• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผึ้ง (นมผึ้ง-รอยังเยลลี่) (ตอนที่ 5)

อาหารสมุนไพรที่ใช้รักษาอาการหรือโรคที่นำมาเสนอนี้ เป็นการศึกษาของประเทศจีน ซึ่งทางจีนได้มีการค้นคว้าอย่างเป็นระบบ หากท่านผู้อ่านท่านใดได้เคยใช้ในการรักษาอาการ หรือโรคใดและได้ผล กรุณาแจ้งมายัง “หมอชาวบ้าน” เพื่อรวบรวมไว้เป็นข้อมูลศึกษา และเผยแพร่เพื่อให้เป็นประโยชน์ส่วนรวมต่อไป

                           

ฉบับที่แล้ว เราได้เสนอผลการทดสอบนมผึ้งในเชิงเภสัชวิทยาได้แล้วว่าสามารถเพิ่มภูมิต้านทางโรคให้กับร่างกาย และกระตุ้นเนื้อเยื่อให้เจริญเติบโตได้ แต่นมผึ้งยังมีผลต่อร่างกายในด้านอื่นอีก ดังจะได้เสนอต่อไปในฉบับนี้

3. ยืดอายุให้ยืนยาว
มีผู้เชื่อว่าในนมผึ้งมีโกลบูลินอยู่ 2 ชนิด โกลบูลินทั้งสองชนิดนี้ สามารถชะลอความชราและสร้างภูมิต้านทานโรคให้กับร่างกาย แต่ก็มีนักวิชาการบางท่านเชื่อว่า เหตุที่นมผึ้งสามารถทำให้อายุยืนได้เพราะกรดแพนโทเทนิก (Pantothenic acid) (วิตามินชนิดหนึ่งของกลุ่มวิตามินบีรวม) และวิตามินบี 6 เคยมีการทดลองโดยให้นมผึ้งกับหนอนในผลไม้ ผลการทดลองพบว่า หนอนที่เลี้ยงด้วยนมผึ้งจะมีอายุเฉลี่ย 15.5 วัน ส่วนหนอนที่ไม่ได้กินนมผึ้งจะมีอายุเฉลี่ย 13.3 วันเท่านั้น

4. ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ
ร่างกายมนุษย์มีระบบทำงานที่สลับซับซ้อน การที่ร่างกายมนุษย์สามารถทำงานได้อย่างกลมกลืน และเป็นระบบได้รั้นเพราะระบบต่อมไร้ท่อ ถ้าหากต่อมไร้ท่อผิดปกติขาดการควบคุม หรือขาดความสมดุล ก็จะทำให้เกิดโรคต่าง ๆ หรือตายได้ เมื่อเป็นเช่นนี้จงจำเป็นต้องมีการปรับสมดุลของร่างกาย สำหรับการปรับสมดุลของร่างกายนั้นมีอยู่ 2 วิธี คือ

วิธีแรก คือ การปรับสมดุลของร่างกายเอง (ปัจจัยภายใน) ทำให้ร่างกายฟื้นคืนสมรรถนะและสา มารถทำงานได้อย่างปกติ
วิธีที่สอง คือ การกินอาหาร หรือยา (ปัจจัยภายนอก) ที่มีสารเช่นเดียวกับที่หลั่งออกมาจากต่อมไร้ท่อ นมผึ้งนั้นมีผลทั้งสองประการดังที่กล่าวมาแล้ว

ผลการทดลอง
นมผึ้งมีฤทธิ์กระตุ้นฮอร์โมนเพศ ในการทดลองให้นมผึ้งในแม่ไก่ไข่จะเพิ่มขึ้นกว่าปกติ 1 เท่าตัว นอกจากนี้ในแม่ไก่ที่หยุดการให้ไข่แล้ว หลังจากกินนมผึ้งจะสามารถวางไข่ได้อีก
นมผึ้งกับน้ำตาลในเลือด จากการทดลองในสัตว์ที่มีร่างกายปกติ เมื่อได้นมผึ้ง น้ำตาลในเลือดจะลดลง ในการทดลองยังพบว่า นมผึ้งสามารถลดน้ำตาลในสัตว์ที่เป็นเบาหวานเนื่องจากใช้แอลล็อกแซน (Alloxan) ได้ หลังจากได้นมผึ้ง 2-6 ชั่วโมง น้ำตาลในเลือดจะลดลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ให้นมผึ้ง ในปัจจุบัน พบว่า เหตุที่นมผึ้งสามารถลดน้ำตาลในเลือดได้ เพราะมีพวกเพ็ปไทด์ (Peptide) ที่ออกฤทธิ์คล้ายกับอินซูลินอยู่
นมผึ้งกับไอโอดีนในร่างกาย ผลจากการเลี้ยงหนูถีบจักรด้วยนมผึ้ง ทำให้ต่อมธัยรอยด์มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ นมผึ้งยังมีฤทธิ์กระตุ้นให้ต่อมธัยรอยด์สามารถรับไอโอดีนได้มากขึ้นหลังจากใช้เมทิล-ไทโอยูราซิล (Methylthiouracil) ยับยั้ง

นมผึ้งกับโคเลสเตอรอล การทดลองโดยให้กระต่ายกินอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูง อีกกลุ่มหนึ่งนอกจากให้อาหารดังกล่าวแล้วยังให้กิน หรือฉีดนมผึ้ง (10-15 มก./กก.) ผลปรากฏว่ากลุ่มที่ให้นมผึ้งไขมันและโคเลสเตอรอลเลือดต่ำกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง หลังจากการผ่าตัดพบว่านมผึ้งสามารถลดการแข็งตัวของหลอดเลือดจากไขมันและโคเลสเตอรอลได้ และผลจากการถ่ายภาพรังสีหลอดเลือดหัวใจ ปรากฏว่ากลุ่มที่ให้นมผึ้งหลอดเลือดหัวใจจะตีบน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ให้นมผึ้ง
 

5. ฤทธิ์ในการยับยั้งแบคทีเรีย
ในปี 2501 ที่ประชุมนักเลี้ยงผึ้งระหว่างประเทศได้รายงานว่า นมผึ้งเข้มข้น 7.5 มก./ลิตร สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของโคลิบาซิลลัส (Colibacillus), สแตฟิโลค็อกคัส (Staphylococcus) ได้ สำหรับ ยีสต์(Saccharomyces) แม้จะใช้นมผึ้งที่มีความเข้มข้น 25 มก./ลิตร ก็ไม่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของยีสต์ได้
เคยมีผู้ทำการทดลองเปรียบเทียบนมผึ้งกับเพนิซิลลินในหนูตะเภาที่ติดเชื้อโคลิบาซิลลัส และสแตฟิโลค็อกคัส โดยใช้สารละลายนมผึ้ง 10% เปรียบเทียบกับเพนิซิลลิน 2,000 หน่วย/มล.หรือสารละลาย แกรมมิไซดีน (Gramicidin) ทาบริเวณแผล ผลปรากฏว่าแผลที่ทาด้วยสารละลายนมผึ้งจะหายใน 13-20 วัน สำหรับกลุ่มที่ใช้เพนิซิลลินหรือแกรมมิไซดีนจะหายใน 18-20 วัน ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า นมผึ้งสามารถทำให้แผลหายได้ไม่แพ้การใช้เพนิซิลลิน
 

6. ความเป็นพิษของนมผึ้ง
นักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซีย ทำการทดลองพบว่า ถ้าใช้นมผึ้ง 1 มก./กก. จะมีฤทธิ์ กระตุ้นประสาท และทำให้น้ำหนักของร่างกายเพิ่มขึ้น ถ้าใช้ถึง 100 มก./กก. จะมีฤทธิ์ทำให้การสันดาป (Metabolism) ของร่างกายปั่นป่วน (100 มก./กก. ในที่นี้หมายถึงผู้ที่มีน้ำหนัก 60 กก.) ถ้าใช้จนกระทั่งถึง 6 กรัม/กก. จึงจะเกิดผลข้างเคียง
นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นได้ใช้นมผึ้งฉีดเข้าช่องท้องหนูตะเภา ในปริมาณ 300, 1,000, 3,000 มก./กก. เป็นเวลาติดต่อกัน 5 สัปดาห์ ไม่ปรากฏผลข้างเคียงใด ๆ เกิดขึ้น มีบางคนได้เพิ่มปริมาณที่ให้ถึง 16 กรัม/กก. ก็ไม่ปรากฏว่าหนูตาย

ข้อระวัง : มีบางท่านที่แพ้นมผึ้ง อาการที่เกิดจากการแพ้มักมีอาการหืด หอบ หรือเป็นผื่นแดง ถ้าเกิดอาการเหล่านี้ขึ้น ไม่ต้องทำอะไร เพียงแต่หยุดกินนมผึ้ง อาการดังกล่าวก็จะหายไปเอง

 

ข้อมูลสื่อ

112-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 112
สิงหาคม 2531
อาหารสมุนไพร
วิทิต วัณนาวิบูล