• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การอาบ อบสมุนไพร

              


สมัยก่อนการแพทย์แผนปัจจุบัน ยังไม่เจริญ การคลอดบุตรใช้หมอตำแยทำการคลอดที่บ้าน ต่อมาเมื่อการแพทย์เจริญขึ้นก็มีผดุงครรภ์ช่วยทำการคลอด เมื่อคลอดแล้วนิยมอยู่กระดานไฟหรือเรียกว่าอยู่ไฟ บางคนใช้การอยู่ชุด 7-10 วัน คนโบราณ เชื่อกันว่ายิ่งอยู่ไฟหรืออยู่ชุดได้นาน ๆ ยิ่งดี เพราะความร้อนที่ได้รับ จะทำให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็ว น้ำคาวปลา ที่คั่งค้างจะถูกขับออกมาได้หมดและเร็วกว่าปกติ และคนที่คลอดถ้าอยู่ไฟ ได้ตามที่คนโบราณกำหนดไว้ จะทำให้คนคนนั้นมีสุขภาพอนามัยดี เมื่อมีอายุมากขึ้น

การอยู่ไฟจะมีการเตรียมกระดานไฟ โบราณจะถือเอาเคล็ดหลาย ๆ อย่าง เช่น ต้องมี “วิธีดับพิษไฟ” ถ้าไม่ทำพิธีดับพิษไฟจะทำให้คนที่นอนอยู่ไฟแพ้มีลูกไฟขึ้นตามตัว ลักษณะเป็นเม็ดพอง ๆ (ความจริงเนื่องจากใส่ไฟร้อนเกินไป ผิวหนังทนไม่ไหวก็พอง) ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้จะยุ่งยากมาก เพราะเม็ดพอง ๆ นั้นจะแตกและติดกับผ้าปูที่นอน หรือเสื้อผ้าที่สวมใส่ ทำให้เกิดความเจ็บปวดทรมาน และถ้าเชื้อโรคเข้า จะทำให้เกิดหนองและเป็นแผลลุกลามมากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้นคนที่คลอดลูก ต้องนอนบนใบตองทั้งทาง เพราะบนใบตองมีนวลสีขาว ๆ จะช่วยให้ลื่น เพื่อทำให้หนังที่พองไม่ถลอกหรือเปิดออก จากนั้นหายามาทาดับพิษไฟต่อไป สมัยก่อนมีความเชื่อถือมากว่า ขณะที่คนคลอดลูกนอนอยู่บนกระดานไฟ ห้ามมิให้คนที่เข้าเยี่ยม พูดหรือถามว่า “ร้อนไหม” คนโบราณถือว่าถ้าพูดแบบนี้แล้วจะทำให้คนอยู่ไฟแพ้ทันที (ตามความเห็นขอผู้เขียน คิดว่าการที่ไม่ให้ผู้เยี่ยมพูดหรือถามเช่นนี้ เนื่องจากว่าคนหลังคลอดไม่ยากที่จะนอนผิงไฟร้อน ๆ เช่นนั้นอยู่แล้วเพราะทรมานมาก ถ้ามีคนไปพูดก็จะทำให้จิตใจว้าวุ่น ไม่อยากอยู่ไฟ อาจจะอยู่ไม่ครบตามกำหนดก็ได้)

