• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษา “อาการคัน”

ประชาชนทั่วไปสามารถที่จะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเองและญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อย ๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70-80) จะรักษาได้ โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด”จะนำเสนอท่านเป็นประจำเพื่อชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้การดูแลรักษาตนเองและผู้อื่น

         

อาการคัน ในที่นี้ หมายถึง อาการที่ทำให้รู้สึกอยากเกา ไม่ได้รวมถึงความหมาย เช่น คันไม้คันมือ (อยากดี อยากตบ) หรือมือคัน (มืออยู่ไม่สุข) หรือคันปาก (อยากพูด) หรือปากคัน (ปากอยู่ไม่สุข) เป็นต้น อาการคันดังกล่าวนี้ เป็นอาการที่คนทุกคนเคยรู้สึกมาแล้วทั้งสิ้น และเมื่อเกิดอาการคันขึ้นมาแล้ว เกือบทั้งหมดก็ต้องติดตามด้วยอาการเกา ซึ่งอาจจะเป็นเพียงเบา ๆ แค่ลูบไล้ให้หายคัน หรืออาจจะหนักขึ้นเป็นการถูแรง ๆ (เช่น การเกา การจิก การข่วน การขูด) ซึ่งอาจทำด้วยมือ ปลายนิ้ว ปลายเล็บ ไปจนถึงการเกาด้วยของแข็งอื่น ๆ (เช่น ไม้ หิน เหล็ก เป็นต้น)

การวินิจฉัยอาการคัน จึงทำได้ง่าย เพราะจะเห็นคนที่มีอาการคัน จะลูบ ถู เกา จิก ข่วน หรือขูดผิวหนังส่วนที่คัน จนอาจจะเกิดเป็นรอยเกา รอยจิก รอยข่วน หรือรอยขูดจนเป็นแผล หรือเป็นแผลเป็นให้เห็นได้อย่างง่ายดาย แม้ว่าการวินิจฉัยอาการคันจะทำได้ง่าย แต่การหาสาเหตุที่ทำให้คันนั้นบางครั้งยุ่งยากมาก
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการคัน มีอยู่มากมาย แต่อาจจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ (ดูตารางที่1) ดังนี้ คือ

ประเภทแรก มีความผิดปกติ ที่ผิวหนังในบริเวณที่คัน (เช่น รอยแมลงกัดต่อย จุดแดง ๆ ผื่น ปื้น ลมพิษ เป็นต้น) ประเภทนี้เกือบทั้งหมด ถูกจัดไว้เป็นโรคผิวหนัง เช่น

1. โรคผิวหนังจากแมลงกัดต่อย (insect bites) ซึ่งมักจะเห็นเป็นรอย เช่น รอยยุงกัด ไรกัด หรือไม่เห็นเป็นรอยกัดแต่เป็นลักษณะอื่น เช่น โรคหิด เหา โลน เป็นต้น


2. โรคผิวหนังจากภูมิแพ้ (allergic dermatitis) เช่น
ก. แพ้ยาหรือสารที่มาถูกต้องผิวหนัง (contact dermatitis) เช่น ยาย้อมผม แชมพูสระผม สีทาเปลือกตา สบู่ ผงซักฟอก ยาทา ยาพอก ยาอบตัว เป็นต้น

ข. แพ้ยา อาหาร หรือสารที่กิน ฉีด หรือเหน็บเข้าไปในร่างกาย (allergic skin reactions) เช่น ยาเกือบทุกชนิดที่ใช้กิน ฉีด หรือเหน็บ อาจทำให้แพ้ได้ อาหารที่ตนเองแพ้ อาจจะเป็นอาหารทะเล เนื้อสัตว์ ไข่ นม เนย หรืออื่น ๆ หรืออาจจะเป็นสารเคมีอื่น ๆ ที่กินหรือฉีดเข้าสู่ร่างกาย ก็อาจทำให้แพ้ และเกิดเป็นผื่นคัน หรือเป็นลมพิษได้

