• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ทำไมหลังจึงเบี้ยวได้


ปัจจุบัน ปัญหาหลังเบี้ยวในวัยหนุ่มสาวได้ทวีความรุนแรงขึ้น อย่างน่าตกใจ จากการสำรวจตามโรงเรียนประถมและมัธยม พบว่ามีนักเรียนหลังเบี้ยวเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 10 และส่วนใหญ่จะเป็นเด็กหญิงที่มีอายุ 17 ปีขึ้นไปและมาด้วยอาการปวดหลัง
บางรายก็มาด้วยความไม่สบายใจ เพราะช่างตัดเสื้อหรือตนเองพบว่าไหล่ทั้ง 2 ข้างไม่ได้อยู่ในระดับเดียวกัน ด้านหลังมีส่วนนูนขึ้นข้างหนึ่ง และมีบ้างที่เหนื่อยง่าย
 

                            

ทำไมหลังจึงเบี้ยวได้

ลองมาดูโครงสร้างของหลัง อาจช่วยให้เข้าใจว่าทำไมหลังจึงเบี้ยว และจะป้องกันอย่างไร
หลังที่กล่าวถึงนี้ ประกอบด้วย หลังส่วนบนและหลังส่วนล่าง (ไม่รวมคอซึ่งอยู่เหนือบ่าขึ้นไป) ทั้งคอ และหลัง จะมีกระดูกสันหลังเรียงกันเป็นแนวตรงคล้ายกระดูกงู ในวิวัฒนาการของสัตว์นั้น มนุษย์เป็นสัตว์ชนิดเดียวที่หลังจะตั้งอยู่ในท่าตรงตลอดเวลาที่เราตื่นนอน ไม่ว่าจะนั่ง ยืน เดิน วิ่ง หรือทำงาน
ในสัตว์สี่เท้าชนิดอื่น ๆ นั้น หลังจะขนานกับพื้นดิน ไม่เรียงตัวเป็นแท่งยาวเหมือนมนุษย์

กระดูกสันหลังมีทั้งหมด 27-28 ชิ้น ลองนึกดูว่าถ้าเราต้องนำก้อนไม้สี่เหลี่ยมมาเรียงตั้งขึ้นไป 27 ชิ้น โอกาสที่ก้อนไม้จะล้มลงมาหรือบิดไปมามีมากทีเดียว และถ้ายังต้องมีหมอนรองกระดูกอยู่ใต้กระดูกสันหลังแต่ละชิ้นอีก ยิ่งทำให้แท่งกระดูกสันหลังยากที่จะรักษาความเป็นแท่งตรงได้ และนั่นความหมายว่า แท่งกระดูกสันหลังถ้าไม่เอียงไปข้างหน้า (หลังค่อม) ก็จะเอียงมาข้างหลัง (หลังแอ่น) และถ้าเอียงไปด้านข้าง ย่อมเกิดภาวะหลังเบี้ยวขึ้น

ความจริงแล้วแท่งกระดูกสันหลังในคนปกติ ถ้ามองดูทางด้านข้างจะไม่เป็นแท่งตรงอย่างที่คิดไว้เลย ทั้งนี้ เนื่องจากเมื่อทารกอยู่ในครรภ์ของมารดาจะอยู่ในท่างอตัว ดังนั้นกระดูกสันหลังในขณะนั้นจึงมีลักษณะเป็นรูปโค้งคล้ายกับอักษรซี (C) ของภาษาอังกฤษ
เมื่อคลอดออกมา ทารกจะอยู่ในท่าคว่ำ เงยหน้าและชูศีรษะขึ้นในเวลาอันรวดเร็วในเดือนแรก ซึ่งจะทำให้รูปร่างของกระดูกสันหลังเปลี่ยนจากตัววีมาเป็นตัวเอสในแนวนอน ( S )
และเมื่อลุกขึ้นนั่งหรือยืนได้แล้ว กระดูกสันหลังก็จะโค้งเป็น 4 โค้ง คือ ที่กระดูกคอและกระดูกบั้นเอว จะโค้งไปข้างหน้า (แอ่นมาข้างหลัง) กระดูกช่วงอกและกระดูกกระเบนเหน็บจะโค้งมาด้านหลัง (แอ่นไปข้างหน้า)

