• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไข้หนาวสั่น

 “แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ในสถานบริการสาธารณสุข จะมีการใช้ภาษาที่เข้าใจในหมู่หมอด้วยกันเองหากท่านได้ยินได้เห็นภาษาหมอคำใดแล้วไม่เข้าใจ ก็ขอเชิญเขียนจดหมายถามมา ยังคอลัมน์ได้เลยครับ” 

"(6 มีนาคม) สักตี 2 ครึ่ง ตื่นขึ้นมาเหงื่อแตกซิก แต่หนาวสะท้านจับใจ.... 8 โมงเช้า หนาวเหมือนลูกนกในหิมะอย่างเดิม อมปรอทดูอุณหภูมิตัวเองปาขึ้นไป 38.9 องศา โมโหขึ้นมาวานเด็กไปซื้อควินินมากินเสียเลย พลางห่มผ้าครางเพลงคนเดียวในดวงใจของคุณเปรม (ฮา)..”

นี่คือบางประโยคของคุณขรรค์ชัย บุนปาน นักหนังสือพิมพ์ชื่อดังแห่งค่ายมติชนที่พรรณนาถึงอาการจับไข้ของท่านเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้เขียนไว้ใน “ของดีมีอยู่” ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม 2531) ท่านเล่าว่าเริ่มมีอาการตะครั่นตะครอมา 2 เดือนเศษ ก็เอาแต่กินยาลดไข้ จนกระทั่งถึงต้นเดือนมีนาคม ก็มีอาการหนาวมากดังที่บรรยาย เมื่อกินยาไม่หาย ไปที่โรงพยาบาลท่านก็ได้บรรยายต่อว่า “สันดานสุกร ปากแข็งบวกกับอวิชชา งู ๆ ปลา ๆ สั่งให้ผมรายงานกับหมอว่า สงสัยโรคมาลาเรียกำเริบ....ผลก็คือถูกเจาะเลือดเล่น ๆ ไปหลายพรุน”  ในที่สุดจึงค่อยตรวจพบว่าเป็นโรคกรวยไตอักเสบ

คุณผู้อ่านอาจเคยเป็นไข้ (ตัวร้อน) ไปหาหมอ และอาจเคยถูกหมอซักไซ้ว่า “มีอาการหนาวสั่นไหม?
หนาวจนฟันกระทบกัน เหมือนผีเข้าหรือไม่ ?” หรือ “หนาวจนต้องห่มผ้าหลาย ๆ ผืนหรือไม่ ?”
อาการไข้หนาวสั่น หมายถึง อาการตัวร้อนร่วมกับความรู้สึกหนาวเหมือนลูกนกในหิมะดังว่า คือ สั่นเทิ้มทั้งตัว และต้องห่มผ้าหลายผืนจึงจะอยู่ ต่างจากอาการตะครั่นตะครอ หรือครั่นเนื้อครั่นตัวที่เพียงแต่หลบ อย่าให้ต้องลม และห่มผ้าเพียงบาง ๆ ก็อยู่

ในภาษาหมอ อาการไข้หนาวสั่นมีความหมายต่อการวินิจฉัยโรคเป็นอย่างมาก มันมักหมายถึง ไข้มาลาเรีย หรือไข้ป่า (ไข้จับสั่น) ดังที่รู้ ๆ กัน แต่คนที่ไม่เคยเข้าไปในเขตป่าเขาดงมาลาเรีย ถ้าหากมีอาการหนาวสั่นอย่างมาก พึงระลึกไว้เสมอว่า อาจเป็นโรคกรวยไตอักเสบ (จะมีอาการขัดเบา ปัสสาวะขุ่น ปวดเอว ปวดท้องร่วมด้วย) หรือปอดบวม หรือไข้ร้ายแรงอื่น ๆ ก็ได้ เมื่อมีอาการไข้หนาวสั่น จงอย่าคิดว่าเป็นจากไข้ธรรมดา ๆ หรือเหมาว่าเป็นเพียงไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่เป็นอันขาด

วิธีปฏิบัติตัวที่ดีที่สุดก็คือ จงรีบไปหาหมอตรวจหาสาเหตุให้รู้เรื่องเสียแต่เนิ่น ๆ อย่ามัวแต่กินยาลดไข้จนเพลิน “มีหนทางใดจะบอกให้เพื่อนร่วมชาติรู้ในความรู้เกี่ยวกับยารักษาโรคพื้นฐาน บอกให้คนเจ็บป่วยทั้งปวงเชื่อฟังคำสั่งแพทย์ยิ่งกว่าคำสั่งตัวเองได้ โลกนี้ก็จะปลอดภัยขึ้นอีกไม่น้อย ลองช่วยกันคนละไม้คนละมือดูนะครับ”

นั่นคือ คำวิงเวียนของคุณขรรค์ชัยที่ทิ้งท้ายในข้อเขียนเกี่ยวกับอุทาหรณ์แห่งการป่วยไข้ในครั้งนี้
จึงขอตอบสนองความวิงวอนของท่านด้วย “พูดจาภาษาหมอ” ในฉบับนี้!

 

ข้อมูลสื่อ

111-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 111
กรกฎาคม 2531
พูดจาภาษาหมอ
ภาษิต ประชาเวช