ค. แพ้ภายในตนเอง เช่น โรคผื่นคันตามกรรมพันธุ์ (atopic dermatitis) ซึ่งทำให้มีอาการคันมาก โดยอาจจะเห็นผื่นที่ผิวหนังก็ได้ แต่จะมีอาการคันมาก จากภายในผิวหนัง ทำให้มีการเกา จนเกิดเป็นแผลทั่วไป คนที่มีเชื้อพันธุ์นี้อาจมีคนในครอบครัวเป็นโรคหอบหืดหรือโรคภูมิแพ้อย่างอื่นได้ โรคเนื้อยืด (connective tissue diseases) หลายชนิดก็ทำให้เกิดอาการคันได้

 

3. โรคผิวหนังจากการระคาย (irritation dermatitis) เช่น

ก. โรคผิวหนังจากการเกา (neurodermatitis) เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการเกา การถู การขูด หรือการระคายผิวหนังส่วนหนึ่งส่วนใดเป็นประจำ จนผิวหนังส่วนนั้นอักแสบ หนาตัวขึ้นเป็นสีดำ และเป็นปื้นหนา และยิ่งเกายิ่งคัน ยิ่งมันมือมากขึ้น จนอาจเกิดแผลเลือดออกได้ เมื่อเป็นนาน ๆ จนเกิดเป็นปื้นหนาสีดำแล้ว ชาวบ้านมักเรียกว่าเป็นโรคเรื้อนกวาง

ข. โรคผิวหนังจากการระคายด้วยสิ่งอื่น เช่น ขนบุ้ง ขนต้นตะบองเพชร ขนของฝักหมามุ่ย ยาที่ทา แล้วระคายผิวหนังมาก ๆ แป้งทาหน้า สีทาหน้า แผลที่กำลังจะหายหรือกำลังตกสะเก็ด เป็นต้น

 

4. โรคผิวหนังจากการติดเชื้อ (infection dermatitis) เช่น โรคอีสุกอีใส (chicken pox) โรคเริม (herpes simplex) โรคงูสวัด (herpes zoster) ฝีพุพอง (impetigo) สิวหัวช้าง (acne vulgaris) กลากเกลื้อน (superficial dermatomycoses) เป็นต้น

 

5. โรคผิวหนังอื่น ๆ เช่น โรคสะเก็ดเงิน (psoriasis) โรคเหงื่อมาก (hyperhidrosis) ผิวหนังชรา (ไฝ ฝ้า ตกกระ) ผิวแห้ง (dry skin) ผิวมันอักเสบ (seborrheic dermatitis) หัวล้าน (alopecia) เป็นต้น

 

ประเภทที่สอง เกิดจากโรคภายในร่างกาย โดยไม่พบความผิดปกติภายในร่างกายโดยไม่พบความผิดปกติที่ผิวหนังในบริเวณที่คัน นอกจากรอยเกาคนป่วยจะรู้สึกคันขึ้นมาตรงบริเวณผิวหนังส่วนหนึ่งส่วนใดที่มีลักษณะปกติ และจะเกาจนเกิดเป็นรอยเกา และอาจเกิดเป็นแผลเลือดออกได้
โรคภายในร่างกายที่อาจจะทำให้เกิดอาการคันได้ มีหลายโรค เช่น

1. โรคพยาธิ (parasitic diseases) เช่น พยาธิในลำไส้ พยาธิในเลือด อาจทำให้เกิดอาการคันตามผิวหนังได้

2. โรคเบาหวาน (diabetes mellitus) โดยเฉพาะโรคเบาหวานที่เป็นมาก และไม่ได้ควบคุมให้ดี อาจทำให้เกิดอาการคันได้ โดยเฉพาะที่แขนและขา

