• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รูมาติสซั่ม/รูมาตอยด์/รูมาติก

แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ในสถานบริการสาธารณสุข จะมีการใช้ภาษาที่เข้าใจในหมู่หมอด้วยกันเอง หากท่านได้ยินได้เห็นภาษาหมอคำใดแล้วไม่เข้าใจ ก็ขอเชิญเขียนจดหมายถามมา ยังคอลัมน์ได้เลยครับ”


“คุณหมอค่ะ ดิฉันมีอาการปวดที่หัวเข่ามาหลายเดือนแล้ว ใช่เป็นโรคมาติสซั่มหรือเปล่าคะ?”

“คุณหมอครับ ว่ากันว่าโรครูมาติสซั่มเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด จริงหรือเปล่าครับ?”


นี่คือคำถามที่หมอเรามักจะได้ยินได้ฟังซ้ำ ๆ ซาก ๆ อยู่เรื่อยมา บางครั้งไปถามหมอรุ่นใหม่เข้า ก็อาจได้รับคำตอบว่า “ไม่รู้ซี ที่เรียนมาไม่เคยเห็นมีโรคนี้กล่าวไว้ในตำราเลย อาจารย์ก็ไม่เคยเสียด้วยซีครับ”


คำว่า “รูมาติสซั่ม” เป็นศัพท์โบราณที่แพทย์เคยใช้เรียกกัน เป็นคำทับศัพท์มาจากภาษาอังกฤษว่า “rheumatism” (ที่ถูกควรออกเสียงว่า “รูมาติสซั่ม” มากกว่า “รูมาติสซั่ม”)
ความหมายประการแรกก็คือ อาการปวดตามข้อหรือกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็น จะด้วยสาเหตุอะไรก็ได้ทั้งสิ้น ก็เรียกรวม ๆ ว่า “รูมาติสซั่ม” ไปหมด ไม่ได้เจาะจงถึงโรคหนึ่งโรคใดโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นข้อแพลง ข้ออักเสบ ยอกกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นอักเสบ ก็จัดว่าเป็น “โรครูมาติสซั่ม” ได้หมด ดังนั้น คำ ๆ นี้จึงมีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า “ปวดหัว” “ตัวร้อน” ซึ่งเพียงแสดงถึงลักษณะอาการของโรคต่าง ๆ ไม่ได้หมายถึงโรคนั้นโรคนี้แต่อย่างใด
 

  


แต่เนื่องจากอาการปวดข้อมักจะมีสาเหตุมาจากโรคข้ออักเสบเรื้อรังอยู่หลายชนิด ที่พบบ่อยก็คือ โรคข้อเสื่อม ซึ่งเกิดจากผิวข้อต่อสึกกร่อนตามวัย พบมากที่ข้อต่อและข้อกระดูกสันหลัง ซึ่งภาษาชาวบ้านนิยมเรียกว่า “โรคไขข้อแห้ง” โรคนี้ถือเป็นภาวะเสื่อม สลายตามสังขารตามวัย จึงพบว่าเป็นกันมากในหมู่คนสูงอายุ และยังไม่มียาที่ใช้รักษาโดยตรง ดีไม่ดีคนไข้นิยมซื้อยาแก้ปวดกินเอง จนกลายเป็นโรคกระเพาะหรือกระเพาะเป็นแผลทะลุ เสี่ยงต่ออันตรายไปเสียฉิบ

โรคข้ออักเสบเรื้อรังอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า ข้ออักเสบรูมาดอยด์ (rheumatoid arthritis) เกิดจากการอักเสบของเนื้อเยื่อรอบ ๆ ข้อต่อกระดูก ตามนิ้วมือ นิ้วเท้า และข้อสันหลัง ทำให้มีอาการปวดตามข้อต่าง ๆ พร้อมกัน ทั่วร่างกาย และเป็นเรื้อรังตลอดชีวิตเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีโรคอื่น ๆ อีกมากมาย ที่อาจจะคุ้นตาผู้อ่านอยู่บ้าง ก็เช่น โรคเกาต์ (gout) ที่เกี่ยวข้องกับการมีกรดยูริกในร่างกายมากเกินไป, โรคแอสแอลอี (SLE) ที่เกี่ยวข้องกับความแปรปรวนของภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งจะขอไม่กล่าวถึงรายละเอียดในที่นี้ ซึ่งล้วนแต่มีอาการปวดข้อเรื้อรังทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้เมื่อพูดถึงโรคปวดข้อเรื้อรัง ก็เลยตีขลุมเอาว่าเป็น “รูมาติสซั่ม” เมื่อนึกถึง “รูมาติสซั่ม” ก็พาลคิดว่าเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด ความจริงอาการปวดข้อปวดเส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อ (อาการรูมาติสซั่ม) จะหายขาดหรือไม่ก็ย่อมสุดแล้วแต่สาเหตุที่เป็น ที่หายขาดก็มี ที่เรื้อรังก็มี  นี่คือความหมายของโรครูมาติสซั่มในประการแรก
 

  

ส่วนความหมายของรูมาติสซั่ม ในประการที่สอง หมายถึง โรคจำเพาะชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากการอาการคออักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (ทำให้ต่อมทอนซิลอักเสบเป็นหนอง) แล้วมีอาการลงข้อ (ข้ออักเสบบวม) และลงหัวใจ (หัวใจอักเสบ ลิ้นหัวใจรั่ว ลิ้นหัวใจตีบ) ที่เรียกกันว่าไข้รูมาติก (rheumatic fever) ซึ่งมักจะพบในเด็กวัย 5-15 ปี เมื่อปล่อยทิ้งไว้ ในที่สุดจะกลายเป็นโรคลิ้นหัวใจพิการ (รั่วหรือตีบ) ที่เรียกว่า “โรคหัวใจรูมาติก” โรคดังกล่าว ในสมัยก่อนยังไม่มียารักษา คนไข้มักจะเป็นข้ออักเสบเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ปัจจุบันเราสามารถรักษาด้วยยาเพนิซิลลิน โรคนี้จึงค่อย ๆ หมดความหมายไปดังนั้น คำว่า รูมาติสซั่ม จึงนิยมใช้ในความหมายกว้าง ๆ ในประการที่หนึ่งมากกว่าประการที่สอง


สรุปก็คือ
รูมาติสซั่ม หมายถึง อาการปวดตามข้อ กล้ามเนื้อ หรือเส้นเอ็น ซึ่งอาจมีสาเหตุได้มากมาย ควรค้นหาสาเหตุ แล้วรักษาตามสาเหตุ ที่หายก็มี ที่เรื้อรังก็มี ก็เท่านั้นแหละครับ!
 

ข้อมูลสื่อ

113-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 113
กันยายน 2531
พูดจาภาษาหมอ
ภาษิต ประชาเวช