• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

พาหะ

“แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ในสถานบริการสาธารณสุข จะมีการใช้ภาษาที่เข้าใจในหมู่หมอด้วยกันเอง หากท่านได้ยินได้เห็นภาษาหมอคำใดแล้วไม่เข้าใจ ก็ขอเชิญเขียนจดหมายถามมา ยังคอลัมน์ได้เลยครับ”

 

 

ในเวลานี้ไปไหนมาไหน มักได้ยินผู้คนพูดกันถึงเรื่องของตับอักเสบจากไวรัสบี

“ที่บริษัทเขาตรวจเลือดพนักงานทุกคน พบว่ามีคนเป็นโรคนี้กันหลายคน”

“วันก่อนพ่อบ้านอยู่ดี ๆ ไปชมนิทรรศการให้หมอเขาตรวจเลือด ก็พบว่าเป็นไวรัสบี แบบนี้จะเป็นอะไรมากไหม และคนในบ้านต้องฉีดวัคซีนกันทุกคนไหมคะ?”

และแพทย์ก็ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า “ในเวลานี้คนไทยเป็นพาหะของไวรัสบีถึง 5 ล้านคนอย่างน้อย ๆ”

ความตื่นตูมในเรื่องนี้ได้สร้างความสับสนและความวิตกกังวลแก่ผู้คนไม่น้อย สำหรับเรื่องตับอักเสบจากไวรัสบีนี้ หมอชาวบ้านคงจะได้นำเสนอเรื่องราวรายละเอียดทุกแง่ทุกมุมในเร็ว ๆ นี้
ในที่นี้ผู้เขียนขอเพียงพูดจาภาษาหมอเกี่ยวกับค่า “พาหะ” ให้เป็นที่กระจ่างชัดสักนิด

พาหะ แปลตามพจนานุกรมว่า “ตัวนำ เช่น ยุงก้นปล่องเป็นพาหะของไข้มาลาเรีย”
ในภาษาหมอ คำว่า พาหะ ก็หมายถึง ตัวนำเชื้อ หรือตัวนำโรค ซึ่งอาจเป็นสัตว์หรือคนก็ได้
สัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค ที่เราเรียนกันในวิชาสุขศึกษาในชั้นประถม ก็มียุงกับแมลงวันเป็นสำคัญ
ยุงนำโรคต่าง ๆ เช่น ไข้มาลาเรีย ไข้เลือดออก ไข้สมองอักเสบ โรคเท้าช้าง เป็นต้น

แมลงวัน นำเชื้อบิด ไทฟอยด์ อหิวาต์ ตับอักเสบ
สัตว์ที่เป็นพาหะ ภาษาหมอ เรียกว่า vector (อ่านว่า เว้กเตอร์)
ส่วนคนที่เป็นพาหะ ภาษาหมอ เรียกว่า carrier (อ่านว่า แคริเอ้อร์) แปลว่า ผู้ถือ ผู้ขนส่ง หรือผู้นำเชื้อโรคนั่นเอง
        
มีข้อที่น่าสังเกตก็คือ คน ๆ นั้น ถึงแม้จะมีเชื้อโรคอยู่ในร่างกาย แต่ก็ไม่ได้ป่วยเป็นโรคแต่อย่างใด คือ ยังคงแข็งแรงเช่นปกติ ถ้าไม่ตรวจเลือด ตรวจเสมหะ ปัสสาวะ หรืออุจจาระ ก็ไม่มีทางรู้ว่าเขาเป็นตัวนำเชื้อโรคที่คอยแพร่กระจาย จ่ายแจกเชื้อให้คนรอบข้างอยู่ตลอดเวลา เหตุที่มีเชื้อโรคอยู่ในร่างกาย แต่ไม่เป็นโรค ก็เนื่องจากคน ๆ นั้น ยังมีภูมิต้านทานโรคดีพอประมาณที่สามารถควบคุมมิให้เชื้อโรคแพร่พันธุ์ในร่างกายจนเป็นโรค แต่ภูมิต้านทานที่มีอยู่นั้นยังไม่แข็งแรงพอที่จะทำลายเชื้อให้หมดไปได้ คือ อยู่ในลักษณะก้ำกึ่งจะเป็นโรคก็ไม่เป็นจะปลอดจากเชื้อก็ไม่ใช่คนที่เป็นพาหะนำโรค ในที่สุดร่างกายจะแข็งแรงจนสามารถขจัดเชื้อได้หมด ซึ่งอาจใช้เวลาหลาย ๆ ปี มีเพียงส่วนน้อยที่เมื่อร่างกายอ่อนแอลงก็จะกลายเป็นโรคในที่สุด เชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายคน แล้วทำให้คนนั้นเป็นพาหะนำโรคมีอยู่มากมายหลายชนิด แต่ที่ดัง ๆ ในเวลานี้ก็ได้แก่ เชื้อไวรัสเอดส์ กับเชื้อไวรัสบี (ที่ทำให้เกิดโรคตับอักเสบ) ซึ่งทั้ง 2 ตัวนี้ได้สร้างความหวาดผวาให้กับผู้คนไปทั่วโลก เพราะโรคเอดส์เป็นแล้วมีหวังตาย ส่วนไวรัสบี ถ้าทำให้เป็นโรคตับอักเสบแล้ว อาจทำให้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่ง (แม้จะไม่มากมายนัก) กลายเป็นโรคเรื้อรัง แล้วในที่สุดบางคนอาจกลายเป็นโรคตับแข็งหรือมะเร็งตับ ซึ่งยากแก่การเยียวยา
ดังนั้น เมื่อถูกตรวจพบว่ามีเชื้อไวรัสบีในเลือด คน ๆ นั้นรวมทั้งญาติพี่น้องก็สะดุ้งผวา คิดว่าเป็นโรคเสียแล้ว จริง ๆ แล้ว การมีเชื้อไวรัสบี โดยที่ร่างกายแข็งแรงนั้นเป็นเพียงพาหะของโรคที่มีอันตรายต่อผู้อื่นเท่านั้น ยังไม่ได้กลายเป็นโรค และในที่สุดเชื้อก็จะหายไปเองเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่น่าประหวั่นพรั่นพรึงแต่อย่างไร

ถือเสียว่าเชื้อนี้เป็นสิ่งเตือนสติให้ผู้ที่เป็นพาหะคอยหมั่นรักษาสุขภาพของตัวเอง ในเรื่องการพักผ่อนหย่อนใจ อาหารการกิน การออกกำลังกาย การบริหารจิต และการหลีกเลี่ยงจากสิ่งเสพติดให้โทษ
ดีกว่าปล่อยชีวิตอยู่ในความประมาทมัวเมา
นี่แหละคือข้อดีของการเป็นพาหะแหละครับ!

ข้อมูลสื่อ

112-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 112
สิงหาคม 2531
พูดจาภาษาหมอ
ภาษิต ประชาเวช