การอยู่ไฟจะสุมไฟทั้งกลางวันและกลางคืน น้ำดื่มก็ต้องใช้น้ำร้อน ๆ เพราะเชื่อว่าการดื่มน้ำร้อนจะช่วยกระตุ้นให้มีน้ำนมออกมากยิ่งขึ้น อาหารุแทบทุกชนิดถือว่าแสลง นิยมให้กินแกงเลียงใบกุยช่าย หรือแกงเลียงหัวปลี ปลาแห้ง พริกไทยป่นมาก ๆ ผสมกับเกลือทาหมูนำไปปิ้งไฟ นอกจากนั้นต้องกินยาดองเหล้า เพราะเชื่อกันว่าการกินของร้อน ๆ เช่น ขิงพริกไทย ยาดองเหล้า ช่วยทำให้น้ำนมออกมาก ทั้งยังช่วยขับน้ำคาวปลาและมดลูกจะเข้าอู่ได้เร็วยิ่งขึ้น
การอยู่ไฟเพื่อจุดประสงค์ ทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น น้ำคาวปลาที่คั่งค้างอยู่ในมดลูกจะถูกขับออกได้เร็วและหมด แผลที่ช่องคลอด จะแห้งเร็วขึ้น หลังจากอยู่ไฟมาหลายวัน เหงื่อไหลย้อยที่หมักหมม อยู่ก็ถึงเวลาที่จะต้องอาบน้ำชำระล้างร่างกายให้สะอาด แต่แทนที่จะอาบน้ำเย็นธรรมดาก็ใช้การอาบน้ำร้อน ที่มีสมุนไพรที่เรียกว่า “การเข้ากระโจม”        

      

      

วิธีการเข้ากระโจม

เตรียมกระโจมโดยใช้สุ่มที่ครอบไก่ใบใหญ่ ๆ ใช้คลุมด้วยผ้าห่ม ให้เกือบมิด เปิดช่องข้างบนไว้ให้คนที่จะเข้ากระโจมหายใจบ้าง หรือจะใช้ไม้ปักเป็นสามเส้าทำเหมือนกระโจมอินเดียนแดง ใช้ผ้าห่มหรือเสื่อล้อม หรือใช้กระด้งใบใหญ่ ๆ โดยตรงกลาง กระด้งร้อยเชือกแขวนไว้ให้สูงจากพื้นประมาณ 1 เมตรเศษ ๆ หาผ้าห่ม มาโอบรอบกระด้งให้ชายผ้าห่มลงมากองที่พื้น จากนั้นจัดเตรียมสมุนไพร ที่ต้องการใช้ ถ้าได้สด ๆ จะดีกว่า สมุนไพรแห้ง ต้มด้วยหม้อใบใหญ่ ๆ มีฝาปิดต้มจนเดือด นำหม้อต้มสมุนไพร ที่เดือดแล้วเข้าไปในกระโจมซึ่งมีคนหลังคลอดนั่งรออยู่ จากนั้นค่อย ๆ แง้มฝาหม้อต้มสมุนไพรโรยกสนบูร หรือพิมเสนไปทีละน้อย ๆ ก้มหน้าลงไปที่ปากหม้อเพื่อให้ไอน้ำจากหม้อระเหยเข้าตาและสูดเข้าจมูกและรมใบหน้า เติมการบูรหรือพิมเสนไป จนกว่าจะหมด

ไอน้ำจะอบอยู่ในกระโจมนั้น คนเข้ากระโจมจะรู้สึกร้อน เหงื่อไหล ทำเช่นนี้จนน้ำอุ่น ๆ จึงยกน้ำมาอาบข้างนอก หรือยกกระโจมออก สระผมเหลื่อไคลที่คั่งค้างหมักหมม ออกให้สะอาดด้วยน้ำต้มสมุนไพร หลังจากอาบน้ำแล้วจะรู้สึกว่าตัวเบา กระปรี้กระเปร่า จิตใจสดใสเบิกบาน ในบางแห่งมักเอาเตาอังใส่ที่ตั้งหม้อต้มสมุนไพรเข้าไปในกระโจมด้วย ซึ่งการทำเช่นนี้มีอันตรายมาก ข้อแรกก็คือ ที่คับแคบ ถ้าหม้อต้มน้ำหก จะลวกคนไข้ ข้อที่สอง การเผาไหม้ จะมีแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ออกมา ในกระโจมที่มีพื้นที่แคบและปิดเกือบมิดชิด ถ้าคนไข้สูดดมแก๊สตัวนี้เข้าไปอาจเป็นอันตรายได้ ดังนั้น จึงไม่เหมาะที่จะเอาเตาเข้าไปในกระโจม
 

ข้อมูลสื่อ

120-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 120
เมษายน 2532
ศ.ดร.พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