• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หมอเลี้ยงไข้/ไข้เลี้ยงหมอ

  

 “แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ในสถานบริการสาธารณสุข จะมีการใช้ภาษาที่เข้าใจในหมู่หมอด้วยกันเอง หากท่านได้ยินได้เห็นภาษาหมอคำใดแล้วไม่เข้าใจ ก็ขอเชิญเขียนจดหมายถามมา ยังคอลัมน์ได้เลยครับ”


อย่าไปหาหมอร้านนี้เลย หมอชอบเลี้ยงไข้”

“หมอตรวจแล้วไม่เห็นบอกอะไร นอกจากนัดให้ไปฉีดยาทุกวัน สงสัยจะเลี้ยงไข้แหง ๆ”

“ไปหาหมอคนนี้ตั้งหลายครั้ง แล้วยังไม่เห็นหายสักที หมอคงให้ยาอ่อนเพื่อหวังเลี้ยงไข้แน่เลย”
ฯลฯ

คนไข้จำนวนไม่น้อยมีความประทับใจในตัวหมอดังคำบ่นหรือคำนินทาดังกล่าวข้างต้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อไปหาหมอตามคลินิกส่วนตัว ได้ยาฉีดยากินสัก 2-3 หนแล้วยังไม่รู้สึกว่าดีขึ้น คนไข้ก็มักจะกล่าวหาว่า “หมอเลี้ยงไข้” แล้วก็จะเปลี่ยนไปหาหมอร้านอื่นแทน เพราะไม่อยากต้องเสียเงินเลี้ยงหมอ (ไข้เลี้ยงหมอ) อีกต่อไป

คุณผู้อ่านบางท่านอาจนึกสงสัยว่า “จริง ๆ แล้ว หมอสามารถจะเลี้ยงไข้ได้หรือนี่?”
ถ้าคำว่า “เลี้ยงไข้” หมายถึง การรักษาที่ไม่ได้ผลหรือได้ผลไม่เต็มที่ เพื่อให้อาการเจ็บป่วยนั้นยืดเยื้อออกไปอย่างจงใจ ก็คงต้องมาพิจารณากันดูว่า หมอจะได้หรือจะเสียประโยชน์กันแน่ ยิ่งมองในเชิงธุรกิจด้วยแล้ว หมอที่จงใจทำเช่นนี้ แม้ในระยะสั้นจะได้ค่าหยูกค่ายาจากคนไข้มากขึ้น แต่ก็ย่อมเสียชื่อ และคนไข้ก็มีแต่จะหนีไปรักษาที่อื่น ย่อมเสียในด้านการค้าระยะยาวอย่างแน่นอน เข้าทำนอง “ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน” ใครที่คิดทำในลักษณะทุบหม้อข้าวหม้อแกงของตัวเองเช่นนั้น ก็นับว่าฉลาดน้อยไปอย่างมาก ๆ ทีเดียว (ความจริงแล้วหมอจะสั่ง การรักษามากเกินจำเป็น เพื่อแสดงฝีมือสร้างชื่อเป็นการเรียกลูกค้ามากกว่าจะเลี้ยงไข้ จนทำให้เกิดโรคหมอทำ โรคยาทำจนคนไข้ชักจะขยาดกันแล้ว) ถ้ามองในด้านจรรยาแพทย์ การทำเช่นนี้ก็รังแต่จะประทับตราบาปในดวงใจของผู้กระทำ แม้จะสามารถเสพสุขทางวัตถุ แต่เขาก็ย่อมจะหาความสุขใจได้ยากเต็มที ในฐานะที่เป็นแพทย์ ผู้เขียนยังนึกไม่ออกเลยว่าจะมีวิธีเลี้ยงไข้ (อย่างจงใจ) กันแบบไหนบ้างและจะทำไปทำไม

ความจริง การรักษาที่ไม่ได้ผลหรือได้ผลไม่เต็มที่ย่อมเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดาของการตรวจรักษาโรค ทั้งนี้คงมีสาเหตุอย่างน้อย 3 อย่างด้วยกัน คือ
อย่างแรก หมอวินิจฉัยโรคผิด จึงให้ยาไม่ถูกกับโรค กว่าจะรู้ว่าผิดและกลับลำได้ก็อาจจะต้องลองให้ยาถึง 2-3 หนไปแล้ว ซึ่งแน่ละคนไข้ย่อมจะรอให้หมอทดลองฝีมือต่อไปอีกไม่ได้อย่างแน่นอน

อย่างที่สอง เป็นเพราะธรรมชาติของโรค ซึ่งจะมีกำหนดเวลาการหายของมัน เช่น ไข้หวัดมักจะหายประมาณ 3-5 วันไปแล้ว ไข้ไทฟอยด์ กินเวลา 4-7 วันไปแล้วกว่าจะทุเลา ดั้งนั้นเมื่อหาหมอ 2-3 วันแรก อาการไม่ดีขึ้น คนไข้ก็รู้สึกวิตกกังวล จึงรีบเปลี่ยนไปหาหมอคนใหม่ ก็พอดีกับจังหวะที่ไข้หายพอดี หมอคนแรกก็เลยเสียชื่อ ส่วนหมอคนหลังก็พลอยได้ชื่อไป

อย่างที่สาม เป็นเพราะธรรมชาติของโรคที่เป็นเรื้อรังเป็นแรมปี หรือชั่วชีวิต (เช่น โรคภูมิแพ้ โรคเบาหวาน โรคความดันเลือดสูง) เมื่อรับยาอาการจะดีขึ้น เมื่อหยุดยาก็กลับกำเริบใหม่ ขาดยาไม่ได้ หมอจึงมักจะต้องนัดไปรับยาอยู่เรื่อย ๆ

ดังนั้น ถ้าหากคนไข้คนใดได้พบประสบการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดใน 3 อย่างดังกล่าวแล้วขาดความเข้าใจ ประกอบกับช่องว่างในการติดต่อสื่อสารระหว่างหมอกับคนไข้ เช่น หมอไม่พูดจาแนะนำให้คนไข้รู้เรื่อง (เอาแต่สั่งฉีดยา จ่ายยาลูกเดียว) หมอเก็บค่ารักษาแพงเกินไป หมอพูดจาไม่เพราะ เป็นต้น ก็ย่อมสร้างความไม่พอใจแก่คนไข้มากยิ่งขึ้น ในที่สุดก็เกิดภาพประทับใจของคนไข้ว่า “หมอนี่เลี้ยงไข้จังเลย” ทางแก้ก็คือ ทุกครั้งที่หาหมอคนไข้ต้องกล้าถามหมอให้รู้เรื่อง และหมอก็ต้องมีความเห็นใจที่จะพูดกับคนไข้ให้รู้เรื่อง

ถ้าพบหมอที่พูดกันไม่รู้เรื่อง ก็ควรจะเปลี่ยนไปหาหมอที่พูดกันรู้เรื่องดีกว่านะครับ!

 

ข้อมูลสื่อ

110-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 110
มิถุนายน 2531
พูดจาภาษาหมอ
ภาษิต ประชาเวช