่วนที่หักเอาไว้ จากนี้เซลล์กระดูกที่ปลายกระดูกหักทั้งสองข้างก็จะงอกเชื่อมเข้าหากัน เส้นเลือดก็จะเกิดขึ้นใหม่ตามไปด้วย กลายเป็นสะพานของกระดูกและเส้นเลือดที่เชื่อมต่อกระดูกที่หักสองข้างเอาไว้ กระบวนการทั้งหมดนี้ต้องการเวลา ในเด็กจะรวดเร็วกว่าผู้ใหญ่ คือเด็กต้องการเวลา 3 สัปดาห์ กระดูกจึงจะเชื่อมติดกัน ผู้ใหญ่กระดูกจะติดภายใน 4 สัปดาห์
กล่าวโดยสรุปก็คือการติดของกระดูกเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเอง การรักษากระดูกหักที่เราทำกันอยู่ทุกวันนี้คือ การจัดกระดูกให้เข้าที่แล้วดามไว้ด้วยเฝือกเพื่อไม่ให้กระดูกส่วนที่จัดไว้ขยับเขยื้อนอีก แล้วปล่อยให้ร่างกายซ่อมกระดูกเอาเอง เวลากระดูกติดกันจะได้เป็นรูปเดิม ดังนั้นการถอดเฝือกหรือปล่อยให้กระดูกติดตามบุญตามกรรม หรือการเชื่อถือน้ำมนต์จะทำให้กระดูกที่หักเชื่อมติดกันอย่างผิดรูป เมื่อหายแล้วส่วนนั้นจะใช้การได้ไม่ดีดังเดิม

 

ข้อ คือส่วนที่กระดูกแต่ละชิ้นมาเชื่อมต่อกัน ข้อทำให้การเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายเป็นไปได้อย่างสะดวก คุณลองเปิดหนังสือเล่มนี้ดูโดยที่ไม่ต้องงอนิ้วดูสิ หรือลองเดินโดยเหยียดขาให้ตรงโดยไม่งอเข่า คุณก็จะรู้ซึ้งได้เองว่าข้อนั้นมีความสำคัญอย่างไร
ข้อมีหลายชนิด บางข้อหมุนได้รอบตัว เช่นข้อไหล่ บางข้อขยับได้เล็กน้อย เช่นข้อต่อกระดูกสันหลัง บางข้อพับได้เหมือนบานพับประตูอย่างเช่นข้อนิ้ว ข้อเข่า เป็นต้น ข้อต่อเหล่านี้มีเครื่องคุ้มกันจากอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้ เพื่อเป็นการประกันให้เราใช้ข้อในการเคลื่อนไหวได้นาน ๆ ปลายกระดูกจะมีกระดูกอ่อนหุ้มเพื่อให้ขยับข้อได้ลื่น ทั้งยังมีความหยุ่นกันการกระแทกกระทั้นได้ดี นอกจากนี้รอบ ๆ ข้อยังมีน้ำหล่อเลี้ยงข้อ ทั้งหมดนี้ทำให้ข้อต่อเคลื่อนไหวได้ลื่นราวกับเครื่องจักรที่มีน้ำมันหล่อลื่น .
อวัยวะที่ใช้ในการเคลื่อนไหวทั้งหมดจะแข็งแรงมีกำลัง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อนั้นจะแข็งแรงขึ้นเมื่อเราฝึกให้กล้ามเนื้อทำงานทุกวัน กินอาหารที่มีประโยชน์ หากใครเอาแต่นั่ง ๆ นอน ๆดูโทรทัศน์ ฟังสเตอริโอทั้งวั คนคนนั้นก็อ่อนแอปวกเปียก

เราจะทำให้กล้ามเนื้อและกระดูกแข็งเรงได้ดังนี้
1.กินนม โดยเฉพาะเด็กๆอาหารต้องมีเนื้อสัตว์เพียงพอ กินผลไม้และกินผักทุกวัน
2.การกินขนมหวาน น้ำหวาน มากเกินไปนอกจากจะทำให้ฟันผุแล้วยังทำให้อ้วนอีกด้วย
3.ออกกำลังกายทุกวัน
4.สอนเด็ก ๆ ให้ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน และเล่นกีฬาเพื่อจะได้มีโอกาสและรู้จักวิธีออกกำลังกาย
5.ช่วยทำงานบ้านโดยเฉพาะพ่อบ้านหรือเด็ก ๆ หรือแบ่งหน้าที่กันทำงานบ้านในวันหยุด เช่นตัดหญ้า ดายหญ้า รดน้ำต้นไม้

หากเกิดอุบัติเหตุแล้วสงสัยว่ากระดูกหรือกล้ามเนื้อจะเป็นอันตรายควรปฏิบัติดังนี้

1.นอนราบลงนิ่ง ๆ ร้องให้คนอื่นมาช่วย ไม่ควรพยายามเดินไปทั้ง ๆที่เจ็บ ๆ
2.ถ้าเจ็บที่คอหรือหลัง หรือสงสัยว่าคอหรือหลังจะหัก ยิ่งต้องนอนนิ่ง ๆ ไม่ลุกขึ้นเลย เพราะการเคลื่อนไหวอาจจะทำให้เป็นอัมพาตไปเลยได้
3.ถ้าเจ็บที่แขนให้อยู่นิ่ง ๆ อย่าแกว่งไปมา ผูกแนบติดไว้กับตัวดีที่สุด
 

  

ข้อมูลสื่อ

65-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 65
กันยายน 2527
พญ.ลลิตา ธีระศิริ