• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ภาวะมดลูกแตก

มดลูกแตกเป็นภาวะฉุกเฉินที่เกิดขึ้นได้จากการตั้งครรภ์และการคลอด โดยมีอัตราการเกิดภาวะดังกล่าวน้อยกว่า 1 ต่อ 2,000 รายของหญิงตั้งครรภ์

ภาวะที่ผนังมดลูกแตกหรือปริออก ทำให้ตกเลือดเข้าไปในช่องท้องเป็นจำนวนมาก ทารกในครรภ์และน้ำคร่ำอาจหลุดออกจากมดลูกเข้าไปในช่องท้อง ทารกจะเสียชีวิตในครรภ์

ภาวะเลือดออกมากอาจทำให้มารดาบางรายเสียชีวิตด้วย ส่วนมากมักเกิดขึ้นในระยะเจ็บครรภ์ แต่บางรายซึ่งเป็นส่วนน้อยสามารถเกิดได้ในทุกระยะของการตั้งครรภ์

ก่อนที่มดลูกใกล้จะแตก
จะมีอาการปวดท้องมากจากการที่มดลูกหดรัดตัวแรงมากและนาน บางรายแทบจะไม่มีระยะคลายตัวของมดลูกเลย ระยะที่มดลูกแข็งตัวมากก่อนแตกอาจใช้เวลาเพียงไม่กี่สิบนาที บางรายไม่ถึง 10 นาที

เมื่อมดลูกแตกแล้วจะมีการเสียเลือดและมีเลือดออกในช่องท้อง ถ้าเสียเลือดอย่างรวดเร็วจะมีปัญหากระทบต่อการไหลเวียนโลหิตในร่างกายอย่างเฉียบพลัน ตามมาด้วยอาการแสดงของภาวะช็อก ได้แก่ ชีพจรเต้นเร็ว ความดันต่ำ เนื่องจากผนังมดลูกฉีกขาดหรือมดลูกแตกแล้ว

นอกจากเลือดออกแล้วบรรดาส่วนของร่างกายทารกและส่วนของรกก็มักจะไหลออกจากรอยแยกของผนังมดลูกออกจากโพรงมดลูกเข้าไปในช่องท้อง

ถ้าทำการตรวจด้วยเครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงก็จะพบส่วนของทารกและรกอยู่นอกตัวมดลูก ที่มีขนาดเล็กลงจากเดิมที่มีทารกอยู่ภายใน บางรายที่เป็นส่วนน้อยมากพบว่าทารกและรกยังคงอยู่ภายในโพรงมดลูกเช่นเดิม ทำให้วินิจฉัยภาวะมดลูกแตกได้ยากขึ้น และรอยแตกของผนังมดลูกนั้นไม่สามารถมองเห็นได้จากการตรวจด้วยเครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงดังกล่าว

การที่ทารกหรือรกยังคงอยู่ภายในมดลูกอาจเนื่องจากรอยแยกขนาดเล็กมากหรือมีรกเกาะอยู่ในตำแหน่งนั้นพอดีขวางอยู่ แต่ส่วนใหญ่ถ้าแตกตรงตำแหน่งของรกเกาะมักจะสัมพันธ์กับภาวะรกเกาะต่ำหรือมีภาวะรกฝังตัวที่ผนังมดลูกผิดปกติอันเนื่องมาจากฝังลึกเข้าไปในชั้นลึกอาจถึงชั้นกล้ามเนื้อมดลูกชั้นกลางหรือลึกถึงชั้นนอกสุดจนกระทั่งถึงกับเป็นต้นเหตุของการทะลุของผนังมดลูกเองได้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบน้อยมาก