การที่จะรักษาส่วนโค้งต่าง ๆ นี้ให้คงเดิมจึงลำบากมาก เพราะถ้ามองจากด้านหน้าและด้านหลัง แท่งกระดูกสันหลังต้องเป็นแนวตรง มิฉะนั้นจะเกิดภาวะหลังเบี้ยว คือ เอียงไปข้างซ้าย เอียงมาข้างขวา หรือบางระดับของแท่งกระดูกสันหลังเอียงมาข้างซ้าย (โค้งไปข้างขวา) และบางระดับเอียงไปข้างขวา (โค้งมาข้างซ้าย) หลังจึงบิดไปเบี้ยวมา
สาเหตุที่มีส่วนโค้งซ้ายบ้างขวาบ้าง เพราะร่างกายพยายามปรับตัวให้อยู่ในแนวตรง ดังนั้นถ้าเกิดภาวะเอียงไปข้างหนึ่งข้างใด ร่างกายก็จะพยายามปรับหาอีกส่วนหนึ่งเอียงไปข้างตรงข้ามเพื่อให้เกิดความสมดุล ทำให้เสมือนว่าหลังตรง

การที่ส่วนของกระดูกสันหลังเอียงตัวไปนั้น ทำให้เกิดการกดทับถูกเส้นประสาทที่ออกมาจากกระดูกสันหลังชิ้นนั้น และเกิดอาการเจ็บปวดขึ้น แต่ร่างกายพยายามที่จะลดการกดทับของเส้นประสาท โดยกล้ามเนื้อที่ยึดอยู่อีกข้างหนึ่งต้องหดตัวเหนี่ยวรั้งทำงานอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดความเมื่อยล้า เมื่อต้องนั่งหรือยืนนานๆ การที่แท่งกระดูกสันหลังเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง ยังทำให้เกิดปัญหากระดูกสันหลังหมุนออกจากที่เดิมด้วย โดยเฉพาะกระดูกซี่โครงที่ต่อกับกระดูกหลังสันหลังแต่ละชิ้น จะหมุนบิดตัวจนเห็นเป็นก้อนนูนขึ้นมา ทำให้ตกใจว่าเป็นเนื้องอก แต่แท้ที่จริงเป็นกระดูกซี่โครงที่ถูกหมุนมาด้านหลัง หรือกระดูกสะบักซึ่งวางอยู่บนกระดูกซี่โครงตอนบนถูกดันให้สูงกว่าหลังอีกข้างหนึ่ง
ถ้าปล่อยให้หลังเบี้ยวมากขึ้นเรื่อย ๆ การบิดตัวของกระดูกซี่โครง และกระดูกสันหลังจำทำให้ช่องว่างภายในช่องปอดลดลง เป็นผลให้ปอดขยายตัวไม่เต็มที่ เมื่อหายใจเอาอากาศเข้าไปในปอดได้น้อย ก็จะเกิดอาการเหนื่อยง่ายและอ่อนเพลียตามมา

เมื่อเข้าใจถึงสภาพของหลังว่ามีโอกาสเบี้ยวได้ง่ายมาก การระมัดระวังในบุคลิกของตนเองให้พลังอยู่ในท่าตรงตลอดเวลาจึงมีความสำคัญมากในการป้องกันไม่ให้หลังเบี้ยว หรือไม่ให้เบี้ยวมากขึ้น

 

ข้อมูลสื่อ

113-033
นิตยสารหมอชาวบ้าน 113
กันยายน 2531
บุคลิกภาพ
รศ.ประโยชน์ บุญสินสุข