• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กสี่ขวบ ถึงห้าขวบ


                                   




 

356. ควรสอน ก.ไก่หรือไม่
เด็กสมัยนี้อ่าน ก.ไก่ และตัวเลขออกตั้งแต่เข้าโรงเรียนประถม บางคนเรียนในโรงเรียนอนุบาลหรือสถานเลี้ยงเด็ก บางคนไม่ได้เรียนในโรงเรียนแต่อ่านออกเอง เพราะสภาพแวดล้อมช่วยให้เป็นเช่นนั้น เด็กอยากดูโทรทัศน์ ต้องการเปลี่ยนช่องเองจึงพยายามจดจำตัวเลขเอาไว้ เด็กที่ชอบดูหนังสือภาพ ก็พยายามอ่านตำอธิบายใต้ภาพ โดยถามแม่บ้าง ถามพี่บ้าง จนกระทั่ง จำตัวหนังสือได้
ความคิดที่ว่าเมื่อเด็กอายุ 4 ขวบแล้วจะต้องเริ่มสอน ก.ไก่ หัดอ่าน หัดเขียนให้ได้นั้น เป็นความคิดที่ผิด ถ้าเราหาหนังสือภาพที่เหมาะสำหรับเด็กวัย 4-5 ขวบให้ เด็กที่ชอบอ่านหนังสือ จะพยายามจดจำตัวเลขและตัวอักษรด้วยตนเอง การหัดให้เด็กวัยนี้เขียนอักษรตามแบบสมุดฝึกหัด เป็นวิธีที่ไม่เหมาะสม เด็กก็ไม่สนุก และไม่อยากจำด้วย โรงเรียนอนุบาลและสถานเลี้ยงเด็กไม่ควรสอนเด็กด้วยวิธีนี้ ให้เด็กได้สนุกกับหนังสือภาพ และอยากจดจำตัวอักษรด้วยตนเองดีกว่า อย่าเน้นการเขียนหนังสือในวัยนี้ การบังคับให้เด็กอ่านและเขียน จะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกเกลียดหนังสือไปเลย เด็กวัยนี้ขอเพียงแต่เล่าสิ่งที่ตนนึกคิดออกมาเป็นคำพูดได้ก็พอแล้ว

 


 


357. เด็กชอบหนังสือ
เด็กที่ชอบหนังสือเราก็ให้หนังสือซึ่งเด็กชอบ ส่วนเด็กที่ไม่ชอบหนังสือเราก็ไม่จำเป็นต้องยัดเยียดให้ เด็กวัย 4 ขวบนี้เราสังเกต รู้แล้วว่าคนไหนชอบหรือไม่ชอบหนังสือ เด็กชอบหนังสือเด็กชอบหนังสือจะกางหนังสือแทบทุกเล่มเพื่อหาดูว่าตรงไหนที่ตนพอจะดูรู้เรื่อง เมื่อพาไปร้านหนังสือแกจะพลิกเล่มโน้นเล่มนี้ ดูอย่างสนใจ เด็กแบบนี้ควรหาหนังสือให้มากเท่าที่แกพอใจ แม่ก็น่าจะหาเวลาว่างอ่านหนังสือให้ฟังเป็นประจำ ลูกจะเติบโตเป็นเด็กที่มีจินตนาการกว้างไกลทีเดียว บางครั้งแกอาจแต่งเรื่องเองแล้วเล่าให้แม่ฟัง และพยายามถามแม่ว่าคำนี้อ่านว่าอะไร หนังสือเล่มไหนที่อ่านบ่อย แกจะจำได้ทั้งเล่มทีเดียว เด็กแบบนี้ไม่ต้องสอน ก.ไก่ ก็อ่านหนังสือง่าย ๆ ออก ตั้งแต่ก่อนเข้าโรงเรียนประถม
เด็กบ้านเราถ้าพ่อแม่ไม่รัก หนังสือก็จะมีโอกาสสัมผัสหนังสือได้น้อยมาก ห้องสมุดสำหรับเด็กซึ่งควรมีทุกเขตหรือทุกมุมถนนยิ่งดี ก็ไม่ทราบว่ามีซ่อนอยู่ที่ไหนบ้าง เพราะไม่เคยได้ยินใครเอ่ยถึง ที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้านมีหนังสือสำหรับเด็กบ้างหรือไม่ เด็กรักหนังสือซึ่งโชคไม่ดีเกิดมาในครอบครัวที่พ่อแม่ยากจน ไม่มีเงินซื้อหนังสือภาพราคาแพงกว่าค่าอาหารหนึ่งมื้อของทั้งครอบครัว ก็หมดโอกาสจะพัฒนาศักยภาพของแกอย่างน่าเสียดายไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ดี เด็กรักหนังสือ บางคนชอบหมกตัวอยู่แต่ในโลกของจินตนาการด้วยความสนุกสนาน จนกระทั่งไม่ค่อยมีโอกาสเล่นกับเพื่อนฝูง ซึ่งอยู่ในโลกของความเป็นจริง โดยเฉพาะเด็กที่แพทย์บอกว่า เป็น “หืด” หรือมีโรคประจำตัวและไม่ค่อยได้ออกไปเล่นนอกบ้าน ถ้าเด็กหมกมุ่นอยู่กับหนังสือมากเกินไป ก็จะกลายเป็น “เด็กผิดปกติ” ประเภทหนึ่ง ควรหาโอกาสให้แกได้เล่นกับเพื่อนเป็นประจำ สำหรับเด็กรักหนังสือ แกจะหาโอกาสอ่านหนังสืออยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น พ่อแม่ควรเน้นความพยายามไปที่การสร้างโอกาสให้แกเล่นกับเพื่อจะดีกว่า เพราะการมีชีวิตโดยไม่รู้จักความสนุกร่วมกับเพื่อนฝูงนั้น น่าสงสาร ยิ่งกว่าการอ่านหนังสือไม่ออกเสียอีก หากซื้อหนังสือให้ลูกแล้ว ลูกพาลไม่ยอมเล่นกับเพื่อน พ่อแม่ควรเอาเงินไปซื้อของเล่นให้ลูกเล่นกับเพื่อน ๆ ดีกว่าซื้อหนังสือ