ส่วนสาเหตุที่พบบ่อยกว่าก็คือความอ่อนแอของผนังมดลูกจากการที่เคยได้รับการผ่าตัดคลอดในครรภ์ก่อนหรือเคยผ่าตัดเนื้องอกที่ตัวมดลูกในอดีตมาก่อน ทำให้ผนังมดลูกไม่สามารถทนต่อการหดรัดตัวเนื่องจากการเจ็บครรภ์คลอดได้ ผนังมดลูกก็จะแตกบริเวณที่เคยเป็นรอยผ่าตัดเดิม จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการที่เคยผ่าตัดคลอดในครรภ์ก่อนหรือเคยมีประวัติผ่าตัดเนื้องอก สูติแพทย์จึงต้องนัดผ่าตัดคลอดในครรภ์ใหม่

อย่างไรก็ตาม มีหญิงตั้งครรภ์บางรายที่ไม่มีประวัติ การผ่าตัดคลอดหรือผ่าตัดมดลูกมาก่อนก็มีภาวะมดลูกแตกได้ในขณะเจ็บครรภ์คลอด

มดลูกอาจมีการหดรัดตัวรุนแรงมากเกินไป อาจเนื่องมาจากทารกในครรภ์มีขนาดโตเมื่อเทียบกับความกว้างของอุ้งเชิงกรานจนไม่สามารถคลอดออกมาได้ แต่ระหว่างนั้นมดลูกหดรัดตัวจนกระทั่งแตกได้เช่นกัน

การมีประวัติขูดมดลูกหรือเคยทำแท้งมาก่อนก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ผนังมดลูกอ่อนแอเสี่ยงต่อมดลูกแตกได้เช่นกัน

การดูแลเฝ้าคลอดอย่างใกล้ชิดตลอดเวลาจะช่วยให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของความผิดปกติของการแข็งตัวของมดลูกได้เร็ว แต่เนื่องจากการสาธารณสุขของบ้านเรายังมีความขาดแคลนอยู่มาก การเฝ้าคลอดและทำคลอดส่วนใหญ่ยังเป็นงานของพยาบาล และต้องดูแลหญิงเจ็บครรภ์คลอดในห้องคลอดพร้อมๆ กันหลายคน ซึ่งมีโอกาสเกิดผลกระทบอันไม่พึงประสงค์ได้บ่อยๆ อาจถึงกับเสียชีวิตทั้งมารดาและทารกได้

ถ้าเจ็บครรภ์ จึงต้องรีบไปโรงพยาบาล แพทย์หรือพยาบาลจะได้มีโอกาสตรวจติดตามอาการ
บางกรณีที่มดลูกแตกก็วินิจฉัยได้ยาก บางครั้งฉุกเฉิน ในเวลาไม่กี่นาที ผู้ป่วยก็ช็อกหมดสติ เสียชีวิตได้ทันที แม้ขณะอยู่ในโรงพยาบาลแล้ว มีเครื่องมือทันสมัย มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอยู่ทันที

เนื่องจากภาวะดังกล่าวมีอัตราตายสูง ผู้ป่วยมีโอกาสรอดได้ ถ้าอัตราการเสียเลือดไม่รุนแรงมาก และในช่วงนาทีวิกฤตินั้นให้เลือดและผ่าตัดได้ทัน แต่มักต้องตัดมดลูกออก เพื่อช่วยชีวิตแม่ ส่วนน้อยเย็บซ่อมเพื่อคงเก็บมดลูกไว้ได้ แต่ทารกมักจะเสียชีวิต

ข้อแนะนำสำหรับหญิงตั้งครรภ์
ควรไปฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆ หรือทันทีที่รู้ว่าตั้งครรภ์ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ถ้ามีประวัติผ่าตัดคลอด หรือผ่าตัดมดลูก หรือมีประวัติที่มีความเสี่ยงอย่างอื่น เช่นประวัติการทำแท้ง ควรวางแผนให้มีการตั้งครรภ์ปีเว้นปี ควรคุมกำเนิดไว้ก่อน

เมื่อมีความผิดปกติให้ไปโรงพยาบาลหรือปรึกษาแพทย์

 

ข้อมูลสื่อ

360-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 360
เมษายน 2552
นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย