• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วัคซีนกินป้องกันโรคไทฟอยด์



ผลการทดลองในเด็กอายุ 6-21 ปี ในเขตระบาดของเชื้อไทฟอยด์ในซิลีพบว่า จากการให้กินวัคซีนที่ทำจากเชื้อซัลโมเนลลาไทฟี ที่ถูกทำให้ลดความรุนแรงลง 3 ครั้ง สามารถป้องกันโรคได้นานอย่างน้อย 3 ปี

ความพยายามที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโรคไทฟอยด์ได้พัฒนาไปอีกชั้นหนึ่งแล้ว เมื่อได้มีการผลิตวัคซีนชนิดกิน (enterie-coated capsule) และได้นำไปทดลองผลทางคลินิกในประเทศซิลี
ผลปรากฏว่าสามารถป้องกันโรคไทฟอยด์ได้นาน 3 ปี สูงถึงร้อยละ 67 ของประชากร เด็กที่ทำการทดลอง โดยที่วัคซีนนี้ไม่ก่อให้เกิดอาการข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ อันเกิดขึ้นเนื่องจากวัคซีนชนิดฉีดที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

องค์การอนามัยโลกได้ให้ทุนสนับสนุนการทำการทดลองใช้วัคซีนป้องกันไทฟอยด์ชนิดกิน ซึ่งเป็นวัคซีนที่ทำจากเชื้อแบคทีเรียที่ยังมีชีวิตอยู่ที่ถูกทำให้อ่อนกำลังลง โดยการทดลองในเด็กอายุ 6-21 ปีในเขตระบาดของเชื้อไทฟอยด์ ในเมืองหลวงของประเทศซิลี พบว่า จากการให้กินวัคซีนที่ทำจากเชื้ซัลโมเนลลาไทฟี (Salmonella ryphi) ที่ถูกทำให้ลดความรุนแรงลง 3 ครั้ง สามารถป้องกันโรคได้นานอย่างน้อย 3 ปี ซึ่งความสามารถนี้เท่ากับความสามารถของไทฟอยด์ วัคซีนชนิดฉีดที่เป็นวัคซีนชนิดชนิดที่ทำให้เชื้อตายโดยการฆ่าด้วยฟีนอล แต่วัคซีนชนิดฉีดมีข้อเสียในแง่ที่ทำให้เกิดอาการข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ สูงถึงร้อยละ 25 ของผู้ที่ได้รับวัคซีน วัคซีนชนิดกินนี้ถูกผลิตโดยการเคลือบวัคซีนให้รอดพ้นจากการทำลายโดยกรดในกระเพาะอาหาร แต่จะไปถูกดูดซึมในลำไส้เล็กแทน จึงทำให้สามารถมีฤทธิ์ป้องกันโรคได้

อีกทางเลือกหนึ่งในการให้วัคซีนชนิดกินที่ได้ทำการทดลองก็คือ ให้เด็กกินวัคซีนที่บรรจุในแคปซูล เวลากิน 1 แคปซูลหลังการให้กินไบคาร์บอเนต 1 กรัม เพื่อให้ไบคาร์บอเนตไปทำลายฤทธิ์ในกรดในกระเพาะอาหารเสียก่อน แต่ปรากฏผลว่าวิธีนี้ให้ผลไม่ดีเท่าการให้กินชนิด enterie-coated ถ้าให้เด็กกิน enterie-coated วัคซีน 3 แคปซูล ภายใน 1 สัปดาห์ จะให้ผลดีกว่าการให้กินเว้นระยะห่างกันภายใน 21 วัน ซึ่งจะให้ผลการป้องกัน เพียงร้อยละ 49 เท่านั้น

อย่างไรก็ตามอุบัติการณ์ของโรคไทฟอยด์ในประเทศต่าง ๆ มีความแตกต่างกันไป ซึ่งเชื่อกันว่าความแตกต่างนี้อาจเนื่องจากความแตกต่างทางกรรมพันธุ์ของประชากรด้วย ซึ่งจะมีผลให้การป้องกันด้วยวัคซีนก็ย่อมจะแตกต่างกันออกไปด้วย ก่อนที่จะยอมรับนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาใช้กับประชาชนของตน ก็ควรจะได้มีการพิจารณาอัตราความเสี่ยง/ประโยชน์ที่ได้รับ ตลอดจนมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดควบคู่กันไปด้วย


(เรียบเรียงจาก Oral vaccine shows no side effects, Far East Health, สิงหาคม 2531 หน้า 8)

รศ. จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์

 

ข้อมูลสื่อ

111-029
นิตยสารหมอชาวบ้าน 111
กรกฎาคม 2531
รศ.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์