แม่บางคนเห็นเด็กข้างบ้าน อายุ 4 ขวบอ่านหนังสือออกแล้ว แต่ลูกของตนอายุ 5 ขวบยังอ่านอะไรไม่ออกก็กลุ้มใจ พยายามสอนให้อ่าน ก.ไก่ แต่เด็กก็ไม่ยอมจำ เด็กบางคนไม่ชอบอ่านหนังสือ สอนไปก็ไร้ประโยชน์ มิใช่เด็กไม่มีความสามารถในการเรียนรู้ เพียงแต่แกสนใจค้นหาความสนุกในโลกของความเป็นจริงร่วมกับเพื่อนฝูงมากกว่าในโลกจินตนาการของหนังสือ เด็กแบบนี้ไม่ควรบังคับให้อ่านหนังสือ รอไว้เรียนในโรงเรียนก็ได้ ปล่อยให้แกสนุกสนานกับเพื่อนดีกว่า เด็กบางคนสนใจหนังสือภาพเป็นจริง ซึ่งไม่ใช่นิทาน เช่น ภาพรถยนต์ เครื่องบิน หรือสัตว์ต่าง ๆ เมื่อได้หนังสือถูกใจแกจึงจะสนใจถามว่า อักษรไต้ภาพนั้นเขาเขียนว่าอะไร

 



 

358. ทดสอบสติปัญญา (I.Q.)
โรงเรียนอนุบาลมีชื่อบางแห่ง ซึ่งมีเด็กเข้าสมัครเรียนมาก จะสอบ เด็กด้วยการทดสอบสติปัญญา อันที่จริงการตรวจวัดไอคิวได้เริ่มต้นในโรงเรียนประถมของประเทศฝรั่งเศส เพื่อตรวจหาเด็กที่ปัญญาอ่อนผิดปกติ มิใช่เพื่อตรวจหามนุษย์ปัญญาเลิศ สติปัญญาความสามารถของมนุษย์คืออะไร วัดได้จริงหรือไม่ ยังไม่มีหลักฐานยืนยันอย่างแน่ชัด คนเรามีความสามารถติดตัวมาแต่กำเนิดอย่างไม่มีขอบเขต ไม่สามารถวัดได้ด้วยคำถามเพียงไม่กี่คำถาม
ผลการตรวจวัดไอคิวจะออกมาเป็นตัวเลข ทำให้ดูเสมือนเป็นตัวเลขที่แสดงค่าของสมองคน คนเราแต่ละคนมีค่าเหนือคณานับ การที่คนนี้มีค่า คนนั้นไม่มีค่า เป็นความคิดที่ผิด แม่ของเด็กจะรู้ดีว่า การทดสอบไอคิวไม่ถูกต้องอย่างไร เพราะบางครั้งลูกไม่ยอมตอบคำถาม ทั้ง ๆ ที่รู้คำตอบ เนื่องจากผู้ถามเป็นผู้ใหญ่ที่แกไม่รู้จัก ผู้สอบก็ให้คะแนน ตามคำตอบของเด็กเท่านั้น อีกประการหนึ่ง ข้อสอบสำหรับทดสอบสติปัญญานี้ ส่วนใหญ่คล้ายคลึงกัน หากพ่อแม่ขยันหาซื้อคู่มือหรือรวมข้อสอบเข้า “อนุบาลดัง” มาให้ลูก ทำบ่อย ๆ หรือส่งเด็กไป “ติวเข้ม” ตามโรงเรียนกวดวิชาเข้าอนุบาล เด็กย่อมทำข้อสอบเก่งกว่าเด็กทั่วไปเป็นธรรมดา
 

ข้อมูลสื่อ

120-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 120
เมษายน 2532