3. โรคดีซ่านจากการอุดกั้นทางเดินน้ำดี (obstructive jaundice) ซึ่งจะทำให้คนไข้ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะเป็นสีเหลืองเข้มหรือสีชาแก่ อุจจาระสีซีดขาว ทำให้เกิดอาการคันอย่างมาก ๆ ได้

4. ภาวะไตล้มหรือไตวาย (renal failure) ก็อาจจะทำให้เกิดอาการคันเรื้อรังได้

5. การตั้งครรภ์ (pregnancy) ในสตรีบางคน ก็ทำให้เกิดอาการคันได้

6. โรคกลัวน้ำหรือโรคพิษสุนัขบ้า (rabies) นอกจากจะทำให้เกิดอาการกลัวน้ำ กระสับกระส่ายทุรนทุราย กลืนน้ำและน้ำลายไม่ได้แล้ว ยังอาจมีอาการคันร่วมด้วยได้

7. โรคมะเร็ง (malignancy) โดยเฉพาะมะเร็งของต่อมน้ำเหลือง (hodgkin’s disease or lymphoma) หรือของเม็ดเลือดขาว (leukemia) จะพบอาการคันร่วมด้วยได้บ่อยกว่ามะเร็งอื่น

8. โรคจิต (psychosis) ก็ทำให้เกิดอาการคันได้
 

ตารางที่ 1 สาเหตุของอาการคัน
ประเภทแรก : โรคผิวหนัง

1. โรคผิวหนังจากแมลงกัดต่อย (insect bites) เช่น ยุงกัด ไรกัด โรคหิด เหา โลน เป็นต้น

2. โรคผิวหนังจากภูมิแพ้ (allergic dermatitis) เช่น
ก. จากการสัมผัส (contact dermatitis) ได้แก่ การแพ้ยาหรือสารที่มาถูกต้องผิวหนัง เช่น ยาสระผม ยาย้อมผม ยาทา ยาพอก ยาอบตัว สบู่ ผงซักฟอก เป็นต้น
ข. จากการกิน ฉีด หรือเหน็บเข้าไปในร่างกาย (allergic skin reactions) เช่น อาหาร ยา หรืออื่น ๆ
ค. จากสาเหตุภายใน เช่น โรคผื่นคันตามกรรมพันธุ์ (atopic dermatitis) โรคเนื้อยืด (connective
tissue diseases)

3. โรคผิวหนังจากการระคาย (irritation dermatitis) เช่น
ก. โรคผิวหนังจากการเกา (neurodermatitis)
ข. โรคผิวหนังจากการระคายด้วยสิ่งอื่น เช่น ขนบุ้ง ขนต้นตะบองเพชร ขนของฝักหมามุ่ย ยาทา แป้งบางชนิด แผลที่กำลังจะหายหรือตกสะเก็ด เป็นต้น

4. โรคผิวหนังจากการติดเชื้อ (infectious dermatitis) เช่น โรคหิด (scabies), เหา, โลน (pediculosis), อีสุกอีใส (chicken pos), เริม (herpes zoster), (impetigo), สิวหัวช้าง (acne vulgaris), กลากเกลื้อน (superficial dermatomycoses) เป็นต้น

5. โรคผิวหนังอื่น ๆ เช่น โรคสะเก็ดเงิน (psoriasis),โรคเหงื่อมาก (hyperhidrosis), ผิวหนังชรา (senile skin changes), ผิวแห้ง (dry skin), ผิวมันอักเสบ (seborrheic dermatitis), ขี้รังแค (itchy scalp), หัวล้าน (alopecia) เป็นต้น

ประการที่สอง : โรคภายใน เช่นโรคเบาหวาน (diabetes mellitus), ดีซ่านจากการอุดกั้นของทางเดินน้ำดี (obstructive jaundice);พยาธิลำไส้ (intestinal parasitism), พยาธิในเลือด (schistosomiasis), โรคกลัวน้ำ (rabies), โรคมะเร็ง (malignancy) เป็นต้น








 

ข้อมูลสื่อ

120-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 120
เมษายน 2532
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์